อิหร่าน – อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 กุมภาพันธ์ 2559 )

อิหร่าน – อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แม้ว่า  เปอร์เชียนจะเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากชาติหนึ่ง  แต่ก็น่าเสียดายว่า   ช่วงเวลาส่วนใหญ่มักจะถูกปกครอง หรือ ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติค่อนข้างมาก 

               ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเปอร์เชี่ยนอย่างแท้จริงก็คือ ราชวงศ์อาเคเมนิด  และ ราชวงศ์ซาสซานิด (SASSANID EMPIRE)   ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเปอร์เชี่ยนยิ่งใหญ่พอสมควร 


(นักรบพาร์เธียน  เป็นรูปหล่อบรอนซ์ในพิพิทภัณฑ์โบราณคดีในอิหร่าน)

               แต่ที่ต้องพูดถึงเป็นพิเศษก็คือ  อาณาจักรพาร์เธียน(PARTHIAN EMPIRE) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 247 ปีก่อนคริสตกาล ถึงปีค.ศ. 224   หรือ ยาวนานเกือบ 500 ปี


(แผนที่แสดงอาณาจักรพาร์เธียน)

               หลังจากอาร์ซาเซส ที่ 1 แห่งพาร์เธียน(ARSACES I OF PARTHIAN) เอาชนะต่อ อาณาจักร เซลิวสิด(SELEUCID EMPIRE) ที่เป็นชาวกรีกได้แล้ว  ก็ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง  

ในยุครุ่งเรืองมากๆ  สามารถกินพื้นที่แถบเมโสโปเตเมีย (อิรักในปัจจุบัน)  เข้าไปในบางส่วนของ อนาโตเลีย(ANATOLIA) หรือ ประเทศตุรกีส่วนที่เป็นเอเชียในปัจจุบัน  ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรโรมัน 


(เซลิวคัส ที่ 1 นิเคเตอร์  นายพลคนหนึ่งของ อเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้สถาปนา อาณาจักรเซลิวสิด) 

               ขณะนั้น  อาณาจักรพาร์เธียน ยึดครองเส้นทางการค้าที่สำคัญที่สุดของโลกเอาไว้ได้ คือ เส้นทางสายไหม ที่มีจุดเริ่มต้นจากแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ไปถึงอาณาจักรโรมัน  ทำให้เศรษฐกิจของอาณาจักรพาร์เธียนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก 

               อาณาจักรพาร์เธียน เป็นหนามในอกของ สาธารณรัฐโรมัน(ROMAN REPUBLIC)มาตลอด   ตั้งแต่นายพลปอมเปย์(POMPEY) จนมาถึงนายพลแครสซุส(CRASSUS) ซึ่งนำทัพมารบด้วยตัวเองเพื่อปราบปรามพวกพาร์เธียนในปี 53 ก่อนคริสตกาล  

               แต่โชคร้าย  โรมันพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ   แครสซุส  และ พูบลิอุส(PUBLIUS)ลูกชายของเขาเสียชีวิตในสงคราม  นับเป็นสงครามแห่งความอัปยศที่สุดครั้งหนึ่งของโรมัน 

นกอินทรีย์ที่เป็นเหมือนธงชัยเฉลิมพลของกองทัพต่างๆของโรมันถูกพวกพาร์เธียนยึดไปได้  

แย่ไปกว่านั้น  พลูทาร์ช(PLUTARCH) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันได้บันทึกเอาไว้ว่า  พวกพาร์เธียน ได้พบนักโทษคนหนึ่งที่ลักษณะละม้ายคล้ายกับ แครสซุสเป็นอย่างมาก  จึงได้จับเขามาแต่งกายเป็นผู้หญิง  แล้วให้เดินไปในขบวนพาเหรดไปทั่วทั้งเมืองเพื่อเป็นการประจาน   

ทำให้ภารกิจในการปราบศัตรูของโรมัน ตกไปเป็นของ จูเลียส ซีซาร์(JULIUS CAESAR)

               วันที่ 15 มีนาคม ปี 44 ก่อนคริสตกาล ที่ชาวโรมันเรียกว่า วัน IDES OF MARCH  จูเลียส ซีซาร์ เดินเข้าไปในที่ประชุมวุฒิสภาก่อนที่จะเดินทางไปทำสงครามกับพวกพาร์เธียน  แต่เขาถูกลอบสังหารเสียชีวิตเสียก่อน 

               แม้ว่าหลังจากนั้น  มาร์ก แอนโทนี จะนำทัพไปรบกับพวกพาร์เธียนอีกครั้ง   แต่ก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับซ้ำอีก    จนจักรพรรดิออกุสตุส(AUGUSTUS CAESAR) ต้องใช้การเจรจาสงบศึก

               หลังจากสิ้นสุดอาณาจักรพาร์เธียนแล้ว  ราชวงศ์ต่อมาที่ครอบครองอาณาจักรเปอร์เชี่ยนก็คือ  ราชวงศ์ซาสซานิด  ที่มีอำนาจตั้งแต่ปีค.ศ. 224 จนถึง ปีค.ศ. 651  ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคอิสลาม

               ราชวงศ์ซาสซานิด  ก่อตั้งโดย อาร์ดาเชอร์ ที่ 1(ARDASHIR I) หลังจากที่สามารถปราบอาณาจักรพาร์เธียนลงได้ 

               ในช่วงนั้น  อาณาจักรโรมัน(ROMAN EMPIRE)กำลังวุ่นวายจลาจล  เพราะบรรดานายทหารต่างก็แย่งชิงบัลลังก์กัน  ที่เรียกว่า วิกฤติการณ์ในศตวรรษที่  3 ระหว่างปีค.ศ.  235 ถึง 284  

               ทำให้การปกป้องพื้นที่ทางตะวันออกของอาณาจักรโรมัน ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศตุรกี  ถูกรุกรานจากศัตรู   โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากราชวงศ์ซาสซานิด 


(แผนที่แสดงเมือง อีเดสซา)

               ทำให้จักรพรรดิวาเลอเรียนุส(VALERIANUS)  หรือ วาเลอเรียน(VALERIAN) ต้องนำกองทัพไปทำสงครามกับกองทัพของราชวงศ์ซาสซานิด ที่นำโดย กษัตริย์ชาปูร์ ที่ 1(SHAPUR I)    สงครามครั้งนั้นเกิดขึ้นที่ในปีค.ศ. 260 เมือง อีเดสซา(EDESSA) (ปัจจุบันนี้คือเมือง ซานลูฟา(SANLURFA) ของตุรกี) 


(ภาพสลักบนภูเขาที่สุสานของราชวงศ์ซาสซานิด ชาปูร์ที่ 1(SHAPUR I) แห่งซาสซานิด อยู่บนหลังม้า  ในขณะที่จักรพรรดิ วาเลอเรียนยืนตรงหน้า และ ฟิลิป ชาวอาหรับ(PHILIP THE ARAB) จักรพรรดิโรมันอีกพระองค์ คุกเข่าอยู่เบื้องหน้า)   

               เป็นสงครามแห่งความอัปยศสุดๆของอาณาจักรโรมัน  เพราะนอกจากจะพ่ายแพ้แก่ราชวงศ์ซาสซานิดแล้ว   จักรพรรดิวาเลอเรียนุส ยังถูกจับตัวไปเป็นเชลยอีกด้วย 

               บันทึกบอกว่า  จักรพรรดิวาเลอเรียน ถูกปฎิบัติอย่างหยามเกียรติที่สุด  ด้วยการให้พระองค์คุกเข่าสี่ขา เพื่อให้กษัตริยฺชาปูร์ ที่ 1 เหยียบหลังเพื่อก้าวขึ้นหลังม้า  


(ภาพที่แสดงให้เห็นถึงการหยามเกียรติของจักรพรรดิวาเลอเรียน  แห่งอาณาจักรโรมัน ที่ถูกพวกซาสซานิดจับตัวได้)

               จักรพรรดิวาเลอเรียน ได้เสนอเงินจำนวนมากเพื่อเป็นค่าไถ่ตัวเองให้แก่ชาปูร์ ที่ 1   แต่ก็ถูกปฎิเสธ

               บันทึกยังกล่าวว่า  จักรพรรดิวาเลอเรียนสิ้นพระชนม์ด้วยการถูกบังคับให้ดื่มทองคำที่หลอมจนเหลว   แต่บางบันทึกก็บอกว่า   พระองค์ถูกสังหารด้วยการถลกหนังทั้งเป็น

               นี่คือความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ   ที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว   เพราะหลังจากราชวงศ์ซาสซานิด ล่มสลายไป   อาณาจักรเปอร์เชี่ยนก็ถูกปกครองโดยคนต่างชาติเกือบตลอดเวลา 

               โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชาวเติร์ก

               สัปดาห์หน้า  ผมจะเล่าเรื่อง ทหารองค์รักษ์อมตะ 10,000 คนของราชวงศ์ อาเคเมนิด ครับ 

               ท่านที่สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวอิหร่านกับ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่   ติดต่อได้ที่โทร 02 651 6900 หรือ  088 578 6666

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *