อิหร่าน – เปอร์เชีย มิใช่อาหรับ(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                 (1 พฤษภาคม 2558 )

อิหร่าน – เปอร์เชีย มิใช่อาหรับ(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ชาวเปอร์เชี่ยน เป็นนักคิด นักปรัชญา มาตั้งแต่โบร่ำโบราณแล้ว

โอมาร์ คายยาม (OMAR KHAYYAM)  เป็นชาวเปอร์เชี่ยน   มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 11 ต่อเนื่องศตวรรษ ที่ 12  เขาเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์(MATHEMATICIAN)  นักดาราศาสตร์(ASTRONOMER)  นักปรัชญา(PHILOSOPHER)   นักพีชคณิต(ALGEBRA)  นักเรขาคณิต(GEOMETRIC ALGEBRA)


(รูปสลักของ โอมาร์ คายยัม)

แต่คนไทยรู้จักเขาในฐานะ กวีโรแมนติค ผู้เขียนบทกวีชื่อ   รุไบยาต(THE RUBAIYAT OF OMAR KHAYYAM) ซึ่งเป็นบทกวีที่ เอ็ดเวิร์ด ฟิตซ์เจอรัลด์(EDWARD FITZGERALD) ได้คัดเลือกมาถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษเป็นคนแรก

บทกวีของ โอมาร์ คายยาม  ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดยนักแปลหลายคน    ผมขอเลือกบางบทที่ผมชอบที่เป็นผลงานทรงแปลของ  กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มาให้อ่านกันครับ    


(หนังสือ รุไบยาต โดย โอมาร์ คายยัม ที่ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแปล)

ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว                           ขำอุราน่าหัว เต้นยั่วอย่างฝัน

ดอกเอ๋ยดอกเจ้า ดอกทานตะวัน                    ละครคนละคนขัน ประชันกันสนุกเอย

               กวีเปอร์เชี่ยนที่มีชื่อเสียงมากอีกคนก็คือ  รูมี่(RUMI)  หรือที่รู้จักกันในนาม เมาลานา(MAWLANA)   ที่แปลว่า  นายของเรา(MY MASTER)  แต่ต่อมามักจะนิยมเรียกว่า   เมฟลานา 


(ภาพวาดของ  รูมี่ หรือ เมฟลานา)

               เมฟลานา มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 13  คือ  ตั้งแต่ปีค.ศ. 1207 ถึง 1273  เขาเกิดที่เมือง บัลคห์(BALKH)  ซึ่งอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน    ขณะนั้น  อัฟกานิสถานอยู่ภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมของเปอร์เชี่ย  โดยเฉพาะภาษาพูด และ ภาษาเขียน   

               เขาติดตามบิดาของเขามาอยู่ที่เมืองคอนย่า(KONYA) ในดินแดนอนาโตเลีย(ANATOLIA) ของตุรกี หรือ ที่เรียกกันว่า  เอเชียไมเนอร์   บิดาของเขาทำงานให้แก่สุลต่านแห่งเซลจุก(THE SELJUK TURKS)  ซึ่งเป็นพวกเติร์กอีกสายหนึ่ง ที่ยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ในอนาโตเลียไว้ก่อนที่จะเสียการครอบครองให้แก่พวก เติร์กออตโตมาน ในที่สุด


(ที่ตั้งของเมืองคอนย่า ที่อยู่ในดินแดนอนาโตเลียของตุรกี)

               ต่อมา  เติร์กออตโตมานก็ได้ก่อตั้งราชวงศ์ออตโตมาน     

               ขณะนั้น  คอนย่า เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเซลจุก

               บิดาของ เมฟลานา ทำงานในราชสำนักของเซลจุกในฐานะปราชญ์ที่ปรึกษา   ทำให้ เมฟลานา ได้ซึมซับความรู้ต่างๆนานาที่บิดาของเขาพูดคุยสนทนากับผู้ทรงความรู้ในยุคนั้น 


(สุเหร่า ที่เห็นก็คือสุสานของ เมฟลานา)

               เขาได้เขียนบทกวีขึ้นมามากมาย  และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่างๆหลายภาษา  ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

               แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ  เมฟลานา เป็นนักเทวศาสตร์อิสลาม สายซูฟิสซึม (SUFISM)  ที่เคร่งครัดตามคำสอนของศาสดามูฮัมหมัด 

               แนวทางปฎิบัติของนักบวชสายซูฟิสซึม ที่เมืองคอนยา ในยุคของเมฟลานานั้น   มีแนวทางคล้ายกับพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามาก  เช่น  การออกบิณฑบาต  เป็นต้น

               นอกจากนี้  แนวทางการทำสมาธิด้วยการหมุนตัวของเมฟลานา  ก็ได้รับความนิยมปฎิบัติ  และกลายเป็นจุดเด่นของแนวทางของ เมฟลานา ในที่สุด 

               ศพของเมฟลาน่า  ถูกฝังที่เมืองคอนย่า ในประเทศตุรกี    


(ภาพ ฮาเฟซ ตามจินตนาการของจิตรกร)

               กวีชาวเปอร์เชี่ยนอีกคนหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ   ฮาเฟส(HAFEZ)  

               เขาเกิดในปีค.ศ. 1325 ที่เมืองชีราส ซึ่งขณะนั้น ดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของ ทิเมอร์(TIMUR) หรือ ทาเมอร์เลน(TAMERLANE)  นักรบเชื้อสายเติร์ก-มองโกล ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทิมูริดส์(THE TIMURID DYNASTY) ที่ครอบครองดินแดนในเอเชียกลาง    

               ประวัติชีวิตของเขาไม่ค่อยชัดเจนนัก  บ้างก็ว่า  เขาเป็นลูกของพ่อค้าขนมปังที่ยากจน   แต่เกิดไปหลงรักสาวสวยจากตระกูลที่มั่งคั่งร่ำรวย  และต้องผิดหวังในที่สุด   

               เขาแปรความผิดหวังมาเป็นแรงผลักดันในการเขียนบทกวี  ซึ่งบทกวีของเขามักจะเป็นเรื่องราวของความรัก  และ  ไวน์   แต่กระนั้น   ก็ยังสอดแทรกคำสอนในคัมภีร์โกรานด้วย   ทำให้บทกวีของเขายังเป็นที่ยอมรับ  แม้กระทั่งในยุคหลังการปฎิวัติล่าสุดที่นำโดย ผู้นำศาสนาอิสลาม โคไมนี 

               ตำนานกล่าวว่า  ฮาเฟซ ก็ศึกษางานเขียนของ เมฟลานา ด้วยเหมือนกัน   เขาเสียชีวิตในปีค.ศ. 1390  ศพของเขาถูกฝังอยู่ในเมืองชีราส  

               กวีทั้งสามคนที่ผมพูดถึงข้างต้นนี้   เขียนบทกวีของตนเองด้วยภาษาเปอร์เชี่ยน  จึงสามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็น กวีชาวเปอร์เชี่ยน

               ทุกวันนี้   ประเทศอิหร่าน ใช้ภาษาเขียนเป็นภาษาอาระบิคแล้ว  แต่ยังคงภาษาพูดเป็นภาษาเปอร์เชี่ยน  ทั้งนี้  เพราะอิทธิพลทางด้านภาษาอาระบิคที่ถูกถ่ายทอดผ่านทางพระคัมภีร์โกราน ที่บันทึกด้วยภาษาอาระบิค 

               นอกจากนี้   นับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่ดินแดนเปอร์เชียโบราณถูกปกครองโดยคนต่างชาติ ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ใช้ภาษาอาระบิคเป็นหลัก 

               จึงทำให้อิทธิพลทางด้านภาษา  และ  วัฒนธรรมของ ชาวอาหรับ เข้ามาครอบงำดินแดนเปอร์เชียอย่างมากในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา

               ทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า  คนเปอร์เชีย  คือ  ชาวอาหรับ   ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว   ไม่ใช่   

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *