โอกินาวา – ไฮไซ – หนีเฮ่า ญี่ปุ่นที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น

ซอกซอนตะลอนไป    (25 ตุลาคม 2556 )

โอกินาวา  – ไฮไซ –  หนีเฮ่า  ญี่ปุ่นที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น

โดย    เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               โอกินาวา(OKINAWA) เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่เกาะริวกิว(RYUKYU)  ที่อยู่ทางใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น 

               หากจะเดินทางโดยสายการบินไปยังโตเกียว  ก็ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 2ชั่วโมงครึ่งทีเดียว   ดังนั้น  สภาพภูมิอากาศของโอกินาวา  จึงค่อนข้างจะแตกต่างจากเมืองต่างๆส่วนใหญ่ในเกาะทั้งสี่เกาะทางตอนเหนือ

               เพราะโอกินาวา จะอยู่บนเส้นรุ้งเดียวกันกับ เมืองไมอามี รัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา 

               จึงทำให้ภูมิอากาศของโอกินาวา จะร้อนกว่าเมืองต่างๆทางเหนือของญี่ปุ่น  เช่น โตเกียว ร่วมๆ 10 องศาทีเดียว

               ในขณะเดียวกัน   หากเทียบกันด้วยระยะทาง   โอกินาวา จะอยู่ใกล้กับ ไทเป เมืองหลวงของประเทศไต้หวันมากที่สุด   และอยู่ห่างจากเซี่ยงไฮ้ของจีนในระยะทางพอๆกับโตเกียวด้วย

               ดังนั้น  วัฒนธรรมของชาวโอกินาวา จึงค่อนข้างจะแตกต่างจากวัฒนธรรมหลักของญี่ปุ่น  คำทักทายตอนเช้าของชาวโอกินาวา  จะพูดว่า  ไฮไซ ซึ่งต่างจากของญี่ปุ่นทั่วไป   

               ในอดีต  โอกินาวา มีความสัมพันธ์ทางการค้าทางทะเลกับประเทศจีน  เกาหลี  เวียตนาม  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์   มาเลเซีย  และ  สยาม หรือ ประเทศไทย

               ด้วยเหตุนี้   อาหารที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศก็คือ  แกงกะหรี่แบบญี่ปุ่น  ซึ่งเป็นกะหรี่ในแบบที่ไม่มีเหมือนของแถบอินโดนีเซีย  มาเลเซีย หรือ ของไทย

               รสชาติแกงกะหรี่ของญี่ปุ่นแทบจะไม่มีรสเผ็ดเลย  แต่กลมกล่อมด้วยรสชาติเค็ม แต่หอมกลิ่นผงกะหรี่

               สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง ญี่ปุ่นโอกินาวา  กับ  ญี่ปุ่นในเกาะหลัก 4 เกาะ ก็คือ   ญี่ปุ่นโอกินาวา จะได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากวัฒนธรรมจีน   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่  หรือ  อาหารการกิน

               ทั้งนี้เพราะ   มีชาวจีนทั้งจากจีนแผ่นดินใหญ่ และ  จีนไทเป อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในโอกินาวาจำนวนมากทีเดียว  จนกลายเป็นประชากรรุ่นสองรุ่นสามไปแล้วก็มาก

               ดังจะเห็นได้จากห้องน้ำโบราณเมื่อร้อยถึงสองร้อยปีที่แล้ว   ที่ได้รับเอาวัฒนธรรมส้วมจีนมาก็คือ   ส้วมที่ถ่ายเทเอาอุจจาระลงไปเป็นอาหารให้หมูที่เลี้ยงอยู่ติดกัน   ซึ่งส้วมแบบนี้   ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ทำกัน

               หมูจะถูกเลี้ยงในคอกข้างหลัง  ส่วนคนถ่ายก็นั่งหันหลังให้คอก แล้วก็ถ่ายลงร่องดำๆข้างหน้า   ขนลุก  แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว 

               ดังนั้น  ในร้านอาหารทั่วไปในโอกินาวา จะต้องเสริฟขาหมู ที่บ้านเราเรียกว่า  “คากิ”  กันทุกร้าน    ซึ่ง ชาวญี่ปุ่นทางเหนือเขาไม่นิยมทานกัน 

               นอกจาก “คากิ”แล้ว   อาหารที่รับประทานกันอย่างกว้างขวางของชาวโอกินาวา ก็คือ  บรรดาของผัดๆต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมของจีน    แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษของโอกินาวา ก็คือ   ผัดมะระ  ซึ่งก็บังเอิญคล้ายกับของไทยก็คือ   ผัดมะระใส่ไข่

               หมูอีกชนิดหนึ่งที่ชาวโอกินาวาชอบกินกันมากก็คือ  หมูสามชั้นหมักเกลือ   ภาพนี้ผมถ่ายมาจากในตลาดสดที่วางขายหมูหมักเกลืออย่างที่เห็น   เอาไปนึ่ง หรือ จี่  หรือ ทอด ก็ได้   รสชาติก็ใช้ได้

               หรือ จะเป็นตุ๋นซี่โครงหมูกระดูกอ่อน   แบบนี้

               ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือ   ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นในเกาะใหญ่ๆทั้ง 4 เกาะ นิยมทานปลาดิบจิ้มกับวาซาบิ หรือ มาสตาด   แต่ชาวโอกินาวา กลับไม่นิยมทานวาซาบิกัน   แต่นิยมทานปลาดิบด้วยซีอิ๊วกับน้ำส้มสายชู  

               ดังนั้น  นักท่องเที่ยวที่ที่เดินทางไปโอกินาวา  เพื่อรับประทานปลาดิบ  ก็อาจจะผิดหวังอยู่บ้าง   เพราะมีภัตตาคารจำนานไม่มากนัก  ที่จะเสริฟปลาดิบหลากหลายแบบญี่ปุ่นทางเหนือ

               อาจจะเพราะเหตุนี้ก็ได้    ทำให้เกาะโอกินาวา ไม่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมนักของชาวญี่ปุ่นด้วยกันเอง    แต่คนที่จะมาเที่ยวที่โอกินาวามากหน่อยก็คือ ชาวไต้หวัน และ  ชาวจีน

               แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้ก็คือ  การใส่ใจในสุขภาพการกิน การอยู่   ทำให้ปัจจุบันนี้   มีร้านอาหารจำนวนมากที่ประกาศตัวว่า  ใช้ผักปลอดสารพิษบริการลูกค้า  เช่น ร้าน DAIKON NO HANA  ที่ประกาศว่า  เป็นร้านอาหารแบบออร์กานิค 

               ถึงขนาดเอารูปแปลงผักของตัวเองมาโฆษณาในร้านทีเดียว  

               สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยมีความภูมิใจอยู่บ้างก็คือ  เหล้าขาวของญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า  เหล้า อาวาโมริ

               ทำไมต้องภูมิใจ 

               เพราะเจ้าหน้าที่ของโรงงานเหล้าอาวาโมริ อธิบายให้เราฟังว่า   กรรมวิธีในการทำเหล้าขาว อาวาโมรินั้น   เป็นกรรมวิธีดั่งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดมาเป็นเวลานับร้อยปี  และเป็นกรรมวิธีการทำเหล้าขาวจากประเทศไทยที่น่าจะได้รับเอามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  

               เพียงแต่ของญี่ปุ่นจะใช้ข้าวเจ้า  แทน ข้าวเหนียวตามแบบของบ้านเรา

               และข้าวเจ้าที่จะนำมาทำเหล้าอาวาโมริ จะต้องเป็นข้าวที่นำมาจากประเทศไทยเท่านั้น   แต่เขาเพิ่มกรรมวิธีกลั่นเข้าไปอีกหนึ่งขั้นตอน  เพื่อทำให้เหล้ามีความสะอาด ปลอดภัยกว่า

               จากนั้นก็นำมาบ่มเก็บเอาไว้ในไหดินเผาที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ   บางส่วนจะบ่มไว้ในถังสแตนเลส  และอีกบางส่วนจะบ่มไว้ในไหดินเผา   ซึ่งว่ากันว่า   รสชาติของเหล้าที่บ่มในไหจะดีกว่าที่บ่มในถังสแตนเลส  

               บางครอบครัวจะซื้อเหล้าอาวาโมริ ในโอกาสที่ได้ภรรยาคลอดลูก  โดยที่โรงเหล้าจะทำสัญลักษณ์เป็นรูปอยู่ข้างขวดว่า  เนื่องในโอกาสอะไร   จากนั้นเขาก็จะเก็บเหล้าเอาไว้   รอว่าเมื่อลูกมีอายุครบ 20 ปีเมื่อไหร่   ก็จะเปิดมาดื่มฉลอง

               ไหดินเผาที่ว่านี้ ใช้ดินที่คัดสรรมาเป็นพิเศษ  เมื่อขึ้นรูปเรียบร้อยก็นำไปเผาให้แกร่ง  จนกระทั่งสามารถใช้ค้อนเหล็กเคาะ  จะได้ยินเสียงกังวานที่แตกต่างกันจนสามารถเอามาจัดวางเป็นเครื่องดนตรี ได้เลย  ตามรูปภาพ

               นี่คือ โอกินาวา  ญี่ปุ่น ที่ไม่ใช่ ญี่ปุ่น         

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *