อิหร่าน – อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 กุมภาพันธ์ 2559 )

อิหร่าน – อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ผมจะขอคั่นเวลาด้วยเรื่องของประเทศอิหร่าน ที่ผมเพิ่งจะนำคณะนักท่องเที่ยวของ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี  เดินทางไปท่องเที่ยวอิหร่านมา

               ภาพพจน์ของอิหร่านที่คนทั่วโลกหวาดหวั่น  พรั่นพรึง นั้น  ส่วนใหญ่มาจากสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น และ บีบีซี ส่วนหนึ่ง  และจากภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ใส่สีตีไข่จนเกินจริง  

               ทั้งๆที่  ชาวอิหร่านมีอัธยาศัยไมตรี  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้มาเยือนคล้ายๆคนไทย 

               อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ   โลกมักจะไม่รู้ว่า  ชาวอิหร่านไม่ใช่ชาวอาหรับ  ชาวอิหร่านเป็นชาวเปอร์เชี่ยน  ซึ่งเป็นคนละชาติพันธุ์กับพวก อาหรับ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง 

               ชาวอิหร่านทุกวันนี้  ประกอบขึ้นมาจากชนเผ่าต่างๆที่เรียกว่า ชาวเปอร์เชี่ยนโบราณ  อันประกอบด้วย  ชนเผ่ามีเดส(MEDES)  ชนเผ่าพาร์เธียนส์(PARTHIANS)   ชนเผ่าซาร์มาเธียนส์(SARMATIANS)  ชนเผ่าอลันส์(ALANS)  ชนเผ่าแบคเทียนส์(BACTRIANS)  และ  ชนเผ่าซีเธียน(SCYTHIANS) 

               คนเหล่านี้ใช้ชื่อเรียกรวมๆ กันว่า อารยา(ARYA)  เพื่ออ้างอิงถึงความคล้ายคลึงกันของภาษาพูดของผู้คนในแต่ละเผ่าพันธุ์  และ  มักจะเรียกตัวเองว่า ชาวอารยา  ก็คือ  ชาวอารยัน ที่หมายถึงชนเผ่าชาวเปอร์เชี่ยนโบราณนั่นเอง 

               นอกจากนี้  พวกเขายังนับถือศาสนาเดียวกัน  โดยมีเทพเจ้าสูงสุดที่เรียกว่า อาฮูรา มาสดา (AHURA MAZDA)


(เทพเจ้าอาฮูรา มาสดา)

               ชาวอิหร่านถือว่า  ประเทศของเขาเริ่มถือกำเนิดในสมัยของ พระเจ้าไซรัส มหาราช(CYRUS THE GREAT) มีชีวิตอยู่ในช่วง ปี 600 หรือ 576 ก่อนคริสตกาล ถึง ปี 530 ก่อนคริสตกาล    

               สาเหตุที่ทำให้ไซรัส ได้รับการขนานนามว่า มหาราช   เพราะพระองค์ได้สร้างคุณประโยชน์แก่อาณาจักรเปอร์เชียนโบราณเอาไว้มากเหลือเกิน    


(ไซรัส มหาราช  ต้นราชวงศ์อาเคเมนิดส์ ของเปอร์เชี่ยนโบราณ)

               พระองค์ทำสงครามได้รับชัยชนะมากมาย  จนสามารถขยายการยึดครองออกไปได้ทั้งตะวันออกกลาง  เอเชียกลาง  อินเดียบางส่วน  บัลกาเรีย  อียิปต์  ซึ่งทำให้อาณาจักรอียิปต์โบราณในราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาลเรื่อยลงมา ตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวเปอร์เชี่ยน

               จนอเล็กซานเดอร์มหาราช มายึดครองต่อในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล  

และที่โดดเด่นก็คือ  อาณาจักรเปอร์เชี่ยนได้เริ่มต้นทำสงครามอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายครั้งกับ ชนชาวกรีก   ไม่ว่าจะเป็นสงครามแห่งทุ่งมาราทอน(BATTLE OF MARATHON)  และ สงครามแห่งเทอร์โมฟีลีย (BATTLE OF THERMOPYLAE) หรือ ที่รู้จักกันในนาม 300 สปาร์ตัน  ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “300”


(300 สปาร์ต้า  ผู้ทำสงครามกับ อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ)

สงครามทั้งสองครั้งเกิดขึ้นในปี  480 ก่อนคริสตกาล  (เปรียบเทียบกับทางเอเชียก็ประมาณ 200 กว่าปี ก่อนที่จักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ จะรวมแผ่นดินจีน)   

               ไซรัส ยังเป็นผู้สถาปนาราชวงศ์ อาเคเมนิด (ACHAEMENID DYNASTY)  ซึ่งสืบทอดอำนาจมาเรื่อยจนกระทั่งพ่ายแพ้ให้แก่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชในราวปี 330 ก่อนคริสตกาล  

               ผลงานที่ประจักษ์ทั่วโลกก็คือ  การปลอดปล่อยชาวยิว ที่ถูกคุมขังในเมืองบาบีโลนในปี 539 ก่อนคริสตกาล  หลังจากกษัตริย์ เนบูคัดเนสซา(NEBUCHADNEZZA) แห่งบาบีโลน ยึดเมืองเยรูซาเล็มได้  และกวาดต้อนชาวยิวไปเป็นทาสที่บาบิโลนนานเกือบ 60 ปี เรื่องนี้มีบันทึกในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธะสัญญาเก่า  ในส่วนของ BOOK OF EZRA   


(ภาพเขียนที่แสดงให้เห็นการปลดปล่อยชาวยิวจากเมืองบาบีโลน)

               หลังจากที่ไซรัส มหาราช ได้ยึดครองบาบิโลนเรียบร้อยแล้ว  พระองค์ได้สร้างจารึกบนดินเผาทรงท่อด้วยภาษา อะคาเดียน คูนิฟอร์ม(AKKADIAN CUNEIFORM) ซึ่งระบุถึงการให้สิทธิ์แก่ประชาชนของประเทศที่ถูกยึดครองว่า  มีสิทธิเสรีภาพในการเคารพนับถือศาสนา และ  สิทธิที่จะเลือกเคารพต่อผู้ปกครองด้วย 

               และเคารพต่อต่อสิทธิในการครอบครองที่ดิน และ ทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่สามารถไปยึดเอามาได้ด้วยกำลังโดยไม่จ่ายค่าชดเชย   และห้ามใช้แรงงานทาสแบบฟรีๆ 

               และท้ายที่สุดก็คือ  พระองค์ห้ามการมีทาส  การแลกเปลี่ยนทาสอย่างเด็ดขาด       


(จารึกด้วยภาษา อัคคาเดียน ตามตัวหนังสือแบบ คูนิฟอร์ม ของพระเจ้า ไซรัส มหาราช ปัจจุบันอยู่ที่บริติช มิวเซี่ยม)

               จารึกดังกล่าวนี้   ได้รับการยอมรับว่าเป็นประกาศสิทธิมนุษย์ชนเป็นครั้งแรกของโลก  

               แม้ว่าเมืองโบราณเปอร์เซโปลิส(PERSEPOLIS) ในอิหร่านจะถูกทำลายลงอย่างราบคาบโดย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช  แต่สิ่งที่เป็นมรดกตกทอดให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับราชวงศ์อาเคเมนิด นั้นยังเหลือให้ศึกษาได้อีกมาก

               โดยเฉพาะ  เรื่องราวของ ทหารรักษาพระองค์อมตะ 10000 นาย ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  ซึ่งผมจะได้นำมาเล่าในตอนต่อๆไป ครับ    

               ท่านที่สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวอิหร่านกับ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่   ติดต่อได้ที่โทร 02 651 6900     

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ทุกวันเสาร์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *