สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 8)

ซอกซอนตะลอนไป                 (20 มีนาคม  2558)

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 8)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อหลายปีก่อน   ผมพาคณะดูงานทางด้านภูมิสถาปัตย์ ที่นำโดยคุณ วัชระ จงสุวัฒน์ ไปที่ประเทศญี่ปุ่น   คุณวัชระได้เล่าประสบการณ์เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และสะท้อนถึงตัวตนของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างดี    ผมจึงขออนุญาตคุณวัชระ นำมาเผยแพร่ต่อนะครับ

               เรื่องที่ว่านี้ก็คือ  แนวคิดเรื่อง  การเวนคืนที่ดินโดยไม่ต้องเวนคืน


(เมื่อไม่สามารถกลับเข้าไปในบ้านได้) 

               เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2538  เวลาประมาณ 05.46 น.  เกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น   การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนใต้แผ่นดินส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเมืองโกเบ  บ้านเรือนพังเสียหายไป 150,000 หลัง ทางด่วนพังเสียหายยาว 1 กิโลเมตร 


(ยุบลงมาทั้งหลัง) 

               และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 6,434 คน    

ประชาชนจำนวนมากไม่มีบ้านอาศัยนานกว่า 3 ปี  ต้องอาศัยอยู่ในเต้นต์ภายในสวนสาธารณะแทน   เพราะรัฐบาลจะเลือกให้คนแก่  ผู้ป่วย  และ เด็กที่ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ เข้าไปอาศัยในบ้านที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาก่อน  

               ใครที่มีร่างกายแข็งแรงก็ต้องอดทนรอสักหน่อย

               เนื่องจากโกเบเป็นเมืองเก่าแก่  ผังเมืองจึงเป็นแบบโบราณคือ  ถนนแคบ  บ้านเรือนอยู่ชิดติดกันมาก   ฝ่ายผังเมืองของโกเบจึงเกิดแนวคิดที่จะวางผังเมืองเสียใหม่  แต่ไม่ต้องการให้ผู้อยู่อาศัยเดิมได้รับผลกระทบ  หรือ ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 

               จึงเกิดแนวคิดที่เรียกว่า    เวนคืนที่ดินแบบไม่ต้องเวนคืน

               หลักการก็คือ  เขาจะกำหนดพื้นที่ที่จะพัฒนาเมืองขึ้นมาใหม่  สมมติว่าเป็น 100 ไร่   ขีดเส้นล้อมกรอบเรียบร้อย  ก็ให้เจ้าของทุกคนที่อยู่ในอาณาเขต 100 ไร่ มาขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยว่า   แต่ละคนมีที่ดินเดิมตามโฉนดเท่าไหร่


(รถไฟ)

               จากนั้น  เขาก็เอาพื้นที่ที่ตีกรอบเอาไว้แล้ว   มาวางผังเมืองใหม่  โดยขีดเส้นวางถนนให้มีความกว้างมากขึ้นแบบเมืองใหม่   แบ่งพื้นที่เอามาทำเป็นสวนสาธารณะบ้าง  จัดโซนให้เป็นระเบียบบ้าง     

               เมื่อวางผังเมืองเสร็จเรียบร้อย  ก็จะได้เมืองที่ทันสมัย  เป็นระเบียบ  น่าอยู่  และสะดวกในการเดินทางมากกว่าก่อนเยอะทีเดียว    ใครเห็นแผนผังของเมืองใหม่  ก็อยากจะเข้ามาอยู่กันทั้งนั้น

               จากนั้น   ก็นำพื้นที่ส่วนที่เหลือ มาแบ่งสันกันตามสัดส่วน


(อาคารทั้งหลังพังลงมาเหมือนแท่งไม้)

               สมมติว่า   พื้นที่ตามโฉนดของชาวบ้านทั้งหมดมีรวมกัน 80 ไร่ แต่ละคนมีที่ดินของตัวเองเท่าไหร่  ก็คิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์  แล้วทอนลงมาเป็นพื้นที่จริงที่ยังเหลืออยู่หลังจากวางผังเมืองใหม่แล้ว

               เพราะพื้นที่ผังเมืองใหม่จะถูกแบ่งออกไปเป็นพื้นที่สาธารณะส่วนหนึ่ง   เป็นพื้นที่ถนนที่ขยายให้กว้างอีกส่วนหนึ่ง   ดังนั้น  โฉนดที่ดินของแต่ละบ้านก็จะต้องถูกเฉือนตัดออกไปตามอัตราส่วนด้วย 

               สมมติว่า  พื้นที่ตามโฉนดเดิมทั้งหมดรวมกันมี 80 ไร่   แต่เมื่อวางผังเมืองใหม่แล้วพื้นที่ที่อยู่อาศัยอาจลดลงเหลือ 40 ไร่   ก็เท่ากับลดลงไป 50 เปอร์เซ็นต์  หรือ  ครึ่งหนึ่ง


(ทางด่วนที่พังลงมาเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร)

               ดังนั้น   ใครที่มีที่ดินตามโฉนดเดิม 400 ตารางวา   ก็จะเหลือที่ดินใหม่เพียง 200 ตารางวา    ใครที่มีที่ดินเดิม 100 ตารางวา  ก็จะเหลือพื้นที่ใหม่เพียง 50 ตารางวา

               ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า   ใครจะรับเงื่อนไขนี้ได้

               ข้อเท็จจริงก็คือ  เมื่อจัดผังเมืองใหม่ให้ทันสมัยขึ้น  ผลดีที่เกิดขึ้นก็คือ  ที่ดินในผังเมืองใหม่จะมีราคาเพิ่มขึ้นทันที   อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้ 

               ดังนั้น  คนที่มีที่ดินหายไปครึ่งหนึ่ง  ก็อาจจะไม่สูญเสียอะไรเลยเมื่อคิดถึงมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น 100เปอร์เซ็นต์ 

               ทางเลือกสำหรับเจ้าของที่ดินก็คือ  จะปลูกบ้านใหม่บนที่ดินที่มีขนาดเล็กลง   หรือ  จะขายที่ดินที่มีขนาดเล็กลงแต่ได้ราคาเพิ่มขึ้น   แล้วไปหาซื้อที่ดินในย่านอื่นสร้างบ้านที่อยู่อาศัยแทน

               แผนการนี้อาจไม่สำเร็จก็ได้   หากเกิดขึ้นในประเทศอื่น   


(บางย่านพังราบเป็นหน้ากลอง)

               มันเป็นการสะท้อนความเป็นตัวตนที่แท้จริงของชาวญี่ปุ่นอย่างยิ่ง   เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีจิตสาธารณะที่คำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว    โครงการนี้จึงสำเร็จ    

               และได้กลายมาเป็นแนวคิดในการปรับปรุง และ พัฒนาที่ดินที่ต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งให้มากที่สุด

               ลองคิดในอีกมุมหนึ่ง   หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย   ท่านผู้อ่านคิดว่าจะสำเร็จหรือไม่

               ผมคิดว่า   ไม่มีวันสำเร็จแน่นอน  เพราะเรามีคนหัวหมอ  และ  คนขี้โกงเยอะมาก 

               ปิดท้ายของนำคำกล่าวของเล่าจื่อ มาให้อ่านกันครับ 

               เมื่อมีจริยธรรม  จึงมี    ความเที่ยงธรรม

               เมื่อมีความเที่ยงธรรม  จึงมี    ความเมตตา 

               เมื่อมีความเมตตา  จึงมี  คุณธรรม 

               เมื่อมีคุณธรรม  จึงมี  ธรรมะ    (เล่าจื่อ)

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *