ลี กวน ยิว รัฐบุรุษแห่งยุคสมัย(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                 (3 เมษายน 2558 )

ลี กวน ยิว รัฐบุรุษแห่งยุคสมัย(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               บุคคล กว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐบุรุษ  เขาจะต้องถูกทดสอบหลายต่อหลายครั้งด้วยชีวิต และ ความตาย   

               เมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี 49 ก่อนคริสตกาล    จูเลียส ซีซาร์ได้นำทหารของเขาเดินทางจากภาคเหนือของอิตาลีปัจจุบันนี้ ซึ่งโรมันเรียกว่า  ดินแดนซิสอัลไพน กอล (CISALPINE GAUL) เพื่อเข้าสู่กรุงโรม 

               เหตุผลในการนำทัพเข้าโรมก็เพราะมีความขัดแย้งกับ นายพลปอมเปย์ หรือ  เนอุส ปอมเปย์อุส แมกนุส(GNAEUS POMPEIUS MAGNUS) คู่แข่งทางอำนาจของเขา  และ ซีซาร์ ถูกบีบคั้นนานาประการทางการเมืองจากปอมเปย์  จนไม่เหลือทางเลือกอื่นได้ 


(ภาพในจินตนาการตอนที่ จูเลียส ซีซาร์ นำทหารของตนเองเดินข้ามแม่น้ำรูบิคอน  ประกาศตัวเป็นกบถต่อรัฐโรมัน  ที่มีโทษถึงประหารชีวิต  หากก่อการไม่สำเร็จ)

               เมื่อเดินทัพมาถึงแม่น้ำ หรือ อาจจะเรียกว่า  ลำธารสายเล็กๆก็ได้ มีชื่อเรียกว่า  แม่น้ำรูบิคอน(RUBICON)  ซึ่งมีความหมายสำคัญต่ออาณาเขตของโรมันเป็นอย่างยิ่ง   เพราะกฎหมายโรมันกำหนดห้ามมิให้นายพลคนใด  ข้ามแม่น้ำนี้มาพร้อมด้วยกองทัพของตนเอง


(แม่น้ำรูบิคอน จะอยู่ใต้เมืองเวนิสลงมาหน่อยหนึ่ง บนชายฝั่งทะเลเอเดรียติคของอิตาลี)

               มิเช่นนั้น   จะต้องถูกตั้งข้อหากบถต่อรัฐ มีโทษสถานเดียวคือ  ประหารชีวิต

               ว่ากันว่า  เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่งของ จูเลียส ซีซาร์  เพราะมันหมายถึงความเป็นความตายของตัวเอง  แต่สุดท้าย   เขาก็ตัดสินใจข้ามแม่น้ำรูบิคอน 

               จนปัจจุบันนี้  ได้กลายเป็นสำนวนว่า  “ข้ามแม่น้ำรูบิคอน”  ที่แปลว่า  “ไปตายเอาดาบหน้า”  หรือ “ไปเสี่ยงชีวิตข้างหน้า”


(มหาตม คานธี ขณะเดินนำชาวอินเดียไปทำ สัตยาเคราะห์เกลือ)

               เช่นเดียวกับในวันที่ 12 มีนาคม ปีค.ศ. 1930 มหาตม คานธี ตัดสินใจที่จะทำ  สัตยาเคราะห์ (SATYAGRAHA)  บางคนก็เรียกว่า  “สัตยาเคราะห์เกลือ”  ด้วยการนำประชาชนเดินทางกว่า 400 กิโลเมตรด้วยเวลา 24 วัน ไปยังชายฝั่งทะเลเพื่อทำเกลือไว้กินเอง

               คำว่า  สัตยาเคราะห์ แปลว่า   ยึดมั่นในสัจจะ   ซึ่งเป็นแนวทางที่บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหลายต่อหลายคนยึดมั่นในแนวทางต่อๆมา  เช่น  เนลสัน เมนเดล่า(NELSON MENDELA) ผู้นำของประเทศอัฟริกาใต้ และ  มาร์ติน  ลูเธอร์ คิง จูเนียร์(MARTIN LUTHER KING JR.) ผู้นำของชนผิวดำของอเมริกาในช่วงที่ชาวผิวดำเรียกร้องความเสมอภาคเท่าคนผิวขาว   

               การกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของอังกฤษที่ออกมาเพื่อบังคับใช้กับชาวอินเดีย  และ มหาตม คานธีเองก็ไม่รู้ว่า   การเดินขบวนครั้งนี้จะจุดติดหรือไม่ 

               ปรากฏว่า   ผู้ร่วมเดินขบวนเพิ่มขึ้นทุกวันจนกลายเป็นคลื่นมหาชนเรือนแสน    

               หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน  คือวันที่ 4 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1930   ทางการอังกฤษเข้าจับกุม คานธี  และ ประชาชนอีกนับแสน    แต่การจับกุมครั้งนี้  ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของอังกฤษในอินเดียเป็นอย่างมาก  เพราะแรงงานชาวอินเดียหายออกไปจากตลาดจำนวนมหาศาล   

               ในที่สุด   รัฐบาลอังกฤษต้องสั่งให้ปล่อยตัว คานธีในปีต่อมา   และ คานธี ได้รับเชิญไปร่วมประชุมหารือกับรัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอน  เพื่อหาทางออกในเรื่องอิสรภาพของอินเดีย 

               และนำไปสู่การที่อังกฤษต้องคืนอิสรภาพให้อินเดียในที่สุด  


(ชาวสิงค์โปรที่มายืนเข้าคิวรอเป็นแถวยาวเกือบ 10 กิโลเมตร เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความเคารพต่อ ลี กวน ยิว ผู้นำที่สร้างความเจริญให้แก่สิงค์โปรขึ้นเมืองเล็กๆ ขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของเอเชียภายในชั่วเวลาหนึ่งอายุคนเท่านั้น  จนรัฐบาลต้องประกาศขอร้องให้ประชาชนไม่ต้องมาเคารพศพแล้ว   เพราะคิวยาวมาก)   

               เช่นเดียวกับรัฐบุรุษอย่าง ลี กวน ยิว  เขาเกิดในครอบครัวพ่อค้าชาวจีนเชื้อสายแคะ ผู้มั่งคั่งที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสิงค์โปรเป็นรุ่นที่ 3  ได้รับการศึกษาที่ดีเยี่ยมจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ สาขากฎหมาย

               หลังจากกลับสิงค์โปร  เขาก็เริ่มงานการเมือง ด้วยการร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ  พรรคกิจประชาชน(PEOPLE’S ACTION PARTY) และสุดท้ายก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของสิงค์โปรในปีพ.ศ. 2502    

ขณะนั้น    สิงค์โปรยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  

ปีพ.ศ. 2504  อังกฤษให้อิสรภาพแก่มาเลเซีย  ซึ่งขณะนั้น  ตนกู อับดุล รามาน เพื่อนนักเรียนเก่าของลี กวน ยิว เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่   ลี กวน ยิว จึงเจรจากับ ตนกู อับดุล รามาน เพื่อรวมสิงค์โปรเข้ากับมาเลเซีย  ด้วยจุดประสงค์ว่า   สิงค์โปรจะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษด้วย 


(ขบวนศพของอดีตท่านผู้นำสิงค์โปร ที่เดินทางไปตามท้องถนน  มีประชาชนยืนรอเพื่อไว้อาลัยต่อเขาเป็นครั้งสุดท้าย)

แต่การรวมตัวของสองชาติมีปัญหาขัดแย้งของประชาชนค่อนข้างมาก  ชาวมาเลย์ ไม่พอใจที่จะให้ชาวจีนมาร่วมเป็นชาติเดียวกับตนเอง  เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง  จนมีผู้บาดเจ็บมากมาย

ประชาชนทั้งสองชาติต่างก็ไม่พอใจที่จะอยู่ร่วมกัน   ในที่สุด  วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2508  ลี กวน ยิว ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะนำเอาสิงคโปรแยกตัวออกมาจากมาเลเซีย  ทั้งๆที่ยังมองอนาคตของสิงค์โปรไม่เห็นเลยว่า   สิงค์โปรจะดำรงอยู่ได้อย่างไร 

เป็นเวลาที่ลี กวน ยิว สะเทือนใจ และ เป็นกังวลที่สุด ว่าจะนำพาประเทศสิงค์โปรได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ถึงกับต้องเช็ดน้ำตาเลยทีเดียว  เพราะสิงค์โปรเป็นเพียงเกาะเล็กๆที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย 

แม้แต่น้ำจืดก็ยังต้องซื้อมาจากมาเลเซียเลย  

ถ้าจะว่าไป   ก็คงไม่ต่างอะไรจากการที่ จูเลียส  ซีซาร์ นำทหารของเขาเดินข้ามแม่น้ำรูบิคอน เข้าสู่กรุงโรม  หรือ การที่มหาตม คานธี นำประชาชนเดินทางไปทำ สัตยาเคราะห์เกลือ 

เพราะ ณ.วินาทีนั้น   ต่างก็ไม่รู้ว่า   จะประสบความสำเร็จหรือไม่   หากไม่สำเร็จก็ตาย

ก่อนที่จูเลียส  ซีซาร์ จะนำทหารของเขาเดินข้ามแม่น้ำรูบิคอนนั้น   ว่ากันว่า   เขาได้พูดปลุกใจทหารของเขาว่า  “เรามาโยนลูกเต๋ากันเถอะ”  (แล้วไปวัดดวงกันข้างหน้า)

ลี กวน ยิว  ก็พาสิงค์โปรโยนลูกเต๋ามาแล้ว   และสามารถนำพาสิงค์โปรให้ก้าวขึ้นมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย

จึงไม่เกินไปเลยที่จะยกย่องว่า   ลี กวน ยิว ก็คือ  รัฐบุรุษแห่งยุคศตวรรษที่ 20 ของสิงค์โปร

ขอให้ดวงวิญญาณไปสู่สงบ   โลกจะจารึกนามของท่านตลอดไป  ลี  กวน  ยิว   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *