สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 7)

ซอกซอนตะลอนไป                 (13 มีนาคม  2558 )

สิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น ญี่ปุ่น(ตอน 7)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในบางสถานการณ์   คนญี่ปุ่นก็เป็นมนุษย์ที่เข้าใจยาก  และไม่อาจใช้ตรรกะอื่นใด  ไปทำความเข้าใจพฤติกรรมของเขาได้เลย  

               เพราะเขามีคุณธรรมในเรื่องความสัตย์ซื่อ  จนบางครั้ง  เราอาจจะรู้สึกว่า   เขาเป็นคนไร้เดียงสาเกินไปหรือเปล่า


(ถนนหนทางที่เต็มไปด้วยร้านอาหารของญี่ปุ่น)

               เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว  เคยมีชายชาวญี่ปุ่นที่แต่งงานกับหญิงไทย และลงหลักปักฐานในประเทศไทยมานาน  ได้จองทัวร์กับผมในการเดินทางไปอียิปต์   และยังได้จองทัวร์เผื่อเพื่อนชาวญี่ปุ่นของเขาอีก 2 คนที่เดินทางมาสมทบจากญี่ปุ่นด้วย 

               เนื่องจากมีเวลาบนเรือสำราญล่องแม่น้ำไนล์อยู่ 5 วัน  และเป็นช่วงเวลาแบบสบายๆ  ผมจึงมีโอกาสได้พูดคุยสนทนากับชาวญี่ปุ่นทั้งสามคนอย่างละเอียด  

               ความจริงเกี่ยวกับชาวญี่ปุ่นหลายอย่าง  ทำให้ผมแปลกใจกับวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่นอย่างยิ่ง

               ผมได้ทราบว่า  ทั้งสามคนทำธุรกิจค้าขายต่อเนื่องกัน   โดยที่ชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะเป็นคนส่งสินค้าไปให้ชายชาวญี่ปุ่นคนแรก  สมมติว่าชื่อ  นายเอ   จากนั้น   นายเอ ก็ส่งสินค้านั้นต่อไปให้ชาวญี่ปุ่นอีกคนที่มาด้วยกัน   สมมติว่าชื่อ   นายบี


(ร้านอาหารแบบนี้แหละที่ เป็นที่จัดเลี้ยงขอบคุณลูกค้า) 

               ด้วยความแปลกใจที่ชายชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในประเทศไทย  เอายี่ปั๊วของเขา คือ นายเอ  และ ซาปั๊ว ของเขาคือนายบี มาเจอกัน   ก็เลยถามว่า    นายเอ ที่เป็นคนกลาง  ยอมหรือที่จะให้ซาปั๊วเช่นนายบี  มาพบกับ ชายชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย  ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าให้เขา  

               ถ้าเป็นสามัญสำนึกของพ่อค้าคนไทย  จะไม่มีพ่อค้าคนกลางคนใดกล้าเอาผู้ผลิตสินค้าให้ตนเอง  มาพบกับ  ผู้ที่ตนเองส่งสินค้าชิ้นนั้นไปให้ขาย 


(แม้ว่าจะมีลูกค้าอุดหนุนเนืองแน่น   แต่ร้านอาหารของญี่ปุ่นก็ไม่เอาเปรียบลูกค้า  อาหารทุกอย่างมีป้ายบอกราคาทุกรายการ)

               ผมเอาจิตสำนึกที่ว่านี้   ถามชาวญี่ปุ่นทั้งสามคน  เขาทำหน้างงๆ เหมือนว่าทำไมทำไม่ได้หรือ   เพราะเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นทั้งประเทศเขาทำกัน

               คนญี่ปุ่นซื่อสัตย์   หรือ  ไร้เดียงสาทางการค้า กันแน่

               เขายังเล่าให้ผมฟังต่ออีกว่า  แม้ว่าพ่อค้าคนกลางชาวญี่ปุ่นจะรู้ทั้งรู้ว่า  ผู้ที่ส่งสินค้าให้แก่ตนเองซื้อสินค้านั้นมาจากแหล่งไหน   แต่เขาก็ไม่สนใจที่จะประหยัดเงินด้วยการก้าวข้ามพ่อค้าคนกลาง   ไปซื้อสินค้าโดยตรงกับผู้ผลิตเลย 


(อาหารแบบเซ็ท  เป็นอาหารสำหรับผู้ที่มาคนเดียว   แต่สำหรับงานจัดเลี้ยงก็จะเป็นอาหารจานเดียว  หลากหลายกว่านี้)

               ถามว่าเพราะอะไร    เพราะนี่เป็น  วิถีในการทำการค้าของเขา    คงยากที่จะตอบ 

               แต่สิ่งที่มาพร้อมกับวิถีการค้าแบบรักษาคนกลางเอาไว้ก็คือ   การเลี้ยงดูกันเป็นทอดๆไป

               หมายความว่า   หากนาย เอ ส่งสินค้าให้นาย บี   นาย เอ จะต้องมีหน้าที่เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารให้แก่นาย บี   ขณะเดียวกัน   เมื่อนาย บี ส่งสินค้าขายต่อไปให้นาย ซี    นาย บี ก็ต้องมีหน้าที่เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารให้แก่ นาย ซี  เป็นแบบนี้ต่อเนื่องเป็นทอดๆไป


(โรงแรมแคปซูล  สำหรับขี้เมาที่หาทางกลับบ้านไม่ถูก)

               ส่วนจะมากน้อย  ถี่ห่างอย่างไร   ก็เป็นเรื่องรายละเอียดของแต่ละบริษัท     

               ลองคิดดูนะครับว่า  ในแต่ละเมืองของญี่ปุ่นมีบริษัทการค้ากี่บริษัท    ทั้งประเภทที่ต้องเลี้ยงคนอื่น  และ  ให้คนอื่นเลี้ยงตัวเอง   ทุกคืนจึงแทบจะไม่ว่างเว้นงานเลี้ยงหลังเลิกงานกันเลยทีเดียว 


(ห้องพักในโรงแรมแคปซูล  สำหรับนอนพักให้สร่างเมา)

               ธุรกิจร้านอาหารของญี่ปุ่นจึงเจริญรุ่งเรือง   ก็เพราะได้รับแรงหนุนจากลูกค้าที่เป็นบริษัทห้างร้านเหล่านี้

               ตอนเย็นๆจึงมักจะเห็นนักธุรกิจใส่สูทเมาแอ๋จนกลับบ้านไม่ได้  เพราะรถไฟใต้ดินหมด  และค่าแท็กซี่แพงมาก   บางคนหมดสติต้องนอนริมถนน  จนเกิดแนวคิดสร้างโรงแรมแคปซูลราคาถูกสำหรับขี้เมาเหล่านี้ขึ้นมา


(วิถี แห่ง ญี่ปุ่น  ที่รักษาเอาไว้ซึ่งวัฒนธรรมของตนเอง)

               นี่คือ วิถี หรือ เต๋า ของชาวญี่ปุ่น  ที่ยึดเหนี่ยวให้อยู่ได้ด้วย คุณธรรม ตามแบบของ ขงจื่อ 

               อันที่จริง   วิถี ที่แฝงด้วยคุณธรรมก็มีอยู่ในยุโรปหลายประเทศ เช่นกัน  อาทิ  อิตาลี   

               แม่บ้านชาวอิตาเลี่ยนนิยมที่จะซื้อของสด  เช่น  เนื้อ  ผัก  ผลไม้ ต่างๆจากร้านขายของชำที่อยู่ในละแวกชุมชนของตนเอง  มากกว่าจะไปซื้อหาจากร้านขายขอชำที่ใหญ่กว่า  แม้ว่าจะขายสินค้าชนิดเดียวกันในราคาที่ถูกกว่ากันก็ตาม 

               ถามว่าทำไม   เขาตอบว่า  การซื้อของชำจากร้านเอกชนเล็กๆ หรือ เอส เอ็ม อี นั้น   เหมือนซื้อของกับเพื่อนสนิท  สามารถพูดคุยเรื่องราวสารทุกข์สุกดิบได้   จนบางคนมีความรู้สึกต่อกันเสมือนเพื่อนสนิท  หรือ ญาติ   


(ในจัตุรัส  พลาซ่า มาเยอร์ ในสเปน)

               บางครั้งคนขายก็หยิบโน่นหยิบนี่แถมให้     ไม่เหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่คนขายไม่มีจิตวิญญาณ

               ครั้งหนึ่ง   ผมนั่งฆ่าเวลาในร้านกาแฟในจัตุรัสพลาซ่า  มายอร์ ในกรุงแมดริด ประเทศสเปน   เห็นหญิงชราที่อายุน่าจะใกล้ 80 เดินเข้ามาในร้าน   จิบกาแฟคุยกับพนักงานเสริฟในร้านสักครู่ใหญ่อย่างสนิทสนม  แล้วก็เดินออกไป

               พนักงานในร้านเล่าให้ฟังว่า  เธอจะผ่านมาที่ร้านแบบนี้ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว   บางครั้งก็แวะทานอาหารด้วย  จนพนักงานเสริฟในร้านรู้สึกเหมือนเธอเป็นเพื่อนสนิท  หรือ  ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง 

               ทำไม  เธอจึงไม่ชงกาแฟทานเองในห้องพัก  ซึ่งถูกกว่ากาแฟในร้านกาแฟมากทีเดียว   ก็เพราะ วิถี แห่งคุณธรรม

               หากวันหนึ่ง  เธอเกิดหายไป  ไม่กลับมาที่ร้านอีก  ไม่รู้ว่า  พนักงานเสริฟในร้านจะคิดถึงเธอแค่ไหน 

               พูดถึงเรื่อง  วิถี ของชาวญี่ปุ่นอยู่ดีๆ   ไหงมาจบลงที่  วิถี ของชาวยุโรปได้นะ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *