สวิตเซอร์แลนด์ – หมู่บ้านไฮดี้ แบบฉบับของการอยู่แบบพอเพียง

ซอกซอนตะลอนไป    (15 พฤศจิกายน 2556)

สวิตเซอร์แลนด์  – หมู่บ้านไฮดี้  แบบฉบับของการอยู่แบบพอเพียง

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               จากซูริค  หรือ เมืองลูเซิร์น ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ถ้าเดินทางลงใต้ประมาณ 1 ชั่วโมง   ก็จะถึงหมู่บ้านเล็กๆที่ยังคงรักษาธรรมชาติเอาไว้อย่างดี  ที่ผมอยากแนะนำให้ไปเที่ยวชมกัน

               หมู่บ้านนี้มีชื่อว่า  บาด รากาซ(BAD RAGAZ)  

               เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในพื้นที่ของเทือกเขาแอลป์ เสียเป็นส่วนใหญ่  ดังนั้น  สวิสฯจึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งน้ำแร่ใต้ดิน     รวมทั้งเมือง บาด รากาซ ด้วย

               อันที่จริง   เมืองน้ำแร่ของยุโรปมิใช่มีเพียงแค่หมู่บ้าน บาด รากาซ ของสวิสฯ เท่านั้น    แต่กระจายตัวไปทั่วทั้งภูมิภาคเทือกเขาแอลป์   ไม่ว่าจะเป็น  ประเทศสาธารณรัฐเชก  เช่น คาโรเว วาเร , เมืองมาเรียนสเก้  ลาสเน , เยอรมัน ในเมือง บาเดน บาเดน  หรือ  ฝรั่งเศส  ในเมือง  เอเวียง    

               ชาวยุโรปในอดีต   สนใจศึกษาเกี่ยวกับน้ำแร่ธรรมชาติเพื่อใช้ในการรักษาโรคมาช้านานแล้ว   จนกระทั่งสามารถวิเคราะห์น้ำแร่ออกมาในทางวิทยาศาสตร์ได้ในราวร้อยกว่าปีเศษ 


(บ่อน้ำแร่ธรรมชาติ ของไฮดี้) 

               ทำให้เมืองน้ำแร่ต่างๆในยุโรปคลาคล่ำไปด้วยบรรดาผู้มีอันจะกิน  และ พวกไฮโซที่หลั่งไหลกันมาเพื่อรักษาโรค 

               หมู่บ้านบาด รากาซ ก็เช่นกัน   หากใครมีโอกาสไปที่หมู่บ้านนี้   อย่าลืมลองไปใช้บริการ สปาน้ำแร่ธรรมชาติดูนะครับ   แต่สนนราคาค่อนข้างแพงตามเศรษฐกิจของประเทศ


(ป้ายบอกทางเดินไปพิพิทภัณฑ์ไฮดี้)

               แต่วันนี้   ผมจะพาท่านผู้อ่านไปที่หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ บาด รากาซ ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะในหมู่ของนักอ่านหนังสือ   หมู่บ้านที่ว่านี้ก็คือ  มายเอนเฟลด์(MAIENFELD)  

               แต่คนส่วนใหญ่จะรู้จักหมู่บ้านนี้กันในนาม  ไฮดี้แลนด์   เพราะฉากของนิยายเรื่อง “ไฮดี้” (HEIDI) อันเป็นนิยายที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนขึ้นสำหรับเด็ก  แต่ผู้ใหญ่ก็นิยมอ่านด้วย 


(รายละเอียดที่แสดงไว้ในพิพิทภัณฑ์ รวมทั้งหนังสือแปล “ไฮดี้” จากทั่วโลก)

ทำให้หนังสือ “ไฮดี้”  เป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือขายดีที่สุดตลอดกาล  และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ภาษา  และ ได้รับการถ่ายทอดเป็นทั้งภาพยนตร์และโทรทัศน์มากมาย


(ป้ายโฆษณาหนัง ไฮดี้ กับ ปีเตอร์)

               ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ก็คือ โยฮันนา สปิรี (JOHANNA SPYRI)  ซึ่งเขียนเป็นภาษาเยอรมันแบบสวิสฯในปีค.ศ. 1880 หรือ กว่า 130 ปีที่แล้ว

               นิยายเรื่องนี้ผูกเรื่องให้ ไฮดี้ เป็นลูกกำพร้า  บิดาและมารดาเสียชีวิตตั้งแต่เธออายุ 5 ขวบ   หลังจากนั้น  ไฮดี้ ก็อยู่ในความดูแลของน้าสาว ที่ชื่อ  ดีท

               ด้วยเหตุผลบางประการ   ดีท นำ ไฮดี้ไปฝากอาศัยอยู่กับชายชรา ซึ่งมีฐานะเป็นปู่ของไฮดี้ ที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน มายเอ็นเฟลด์  ในเขตนอกหมู่บ้านออกไปใกล้เนินเขา   ซึ่งเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์  ที่ชาวสวิสเรียกว่า  อาลม์(ALM)  

               แรกๆ   ปู่ของไฮดี้ก็ไม่ค่อยจะยินดีต้อนรับเธอนัก   แต่หลังจากนั้น   ทั้งคู่ก็เข้ากันได้ดี   ไฮดี้  มีเพื่อนเล่นเป็นเด็กชายชื่อ ปีเตอร์  ซึ่งเด็กเลี้ยงแพะ ทั้งคู่สนิทสนมกันมาก


(ร้านขายของที่ระลึกที่พิพิทภัณฑ์ไฮดี้)

               หลังจาก 3 ปีผ่านไป   ดีท ก็มารับไฮดี้  ไปอยู่ในเยอรมัน   และต้องไปอยู่ในบ้านของ คลาร่า เด็กหญิงที่มีอายุมากกว่า ไฮดี้ 4 ปี  และต้องอยู่ในภาวะบีบคั้นจากแม่บ้านของ คลาร่า  ที่เข้มงวดกับเธอมาก

               ด้วยความที่เคยมีชีวิตอิสระแบบท้องทุ่ง  มาเจอกับการบีบคั้นในเมือง   ทำให้ไฮดี้  เริ่มป่วยทางจิต จนกระทั่งนอนละเมอลุกขึ้นมาเดิน 

               ในที่สุด   หมอก็ให้ไฮดี้ กลับไปอยู่กับปู่ของเธอเช่นเดิม   เพื่อหวังให้ไฮดี้  เปลี่ยนบรรยากาศการใช้ชีวิต 

               หลังจากนั้น   หนังสือก็พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ไฮดี้  ปีเตอร์ และ  คลาร่า   ท่านผู้อ่านที่สนใจก็สามารถหาอ่านได้ตามห้องสมุด   คิดว่าไม่มีจำหน่ายแล้วครับ

               สิ่งสำคัญของการไปเยี่ยมชมพิพิทภัณฑ์ไฮดี้  ก็คือ  การได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตการต่อสู้ของชาวสวิตเซอร์แลนด์   ที่กว่าจะมาประสบความสำเร็จ  เป็นชาติที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอยู่ท่ามกลางชาติต่างๆที่เสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจของยุโรป

               เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ   ไว้ในโอกาสหน้าผมจะนำเรื่องราวการต่อสู้ของชาวสวิสฯมาเล่าให้ฟังครับ


(ส่วนที่เป็นธรรมชาติที่เด็กๆมักจะชอบเพราะมีทั้งแพะ แกะ และ วัว)

               ชีวิตในยุคของไฮดี้  หรือ  ก่อนหน้านั้น  ชาวสวิสฯจะต้องทำงานประมาณ 8 – 9 เดือนต่อปี เพื่อเก็บสะสมเสบียงอาหารให้อยู่ได้ตลอดเวลาที่เหลืออีก 4 เดือนข้างหน้า    เพราะในช่วงเวลานั้น   งานเกษตรกรรมหรือ กสิกรรมแทบจะทำไมได้เลย

               ช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปีที่เป็นฤดูหนาว   ก็ใช่ว่าเขาจะไปก๊งเหล้า  ตีไก่  กัดปลา แบบเกษตรกรบ้านเรา  แต่เขาต้องทำงานช่างภายในบ้าน  เช่น  ซ่อมแซมโต๊ะ  เก้าอี้   ทำของเล่นที่ทำด้วยไม้ให้ลูกๆ  ที่ตลอดช่วงฤดูร้อนไม่มีเวลาจะทำให้ 


(ป้ายบอกทางเดินสำหรับนักเดิน ไฮกิ้ง)

               ดังนั้น   ชาวสวิสฯ จึงต้องวางแผนการใช้ชีวิตอย่างละเอียดรอบคอบ   และ อาจจะต้องถึงกับทำบัญชี  ตามแบบโครงการพระราชดำริของในหลวงของเราก็ได้

               ผมพบคนจากหลากหลายเชื้อชาติที่พิพิทภัณฑ์ไฮดี้  ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นชาวสวิส  ชาวยุโรปประเทศอื่นๆ  ชาวเอเชีย   โดยเฉพาะญี่ปุ่น    แต่ไม่เคยพบคนไทยเลยแม้แต่ครั้งเดียว

               เพราะคนไทยมักจะอยู่ที่ร้านนาฬิกา และ ร้านหลุยส์ วิตอง

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *