อิหร่าน – เปอร์เชีย มิใช่อาหรับ(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                 (8 พฤษภาคม 2558 )

อิหร่าน – เปอร์เชีย มิใช่อาหรับ(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แรกเริ่มเดิมที  ชาวเปอร์เชี่ยนโบราณ นับถือศาสนาที่เรียกว่า  โซโรแอสเทรียน(ZOROASTRIANISM) ซึ่งปัจจุบันนี้ แทบจะเป็นศาสนาที่ตายแล้ว  เพราะยังเหลือผู้นับถือศาสนานี้อีกไม่มากนัก

               สันนิษฐานกันไปหลายทางเกี่ยวกำเนิดของ ศาสนาโซโรแอสเทรียน  บ้างก็ว่า  ประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล  บ้างก็ว่า  ประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล  ซึ่งถ้าเป็น 600 ปีก่อนคริสตกาล ก็จะร่วมสมัยกับพระเจ้าไซรัส มหาราช ผู้ก่อนตั้งราชวงศ์ อาเคเมนิด ของเปอร์เชีย 


(เทวทูต  หรือที่เรียกว่า  ANGEL  ของศาสนาโซโรแอสเทรียน)

               และใกล้เคียงกับยุคสมัยของพระพุทธเจ้าด้วย  

               ศาสนาโซโรแอสเทรียน นับถือ อาฮูรา มาสดา(AHURA MAZDA)  ว่าเป็นจิตวิญญาณสูงสุด  ที่ถูกส่งผ่านลงมาจากเทพเจ้าสูงสุดในจักรวาล

               คำว่า  อาฮูรา แปลว่า  แสงสว่าง(LIGHT)  ส่วนคำว่า  มาสดา  แปลว่า  ปัญญา(WISDOM)


(ภาพของชาวอิหร่านที่นับถือศาสนาโซโรแอสเทรียน ที่ถ่ายไว้ในปีค.ศ.1910)

               บางข้อมูลก็ว่า  อาฮูรา มาสดา  เป็นคำในภาษา อเวสตาน(AVESTAN LANGUAGE) ที่เป็นภาษาเปอร์เชี่ยนตะวันออก แปลว่า พระเจ้าที่ทรงภูมิปัญญา โดยที่คำว่า  อาฮูรา แปลว่า การดำรงอยู่(BEING)   ในขณะที่คำว่า  มาสดา  แปลว่า  จิด(MIND)

               โซโรแอสเตอร์ ศาสดาของศาสนาโซโรแอสเทรียน   ยังได้แบ่งจิตวิญญาณออกเป็นสองฝ่าย คือ  จิตวิญญาณฝ่ายดี(PROGRESSIVE MENTALITY) เรียกเป็นภาษาอเวสตาว่า  SPENTA MAINYU  และอีกฝ่ายคือ  จิตวิญญาณฝ่ายร้าย(DESTRUCTIVE MENTALITY)  เรียกว่า  ANGRA MAINYU 

               ทั้งสองจิตวิญญาณ  อยู่ภายใต้การควบคุมของเทพเจ้าองค์เดียวคือ  อะฮูรา มาสดา 

               ศาสนาโซโรแอสเทรียน  ยังยึดมั่นใน 3 สิ่งสำคัญก็คือ  คิดดี พูดดี  และ  ทำดี (GOOD THOUGHTS , GOOD WORDS AND GOOD DEEDS)  ซึ่งก็เป็นหลักการที่คล้ายกับศาสนาพุทธมาก   

               จึงเชื่อกันว่า  ศาสนาโซโรแอสเทรียน อาจจะเป็นต้นธารของศาสนาฮินดูของอินเดีย  และ ศาสนาพุทธด้วย

               หลังจากที่อาณาจักรเปอร์เชีย ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวกรีก  ที่นำโดย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แล้ว   ศาสนาโซโรแอสเทรียน ก็ยังดำรงอยู่ได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ   

               เรื่อยมาจนกระทั่ง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช สิ้นพระชนม์  และเปอร์เชียอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักร เซลิวสิด(SELEUCID DYNASTY)  ซึ่งเป็นนายพลคู่กายของอเล็กซานเดอร์มหาราช มาก่อน

               จากนั้น ก็มาถึงยุคของอาณาจักรพาร์เธียน(PARTHIAN EMPIRE) ตั้งแต่ปี 247 ก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นศัตรูคนสำคัญของ สาธารณรัฐโรมัน และเป็นชนชาติที่ทำสงครามได้ชัยชนะเหนือกองทัพโรมันที่นำโดยนายพล มาร์คัส ลิซินิอุส แครสซุส (MARCUS LICINIUS CRASSUS ) สมาชิกหนึ่งในสามของ “สามพันธมิตร”(FIRST TRIUMVIRATE) ร่วมกับ จูเลียส  ซีซาร์(JULIUS CAESAR)  


(รูปหล่อบรอนซ์ ที่แสดงภากของนักรบชาว พาร์เธียน  จัดแสดงในพิพิทภัณฑ์แห่งชาติในอิหร่าน) 

               นายพล แครสซุส เองก็เสียชีวิตในสงคราม  จนทำให้จูเลียส ซีซาร์ต้องนำทัพไปรบเอง   แต่ก็ถูกลอบสังหารในที่ประชุมวุฒิสภาเสียก่อน  จึงไม่ได้ไปรบในที่สุด  

               ศาสนาโซโรแอสเทรียน มาถึงจุดสิ้นสุดเมื่อราชวงศ์ ซาดซานิด(SASSANID DYNASTY)  ล่มสลายพ่ายแพ้ให้ คาลิปแห่งอิสลาม(ISLAMIC CALIPHATE) ในปีค.ศ. 651  ซึ่งถือเป็นการเข้ามามีอิทธิพลศาสนาอิสลามในอาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณเป็นครั้งแรก 

               นับแต่นั้นมา  ศาสนาอิสลามก็ได้กลายมาเป็นศาสนาประจำชาติของเปอร์เชีย  และ  ของประเทศอิหร่านจนทุกวันนี้

               ปัจจุบัน ทั้งโลกมีผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเทรียน น้อยมาก  น่าจะอยู่แค่หลักแสนเท่านั้น   นอกจากในอิหร่านที่เมือง ยาดส์แล้ว  ก็มีที่เมืองมุมไบ หรือ  บอมเบย์ ของอินเดีย 

               ตามประเพณีของผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเทรียน  เมื่อมีคนตาย   เขาจะเอาศพของผู้ตายไปวางไว้บนหอคอยสูง  เพื่อเป็นอาหารของพวกแร้งกาจนเหลือแต่กระดูก  จากนั้นจึงเอากระดูกที่เหลือไปเผาและทำพิธีต่อไป 

               ทำให้ผมนึกถึงพิธีฝังศพในท้องฟ้าของชาวทิเบต ซึ่งผมได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์” เล่ม 1  ซึ่งมีขายที่บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์  ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด  โทร 02 651 6900  หรือ 088 578 6666


(หนังสือ ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์ เล่ม 1)

               เนื่องจากชาวเปอร์เชี่ยนบราณ เป็นทั้งนักคิด  นักคำนวณ  และ นักดาราศาสตร์   เขาจึงสามารถคิดค้นวิชาดาราศาสตร์  ผสมผสานกับการคำนวนในวิชาโหราศาสตร์  ที่ใช้ดวงดาวบนท้องฟ้า  และ การโคจรของดวงดาว มาสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์บนโลก

               เราเรียก วิชาโหราศาสตร์ที่ชาวเปอร์เชี่ยนโบราณคิดค้นขึ้นมาว่า อาระบิค พาร์ทส์(ARABIC PARTS) หรือ อาระเบียน พาร์ทส์(ARABIAN PARTS)  หรือ  ล๊อต (LOT)  ซึ่งพยากรณ์โดยใช้หลักการคำนวณจุดของดวงดาว (PLANETS)  ระยะห่างเชิงมุม(ANGLES)   และ จุดตกกระทบ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพื้นฐานของวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียน


(การพล๊อตดวงดาวตามแบบของวิชาโหราศาสตร์  อาระบิค พาร์ท)

               สันนิษฐานว่า  วิชาอาระบิค พาร์ท  อาจจะมีต้นกำเนิดมาก่อนหน้านั้น  คือมาจาก วัฒนธรรมบาบิโลน  และ วัฒนธรรมอียิปต์โบราณ

               ทำให้มองเห็นว่า   วิชาโหราศาสตร์เคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในดินแดนเปอร์เชีย  ก่อนที่ชาวเปอร์เชี่ยนจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม

               และด้วยข้อห้ามบางประการของศาสนาอิสลาม  ทำให้วิชาโหราศาสตร์ค่อยๆสูญหายตายจากไปทีละน้อย   จนกระทั่งปัจจุบันนี้   แทบจะหาผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ในประเทศอิหร่านไม่ได้เลย 


(เครื่องมือทางด้านโหราศาสตร์ที่แสดงเชิงมุมของดาวในระยะ 60 องศา ที่มีอายุกว่า 365 ปี ที่จัดแสดงในอิหร่าน) 

               กระนั้น  ความอยากรู้อยากเห็นอนาคตของตนเอง  ก็ยังเป็นสิ่งท้าทายของมนุษย์ทุกคนเสมอ  การดูหมอ หรือ ให้หมอดูดวงชะตา จึงยังคงมีอยู่ในประเทศอิหร่าน   เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันเท่านั้น

               จะเป็นแบบไหน  รออ่านตอนหน้านะครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *