อันเนื่องจากมาจาก พระแสงดาบของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                 (29 พฤษภาคม 2558 )

อันเนื่องจากมาจาก  พระแสงดาบของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เทศกาลสงกรานต์ปี 2558    เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตผม 

               ไม่ใช่เพราะผมถูกหวย หรือ ล๊อตเตอรี่   เพราะผมไม่เคยซื้ออยู่แล้ว   แต่ที่ว่าโชคดีเพราะได้มีโอกาสนำคณะนักท่องเที่ยวของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  ร่วมกับ  สถานีโทรทัศน์ ฟ้าวันใหม่  ไปเที่ยวประเทศรัสเซีย  ซึ่งเคยเป็นราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของโลกมาก่อน 

               ราชอาณาจักร โรมานอฟ (ROMANOV DYNASTY) 

               แม้จะเคยไปรัสเซียมาหลายครั้งแล้วก็ตาม   แต่ครั้งนี้ถือว่าพิเศษสุด   เพราะเป็นการเดินทางที่จะได้มีโอกาสชมพระแสงดาบพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้แก่ พระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซีย  เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ. 2440  หรือเมื่อเกือบ 118 ปีที่แล้ว   

               จึงขอนำช่วงเวลาที่เป็นมงคลนี้  และ  ประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงมาเล่าให้ฟังครับ 


(อาคารสีเหลือง ซึ่งเป็นพิพิทภัณฑ์ ที่เก็บพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) 

               ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสยาม  และ ประเทศรัสเซีย  เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทั้งนี้เป็นเพราะความปรีชาสามารถ  และเล็งเห็นการไกลของยุทธวิธีนโยบายต่างประเทศ

               เพราะในปีพ.ศ. 2434  มกุฎราชกุมาร นิโคลัส ที่ 2 ได้ออกกำหนดการเสด็จเยือนประเทศต่างๆในเอเชีย  เริ่มตั้งแต่อียิปต์  อินเดีย  สิงคโปร์  และ  ญี่ปุ่น เป็นประเทศสุดท้าย

               ซึ่งไม่มีประเทศสยามของเรา   

               รัชกาลที่ 5 ทรงทราบถึงหมายกำหนดการดังกล่าว  จึงได้เชิญให้มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียแวะเยือนประเทศสยามด้วย  ซึ่ง มกุฎราชกุมารนิโคลัส ก็ตัดสินใจเปลี่ยนโปรแกรม  ด้วยการตัดรายการบางส่วนออก   เพื่อจะได้มีเวลาแวะเยือนประเทศสยามด้วยในที่สุด

               หมายกำหนดมาลงตัวที่ระหว่างวันที่ 20 ถึง 24 มีนาคม  พ.ศ. 2434  เป็นเวลา 5 วัน


(ผู้เขียน  กับเจ้าหน้าที่ของพิพิทภัณฑ์  กับ คุณพี่จำรัส และ คุณพี่วัลลพา ลภาพงศ์ สมาชิกทัวร์ในคราวนี้  บนโต๊ะก็คือ  พระแสงดาบทั้งสามเล่ม   โถแจกัน และ  รูปภาพ)

               นับเป็นการเดินทางเยือนประเทศสยามที่สร้างความประทับใจที่สุดให้แก่ มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียอย่างดียิ่ง   เพราะมีการแสดงการคล้องช้างที่เพนียดอยุธยาให้ชม  ซึ่งถือเป็นการแสดงการคล้องช้างครั้งสุดท้ายของประเทศไทย

               เมื่อหลายปีก่อน  ตอนที่ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ได้ทำทัวร์ศิลปวัฒนธรรมในประเทศ  โดยมีท่านอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมศิลปากรและ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลายท่านมาร่วมบรรยายชมนั้น 

               อาจารย์ท่านหนึ่ง  ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าเป็นใคร   ได้เล่าให้ฟังว่า   การเดินทางมาเยือนสยามประเทศของมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียนั้น   เป็นไปอย่างประทับใจยิ่ง 

               อาจารย์ท่านนี้ยังเล่าให้ฟังว่า  ตอนเช้า   สาวชาววังจะเก็บดอกมะลิที่ยังตูมอยู่  มาร้อยเป็นสายด้วยด้านเส้นเล็กๆ  จากนั้นก็จะมัดรวมบนยอดของเตียงบรรทมของมกุฎราชกุมาร   แล้วปล่อยให้สายของดอกมะลิคลี่ออกไปล้อมรอบเตียง 


(พระแสงดาบ หนึ่งในสามเล่ม)

               ทำประหนึ่งเป็นมุ้ง   ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า  แล้วจะกันยุงได้อย่างไร 

               อาจารย์ท่านนั้นยังเล่าอีกว่า   พอตกเย็น   ดอกมะลิที่ตูมก็จะบานออก  กลีบของดอกมะลีก็จะขยายออกจนชนกัน หนาแน่น และประสานกันเหมือนตาข่ายของมุ้งทีเดียว  จะกระทั่งยุงไม่สามารถเข้าไปได้

               ลองหลับตานึกภาพว่า   มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย  บรรทมในมุ้งสายดอกมะลิที่หอมอบอวลแบบนี้ไปทั้งคืน   จะมีความสุขขนาดไหน  


(พระแสงดาบเล่มที่สอง)

               ผมไม่ทราบว่าเรื่องที่เล่ามานี้ เป็นความจริงแค่ไหน   แต่ก็รู้สึกได้ว่า   การจัดเตรียมการถวายการต้อนรับต่อองค์มกุฎราชกุมารของรัสเซีย  จะต้องมีความพิถีพิถัน และ สร้างความประทับใจต่อผู้มาเยือนแน่นอน  

               หลังจากที่มกุฎราชกุมารรัสเซียเสด็จออกจากประเทศไทย  และไปแวะที่ญี่ปุ่นเป็นที่สุดท้าย   พระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์   แต่โชคดีที่ไม่เป็นอะไร  จึงตัดหมายกำหนดการให้สั้นลงและเสด็จกลับรัสเซียเร็วขึ้น

               หลังจากนั้น  ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2437  หรือ อีก 3 ปีหลังจากที่เสด็จเยือนประเทศสยาม   มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียก็ขึ้นเสด็จครองราชย์  มีพระนามว่า   พระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2

               หลังจากนั้น  เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ได้เสด็จเยือนเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  เมืองหลวงของประเทศรัสเซียในขณะนั้น   


(พระแสงดาบเล่มที่สาม)

               ในโอกาสนี้เอง   ที่รัชกาลที่ 5 ทรงได้พบกับ พระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2  พระสหายเก่าของพระองค์  ในอีกสถานภาพหนึ่ง  แตกต่างจากการพบกันเมื่อ 7 ปีก่อน

               แต่เป็นการพบกันที่เน้นยำความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของทั้งสองชาติ 

               ในโอกาสนี้  รัชกาลที่ 5 ได้ทรงถวายของที่ระลึกแด่พระเจ้าซาร์  ซึ่งเป็นของที่ระลึกจากแดนไกล  

               ของที่ระลึกที่รัชกาลที่ 5 ได้ถวายแด่พระเจ้าซาร์ ประกอบด้วย  พระแสงดาบพร้อมปลอกหุ้มทองคำ 3 เล่ม    โถแจกันลงยาแบบจีน 1 กระถาง  และ  ภาพถ่ายอีก 2 ภาพ ซึ่งเป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ได้นำมาให้พวกเราได้ชมกัน  


(โถแจกัน แบบจีน) 

               อาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้   แต่เราไม่ทราบ

               เวลาผ่านไป 118 ปี   พวกเราคนไทยกลุ่มเล็กๆได้มีโอกาสมาชมของที่ระลึกที่เชื่อมไมตรีของกษัตริย์แห่งสยาม  กับ  จักรพรรดิแห่งรัสเซีย

               สิ่งของเหล่านี้  เคยผ่านพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะส่งมอบไปสู่พระหัตถ์ของ พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียมาแล้ว  

               ไม่คิดว่า   ชาตินี้จะได้มีโอกาสประวัติศาสตร์ของชาติในระยะใกล้ชิดขนาดนี้   

               ช่างเป็นบุญเหลือเกิน

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *