อิหร่าน – อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (19 กุมภาพันธ์ 2559 )

อิหร่าน – อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ไฮไลต์อันหนึ่งของการเที่ยวอิหร่านก็คือ  เมืองโบราณเปอร์เซโปลิส(PERSEPOLIS)  ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองชีราส(SHIRAZ)ขึ้นไปอีกประมาณ 60 กิโลเมตร 

               ความหมายของ เปอร์เซโปลิส ก็คือ  เมืองของพวกเปอร์เชี่ยน(PERSES + POLIS)  ตามภาษากรีก ที่ชาวกรีกใช้เรียกในยุคนั้น  ส่วนชาวเปอร์เชี่ยนโบราณเรียกเมืองนี้ว่า  พาร์ซา(PARSA)    


(ภาพสเก็ตช์ของเมืองโบราณเปอร์เซโปลิส)

               ตามหลักฐานระบุว่า  สร้างเมื่อปี 515 ก่อนคริสตกาล ในสมัยของพระเจ้าดาริอุส ที่ 1(DARIUS I) เพื่อให้เป็นเมืองหลวงที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา  และ การเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ใน “เทศกาลขึ้นปีใหม่” ตามคติของชาวเปอร์เชี่ยนโบราณ 

               ตามคติของชาวเปอร์เซี่ยนโบราณซึ่งต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้  ถือเอาวันที่ 21 มีนาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวเปอร์เชี่ยน 

               ในขณะที่ในทางวิชาดาราศาสตร์   วันที่ 21 มีนาคมเป็นวัน อีควิน๊อกซ์(EQUINOX)  หมายถึง  วันที่พื้นระนาบของจุดเส้นศูนย์สูตร(EQUATOR) ตัดกับจุดกึ่งกลางของดวงอาทิตย์ในแนวดิ่งเหนือหัว  

               บางทีก็เรียกจุดกึ่งกลางของพระอาทิตย์ว่า  เส้นโคจรของดวงอาทิตย์  หรือ เส้นสุริยะวิถี

               ยังผลให้ในซีกโลกเหนือ  ช่วงเวลากลางวัน กับ ช่วงเวลากลางคืน มีความยาวเท่ากัน   และเป็นเครื่องชี้หมายถึงการเปลี่ยนฤดูกาลของโลกด้วย

               เมื่อถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่ในยุคราชวงศ์อาเคเมนิด  ที่เมืองเปอร์เซโปลิส  จึงมีกิจกรรม และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศมากมาย 

               ประเพณีที่สำคัญที่สุดก็คือ  ประเพณีการจิ้มก้อง  หรือ  ประเพณีการส่งเครื่องราชบรรณาการของเจ้าผู้ครองประเทศราช(SATRAP) ที่ขึ้นต่อราชวงศ์อาเคเมนิด


(เมืองเปอร์เซโปลิส จะตั้งอยู่บนแท่นที่ยกสูง  เมื่อเทียบอัตราส่วนเปรียบเทียบกับความสูงของตัวคน ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า  สูงขนาดตึก 10 ชั้น) 

               ในวันนั้น   บรรดาราชทูตจากประเทศต่างๆ พร้อมด้วยพนักงานเชิญเครื่องบรรณาการ จะเดินขึ้นบันไดประมาณ 100 คั่นไปยังยกพื้นที่อยู่สูงขึ้นไปประมาณตึก 10 ชั้น  เพื่อไปเข้าเฝ้ากษัตริย์เปอร์เชี่ยนที่ประทับอยู่ในพระราชวังอะพาดานา (APADANA PALACE)  อันเป็นท้องพระโรงขนาดใหญ่สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง 


(ประตูทางเข้าที่เรียกว่า  ประตูนานาชาติ  ถัดไปก็คือห้องพักรอ)

               เมื่อขึ้นมาถึงยกพื้นด้านบน   บรรดาราชทูตก็จะเดินผ่านประตูที่เรียก  ประตูนานาชาติ (GATE OF ALL NATIONS)  ที่มีรูปหินสลักสฟิงซ์ ที่มีใบหน้าเป็นคน  ลำตัวเป็นวัว  แต่มีปีกเหมือนกริฟฟิน  ซึ่งเป็นสัตว์ในเทพนิยายที่บินได้

               สฟิงซ์  เป็นวัฒนธรรมที่เปอร์เชี่ยนรับมาจากอียิปต์โบราณ  เมื่อคราวที่ไปยึดครองที่นั่น 


(สัตว์ในจินตนาการของเปอร์เชี่ยนโบราณ)

               ผ่านจากประตูนานาชาติแล้ว ก็ต้องนั่งรอในห้องพักที่เรียกกันทั่วไปว่า  ANTECHAMBER  เพื่อจะรอเข้าเฝ้ากษัตริย์ของเปอร์เชียน ในห้องท้องพระโรง อะพาดานา

               พื้นที่ทั้งหมดของพระราชวัง  จะอยู่ภายใต้การดูแลรักษาความปลอดภัยของทหารองค์รักษ์ที่เรียกว่า “ทหารอมตะ” (IMMORTAL)  ซึ่งว่ากันว่า  มีจำนวน 10,000 นาย 


(ภาพสลักนูนต่ำที่แสดงให้เห็นทหารเปอร์เชี่ยนสวมหมวกทรงตั้ง  ขณะที่ทหารมีเดส สวมหมวกทรงกลม) 

               ทหารที่ถูกคัดเลือกมาให้เป็นทหารอมตะ นั้น   จะเลือกมาจากชนเผ่า  เปอร์เซี่ยน หรือ ฟาร์ส(FARS) กับ ชนเผ่ามีเดส (MEDES)   เพราะตามประวัติศาสตร์ระบุว่า  บิดาของพระเจ้าไซรัส  เป็นชนเผ่าเปอร์เซี่ยน   ในขณะที่มารดาของพระเจ้าไซรัส สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่ามีเดส

               ทหารอมตะเหล่านี้   นอกจากจะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพระราชวังแล้ว   ยังเป็นทหารที่ออกรบในสงครามด้วย  โดยถูกจัดให้อยู่ในกองทหารราบอาวุธหนัก(HEAVY INFANTRY)   

               ความหมายของคำว่า  “ทหารอมตะ” นั้น  ไม่ได้หมายความว่า   ทหารที่ฆ่าไม่ตาย หรือ ฟันไม่เข้า อะไรทำนองนี้   แต่น่าจะมาจากการที่ราชสำนักปอร์เชี่ยน จะรักษาจำนวนของทหารหน่วยนี้เอาไว้ที่ 1 หมื่นคนตลอดเวลา

               นั่นหมายความว่า  ทันทีที่ทหารคนใดคนหนึ่งบาดเจ็บ  เจ็บป่วย  หรือ  ตาย   ก็จะมีทหารที่มีความสามารถเท่าเทียมกันมาแทนที่ทันที   เพื่อรักษาจำนวน 1 หมื่นคนเอาไว้เสมอ  

               ที่น่าสนใจของเมืองเปอร์เซโปลิส ก็คือ  บันทึกประวัติศาสตร์ในรูปแบบของการแกะสลักนูนต่ำตามผนังต่างๆของพระราชวัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  บนผนังข้างบันไดที่จะนำไปสู่พระราชวังอะพาดานา ทำหน้าที่เหมือนการบันทึกเหตุการณ์ด้วยกล้องถ่ายภาพของยุคปัจจุบัน 

               นักโบราณคดีถอดความหมายของภาพสลักบนผนังได้ว่า   มีหลายชนชาติทั้งในแถบเอเชียกลาง เช่น อุซเบกิสถาน  เตอร์กเมนิสถาน  และ  เกือบทุกประเทศในตะวันออกกลาง  และ ประเทศในอัฟริกา  ต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการมาถวายแด่กษัตริย์แห่งราชวงศ์อาเคเมนิด ของเปอร์เชียทั้งสิ้น 


(ขบวนของบรรดาราชทูต ที่นำเครื่องบรรณาการมาถวายแด่กษัตริย์เปอร์เชีย)

               สิ่งของที่ส่งมาถวายจะมีตั้งแต่  ผ้าแพรพรรณ  ขนสัตว์  เครื่องประดับมีค่า  มีดดาบ  น้ำหอมหรือเครื่องหอม  สัตว์เลี้ยงแปลกๆที่ไม่มีในเปอร์เชีย  เช่น  สิงโต 

               น่าเสียดายว่า   เมืองเปอร์เซโปลิส ถูกเผาทำลายลงไปอย่างราบคาบในตอนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ยกทัพมายึดเปอร์เชียได้ในราวปี 330 ก่อนคริสตกาล 

               ตำนานพูดถึงสาเหตุของการที่เปอร์เซโปลิสถูกเผาไว้สองแนวทางคือ   พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นผู้สั่งให้เผาเอง   และ  เกิดไฟไหม้โดยไม่เจตนาในคืนที่มีการเฉลิมฉลองในพระราชวังแห่งนี้ 

               แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม   เมืองเปอร์เซโปลิส ก็เป็นเมืองสำคัญในอดีตที่ควรค่าแก่การชมอย่างยิ่ง

               ท่านที่สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวอิหร่านกับผม และ  ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่   ติดต่อได้ที่โทร 02 651 6900    

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *