เหนือจุงฟราว ยังมีอาบัง

ซอกซอนตะลอนไป    (8 พฤศจิกายน 2556)

เหนือจุงฟราว   ยังมีอาบัง

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               ก่อนนี้   การไปเที่ยวยุโรป   เราจะไม่ค่อยเห็นชาวอาหรับ  หรือ  ชาวอินเดียสักเท่าไหร่นัก   ทั้งนี้เพราะปัญหาเรื่องการกินการอยู่ของคนเหล่านี้


(ทิวทัศน์เหนือทะเลสาบเมืองลูเซิร์น  ถ้าไม่บอกว่าเป็น สวิตเซอร์แลนด์  อาจคิดว่าเป็นประเทศอาหรับ)

               เช่น   คนอินเดียส่วนใหญ่จะทานอาหารมังสะวิรัต  และ  ต้องเป็นมังสะวิรัติแบบมีเครื่องแกงตามสไตล์ของชาวอินเดีย   ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในยุโรป

               คนขับรถโค้ชชาวยุโรปเคยเล่าให้ฟังว่า   เมื่อก่อนคนอินเดียที่จะไปยุโรปจะต้องมีฐานะดีเท่านั้น   เพราะนอกจากจะต้องเดินทางโดยรถโค้ชเหมือนทัวร์ธรรมดาทั่วไปแล้ว   ยังจะต้องจ้างเหมารถบ้านอีกคันวิ่งตามหลังรถโค้ชด้วย

               ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า   เอารถบ้านมาทำอะไร

               รถบ้านคันนั้นเอาไว้ทำครัวครับ 

               หมายความว่า   นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะต้องว่าจ้างคนครัวโดยตรงมาจากประเทศอินเดียเลย   เพื่อมีหน้าที่ในการทำอาหารให้พวกเขาทานเท่านั้น

               เริ่มตั้งแต่อาหารเช้า   อาหารเที่ยง  จนกระทั่งอาหารเย็น   อาหารหมดก็ซื้อเอาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตในตอนเย็น  แล้วก็ทำอาหารต่อไปแบบนี้ทุกวัน

               รถโค้ชวิ่งไปเรื่อยๆ  รถทำครัวก็วิ่งตามไป   ตรงไหนมีสวนสาธารณะ  หรือ  ที่พักรถปิกนิก   ก็แวะกินข้าวกันริมถนนเลย

               วิธีการกินก็ง่ายแสนง่าย คือ  ใช้มือเปิบแบบที่เขาทำกันในประเทศอินเดียนั่นแหละครับ 

               คนขับรถโค้ชยังบอกผมด้วยความขยะแขยงอีกว่า   ชาวอินเดียเหล่านี้ยังชวนเข้าไปร่วมทานข้าวอีกด้วย

               อันที่จริงการทานข้าวด้วยมือไม่ใช่เรื่องผิดสำหรับวัฒนธรรมตะวันออกอย่างเช่น  อินเดีย  ไทย  ลาว  เหล่านี้เป็นต้น  เพราะตอนผมไปเข้าคอร์ส อายุเวชที่อินเดีย   มีอยู่วันหนึ่ง  เขาให้เราทานอาหารจากแผ่นใบตองที่ใส่อาหารรวมกันในนั้น   ก็อร่อยดี 

แต่มันผิดตรงที่กาลเทศะมากกว่า


(วัฒนธรรมฝรั่ง  แม้แต่ซื้อไอครีม  ก็ยังต้องเข้าแถว)

แต่เดี๋ยวนี้   การเที่ยวยุโรปของชาวอาหรับ หรือ  อินเดีย ง่ายขึ้นมาก   เพราะมีร้านอาหารอินเดีย เปิดบริการหลายแห่ง   แต่ชาวอาหรับดูจะไม่ค่อยยุ่งยากเท่าไหร่นัก   จึงเห็นชาวอาหรับแห่กันมาเที่ยวยุโรปมากขึ้นหลายเท่าตัวในปีที่ผ่านมา


(โชคดีที่  พวกอาหรับ และ อินเดีย ยังมาไม่ถึง ทะเลสาบฮัลล์สตัตต์)

ปัญหาเรื่องกาลเทศะ  ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกนโยบายอบรมนักท่องเที่ยวจีน  ที่จะออกไปเที่ยวในต่างประเทศว่า  อะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ   เพราะเขาได้รับการร้องเรียนจากทั่วโลกเกี่ยวกับพฤติกรรมแย่ๆของคนจีนจำนวนมาก

เป็นต้นว่า   การขากถุยไม่เลือกที่   การถ่มน้ำลายลงพื้น    การตะโกนส่งเสียดังอย่างไม่เกรงใจผู้คนในที่สาธารณะ   การแซงคิว   เหล่านี้เป็นต้น

รัฐบาลจีนก็เลยเกิดความรู้สึกหน้าชา  แล้วก็กำหนดให้ต้องอบรมนักท่องเที่ยวจีนก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

เรื่องมารยาทของนักท่องเที่ยวในการไปเที่ยวต่างประเทศนั้น   ผมเคยเขียนเอาไว้ในพ๊อคเก็ตบุ๊ค “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์”  เล่ม 1 ว่า  


(หนังสือ “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรมกับ เสรษฐวิทย์” เล่ม 1 )

การไปเที่ยวต่างประเทศ   เราไม่ได้เอาตัวตนไปเที่ยวเพียงอย่างเดียว   หากแต่ได้เอาหน้าตา  ชื่อเสียง ของประเทศชาติติดตัวไปด้วย

หากเราไปทำอะไรแย่ๆ   เวลาเขาจะตำหนิ หรือ ด่า   เขาจะไม่พูดว่า  นายดำ นายแดง  ป่าเถื่อนมาก    แต่เขาจะพูดว่า  ไทยไทยป่าเถื่อนมาก  

พลอยทำให้คนไทยทั้งประเทศเสื่อมเสียไปด้วย

อย่างเช่นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา   ผมพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวสวิสฯ และ ได้ขึ้นไปเที่ยวบนเขายุงฟราว  ก็ไปเจอเรื่องที่แปลกๆ   จะว่าน่าขำ   ก็น่าขำ   จะว่าน่าสมเพช ก็น่าสมเพช 


(สถานีรถไฟขึ้นยอดเขา ยุงฟราว)

เพราะบนยอดยุงฟราว  เขาจะมีเครื่องปั๊มเหรียญเป็นรูปเหรียญที่ระลึกของ ยุงฟราว ไว้บริการนักท่องเที่ยว    โดยคนที่ต้องการจะทำเหรียญดังกล่าว    จะต้องหยดเหรียญ 2 ฟรังซ์ลงไป 1 เหรียญ เป็นค่าบริการ

และต้องหยดเหรียญ 20 เซนต์ ลงไปอีก 1 เหรียญ  เพื่อใช้เป็นเหรียญที่จะปั๊มเป็นเหรียญที่ระลึก


(เครื่องปั๊มเหรียญที่ระลึก)   

เครื่องทำเหรียญที่ระลึกดังกล่าว   มีป้ายเขียนเตือนนักท่องเที่ยว  ซึ่งเน้นหมายถึงชาวอินเดียเป็นหลักว่า   ต้องใช้เหรียญสวิสฯฟรังซ์เท่านั้น 

ห้ามใช้เหรียญรูปี


(บนยอด ยุงฟราว)

ผมรู้สึกหน้าชา   เพราะรู้สึกว่าเป็นชาวเอเชียเหมือนกัน   แต่ก็ดีใจที่ไม่มีป้าย   “ห้ามใช้เหรียญ 10 บาทของไทย”

สวัสดี  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *