อิหร่าน – เปอร์เชีย มิใช่ อาหรับ(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                 (22 พฤษภาคม 2558 )

อิหร่าน – เปอร์เชีย มิใช่ อาหรับ(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนจะจบเรื่อง   เปอร์เชีย  ไม่ใช่ อาหรับ    ผมคิดว่าน่าจะเล่าเรื่องราวที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันนัก เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเปอร์เชี่ยน  ที่เกี่ยวพันกับ  อาณาจักรโรมัน   

               หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช สิ้นพระชนม์   ดินแดนต่างๆที่เคยพระองค์เคยยึดครองได้ซึ่งรวมทั้ง เปอร์เชีย ก็ถูกแบ่งแยกออกไป   ปกครองโดยบรรดานายพลคนสนิทของพระองค์ 4 คน  

               เปอร์เชีย ถูกปกครองโดยราชวงศ์ เซลิวสิด (SELEUSID DYNASTY)  ต่อเนื่องบางนานเกือบ 200 ปี  ก็พ่ายแพ้ให้แก่อาณาจักร พาร์เธียน  


(อาณาเขตของ อาณาจักรพาร์เธียน (สีเขียว) ซึ่งชนกับอาณาเขตของอาณาจักรโรมัน(สีแดง)ทางด้านตะวันตก)

               หลังจากนั้น   อาณาจักรพาร์เธียน(PARTHIAN EMPIRE) ก็กลายเป็นหนามยอกอกของ โรมันมาโดยตลอด  

               จนกระทั่ง  อาณาจักรพาร์เธียน ค่อยๆเสื่อมอำนาจลง  และพ่ายแพ้ให้แก่ อาร์ดาเชอร์ ที่ 1 (ARDASHIR I)  ซึ่งก็เป็นชาวเปอร์เชี่ยน เหมือนกัน   แต่เป็นอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง


(หุ่นนักรบพาร์เธียน หล่อด้วยบรอนซ์  จัดแสดงในพิพิทภัณฑ์แห่งชาติของอิหร่าน)  

               อาร์ดาเชอร์ ที่ 1 ได้สถาปนาราชวงศ์ของตนเองขึ้นมา เรียกว่า  ราชวงศ์ซาสซาเนี่ยน  (SASSANIAN EMPIRE)  ซึ่งถือเป็นยุคที่เปอร์เชียมีอำนาจอย่างกว้างขวาง  ก่อนที่ผู้ปกครองที่นับถือศาสนาอิสลามจะรุกเข้ามา   และเปลี่ยนเปอร์เชีย ให้กลายมาเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามตั้งแต่นั้น 

               ห่างจากพระราชวังเปอร์เซโปลิส (PERSEPOLIS) ไม่กี่กิโลเมตร   มีสุสานที่ขุดเข้าไปในภูเขา  ซึ่งเข้าใจว่า   แนวคิดนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสุสานของชาวอียิปต์โบราณ


(สุสานที่แกะสลักอยู่บนหน้าผา)

               สุสานเหล่านี้   ตั้งอยู่บนที่สูง  และ ไม่เหลือสมบัติใดๆที่เก็บไว้ในสุสานแล้ว    แต่ที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษกลับไม่ใช่สุสาน   หากแต่เป็นรูปสลักนูนต่ำที่แกะอยู่บนหน้าผา  ข้างๆสุสานนั่นเอง

               ภาพที่เห็นก็คือ  ชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนหลังม้า  ส่วนชายอีกคนหนึ่งกำลังคุกเข่าอยู่เบื้องหน้า   ภาพนี้จะไม่มีคุณค่าแต่ประการใดเลย  ถ้าเราไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลังของมัน 

               ภาพนี้เป็นเหตุการณ์หลังการรบระหว่าง  ชาร์ปูร์ ที่ 1(SHAPUR I) กษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาสซานิด  กับ วาเลอเรียน(VALERIAN) จักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมัน ในปีค.ศ. 260    


(ภาพสลักนูนต่ำ ที่แสดงให้เห็นกษัตริย์ชาปูร์ ที่ 1 แห่งราชวงศ์ซาสซานิด บนหลังม้า  และ จักรพรรดิวาเลอเรียน คุกเข่าอยู่เบื้องหน้า)

               อาจพูดได้ว่า  เวลานั้นเป็นช่วงขาขึ้นของราชวงศ์ซาสซานิด  ซึ่งเรืองอำนาจอยู่นาน 400 ปีเศษ   แต่เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหาภายในมากมายของอาณาจักรโรมัน  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาถูกรุกรานจากข้าศึกศัตรูภายนอกอาณาจักร   ปัญหาเรื่องการก่อการกบถต่ออาณาจักร  และ ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เงินเฟ้อรุนแรง   

               ช่วงเวลานี้   นักประวัติศาสตร์เรียกว่า  “วิกฤติการณ์ในศตวรรษที่ 3” ของอาณาจักรโรมัน   

               อาณาจักรซาสซานิด  จึงเข้มแข็ง  และ  ฮึกเหิม   ในขณะที่  อาณาจักรโรมัน มีแต่ความยุ่งเหยิง  วุ่นวาย  และ ความไม่แน่นอน  ทำให้กองทัพอ่อนแอลงไปอย่างมาก    

               สงครามครั้งนั้นซึ่งเรียกว่า   สงครามแห่งอีเดสซา (BATTLE OF EDESSA)  ว่ากันว่า   กองทัพโรมันพ่ายแพ้ในการรบ  จึงขอเจรจาเพื่อสงบศึก ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฎิบัติกันเสมอๆในสนามรบ 


(เมืองอีเดสซา ตรงลูกศรชี้  ปัจจุบันอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศตุรกี  เหนือพรมแดนของประเทศซีเรียขึ้นมาเล็กน้อย)

               เมื่อจักรพรรดิโรมัน  มาพบกับ กษัตริย์ชาปูร์ที่ 1 เพื่อเจรจา   กษัตริย์ ชาปูร์ ที่ 1 ก็จับตัวจักรพรรดิวาเลอเรียนเป็นเชลยทันที 

               นับเป็นจักรพรรดิโรมัน พระองค์แรกที่ถูกข้าศึกจับตัวเป็นๆมาเป็นเชลยศึก   และถูกคุมขังอยู่ในอาณาจักรซาสซานิดจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ 

               ประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดย แลคตานติอา(LACTANTIUS) บอกว่า   จักรพรรดิวาเลอเรียน  ถูกปฎิบัติอย่างไร้เกียรติ  และดูถูกเหยียดหยามโดยสิ้นเชิง   ถึงขนาดว่า    กษัตริย์ชาปูร์ ที่ 1 ใช้ให้จักรพรรดิวาเลอเรียน คุกเข่าสี่ขาให้กษัตริย์ชาปูร์  เหยียบหลังเพื่อขึ้นม้า


(ภาพวาดที่แสดงให้เห็นกษัตริย์ ชาปูร์ ที่ 1 เหยียบหลังของจักรพรรดิ วาเลอเรียน เพื่อขึ้นหลังม้า)

               ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 

               แต่ประวัติศาสตร์บางกระแสก็บอกว่า   กษัตริย์ชาปูร์ ได้ส่ง จักรพรรดิ วาเลอเรียน พร้อมด้วยทหารบางส่วนของพระองค์ไปอยู่ที่เมือง บิชาปูร์   ซึ่ง วาเลอเรียน ก็ประทับที่เมืองดังกล่าวอย่างสะดวกสบายพอสมควร  จนสิ้นพระชนม์ในที่สุด 

               ไม่มีใครยืนยันได้ว่า   เหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร 

               แต่ภาพสลักนูนต่ำที่ว่านี้   เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลก  และ ของอาณาจักรโรมัน ตราบทุกวันนี้     

               ใครสนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวอิหร่านกับ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวลา เอเยนซี่ ร่วมกับผมในช่วงปลายปีนี้   ติดต่อได้ที่ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *