“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 15)

ซอกซอนตะลอนไป                           (29 มกราคม 2559 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 15)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หากพระองค์จิรศักดิ์ไม่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในวันนั้น ชีวิตของหม่อมมณีจะพลิกโฉมไปอย่างไร

               เมื่อพระองค์จิรศักดิ์ สิ้นชีวิตไปหลังจากที่ผ่านวันเกิดไปเพียง 7 วัน โดยที่ยังไม่ทันได้รับโอนกรรมสิทธิ์กองทุนมาเป็นของตนเอง  ทำให้กองทุนต้องขาดทุนจำนวนมาก  เพราะต้องเสียเงินค่าโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของพระองค์จิรศักดิ์   แล้วก็เสียเงินค่าโอนกลับมาเป็นของกองทุนอีกครั้ง

               กองทุนต้องจ่ายภาษีจำนวนมหาศาลไปในการโอนสองครั้งในเวลาเพียงไม่กี่วัน

               (จะเห็นว่า  ภาษีมรดกของอังกฤษบังคับใช้มากว่า 100 ปีแล้ว  ในขณะที่ประเทศไทยยังอยู่แค่ในสภาเท่านั้น)   

               นอกจากนี้  ยังมีอีกกองทุนหนึ่งที่ทูลกระหม่อมได้ทรงทำพินัยกรรมเอาไว้ว่า  หากพระองค์สิ้นพระชนม์  จะยกทรัพย์สินของกองทุนนี้ให้แก่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  และ  พระองค์จิรศักดิ์ ให้แบ่งกันคนละครึ่ง 

               เมื่อพระองค์จิรศักดิ์ มาเสียชีวิตเช่นนี้   กรรมสิทธิ์ของสองกองทุนจึงตกไปเป็นของทายาททั้งสองคนของพระองค์จิรศักดิ์  แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการทรัสตี  จนกว่าทายาทจะมีอายุบรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น


(พระองค์จิรศักดิ์  กับ โอรสองค์โต)

               หม่อมมณี จึงจะได้รับเงินเดือนประจำจากกองทุนเท่านั้น   หากต้องการใช้เงินเพิ่มเป็นพิเศษก็ต้องทำเรื่องไปขอจากแก่ผู้ดูแลกองทุน หรือที่เรียกว่า ทรัสตี เพื่อพิจารณาอนุมัติ  


(ดวงชะตาของ หม่อมมณี)

               ผมลองจินตนาการว่า หม่อมมณี และ พระองค์จิรศักดิ์ อาจจะวางแผนทำอะไรมากมายหลังจากได้กรรมสิทธิ์ในกองทุนอย่างเด็ดขาด   แต่แล้ว  ฝันทั้งหมดก็ละลายหายไปต่อหน้าต่อตา 

               ชีวิตช่างพลิกผันอะไรอย่างนี้  หรือ ดวงชะตาได้ขีดเส้นให้ต้องเป็นไปอย่างไม่มีทางเลี่ยง 

               เมื่อสิ้นพระองค์จิรศักดิ์ไปแล้ว  ชีวิตของหม่อมมณีก็อ้างว้างหงอยเหงาอย่างมาก  ช่วงเวลานี้ก็ได้พระองค์อาภัส พี่ชายของพระองค์จิรศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา และ เป็นเพื่อนคุย

               ทุกสุดสัปดาห์  พระองค์อาภัสจะเดินทางมาจากลอนดอน  เพื่อพักค้างที่บ้านดอน ฮิล  และระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ ก็จะโทรศัพท์มาคุยกับหม่อมมณีทุกคืน ด้วยเพราะราคาค่าโทรศัพท์ตอนหลัง 1 ทุ่มจะถูกเป็นพิเศษ

               เวลาผ่านไป 3 เดือน   พระองค์อาภัสเริ่มเปลี่ยนไป  จากท่าทีของการปลอบโยน ให้คำแนะนำ และ ช่วยเหลือแบบพี่ของอดีตสามี   ก็เริ่มจะแสดงท่าทีผูกพันเกินกว่าฐานะน้องสะใภ้แล้ว  

               แม้ว่าหม่อมมณีจะเตือนว่า ไม่เหมาะอย่างยิ่ง  และขอร้องให้พระองค์อาภัสเลิกคิดเรื่องนี้เสีย  แต่ก็ไม่เป็นผล   

               พระองค์อาภัส ยังโทรศัพท์มาคุยทุกคืน  และยังเขียนจดหมายส่งไปรษณีย์ด่วนมาพร่ำรำพันถึงความรักที่มีต่อหม่อมมณี  และ ขอแต่งงานด้วยในที่สุด  

               ครั้นถูกตื้อมากๆเข้า  หม่อมมณีก็ชักจะใจอ่อน จึงปรึกษากับมารดา ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่  มารดากลับเห็นด้วย

               ถ้าจะว่าไป  มารดาของหม่อมมณี ค่อนข้างจะใส่ใจในเรื่องผลประโยชน์ทางการเงินของลูกสาวค่อนข้างมาก  จนหลายครั้งที่ทำให้หม่อมมณีขัดเคืองใจ  

               มิส ดอริส เป็นคนเข้าไปเจรจากับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในเรื่องผลประโยชน์ที่นางสาวมณีควรจะได้รับก่อนที่จะแต่งงานกับพระองค์จิรศักดิ์  ซึ่งทำให้นางสาวมณีโกรธมารดาเธอมาก  เพราะทำให้ดูเหมือนว่า  การแต่งงานครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะผลประโยชน์   

               นอกจากนี้  หลังจากที่พระองค์จิรศักดิ์เสียชีวิตแล้ว  มิส ดอริส ก็ยังได้แต่งตั้งมิสเตอร์ เอช.พี.กิสบอร์น ให้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์แทนหม่อมมณี เข้ามาร่วมดูแลผลประโยชน์ในกองทุน   ทำให้มิสเตอร์เครก ผู้ดูแลผลประโยชน์ของทรัสต์ฟันด์ ไม่ค่อยพอใจนัก

               ทั้ง มิส ดอริส และ มิสเตอร์ กิสบอร์น เห็นด้วยกับการแต่งงาน  สุดท้าย  หม่อมมณี ก็เข้าเฝ้าสมเด็จฯ ที่ตำหนักคอมตันเฮ้าส์ เพื่อทูลให้ทราบเรื่องการแต่งงาน 

               สมเด็จฯ อึ้งไปพักหนึ่ง   เพราะคิดไม่ถึงว่า  หม่อมมณี จะมีความสัมพันธ์กับพระองค์อาภัส จนถึงกับจะแต่งงานกันรวดเร็วขนาดนี้    แต่สมเด็จฯ ก็ทรงบอกว่า 

               “ก็เหมาะสมดีแล้วนี่  เด็กๆจะได้ไม่ว้าเหว่  เพราะถึงยังไง อาภัสก็เป็นลุงแท้ๆของเด็กด้วย  เพราะฉะนั้น  ก็ดีแล้วที่มณีและ อาภัสคิดจะแต่งงานกัน”

               วันแต่งงานถูกเร่งรัดให้เร็วที่สุดคือ  หลังจากพ้นกำหนดไว้ทุกข์เป็นเวลา 6 เดือนไปแล้ว  ตามความเห็นชอบของมารดา  และ พระองค์อาภัส

               ในที่สุด  วันแต่งงานก็ถูกกำหนดขึ้นในเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2486 ในวัน IDES OF MARCH หรือ วันที่ 15 มีนาคม ตามปฎิทินโรมันโบราณ ซึ่งในอดีตเมื่อปี 44 ก่อนคริสตกาล   จูเลียส ซีซาร์ ถูกรุมสังหารในที่ประชุมวุฒิสภาในโรม 


(ภาพตอนจูเลียส ซีซาร์ ถูกสังหารวันวัน IDES OF MARCH)

               ฝรั่งบางคนถือว่า   เป็นวันที่ฤกษ์ไม่ดี    

               ยิ่งไปกว่านั้น   ในช่วงงานเลี้ยงหลังสมรส  หม่อมมณี กับ มารดา และ น้าของเธอได้เข้าไปในห้องแต่งหน้า  บังเอิญว่า  ตลับแป้งในมือของหม่อมมณีหลุดมือพลัดตกลงพื้นแตกละเอียด 

               ทั้งสามหน้าซีดเผือด   มารดาของหม่อมมณีบอกว่า  การเลือกวันแต่งงานเป็นวันที่ 15 มีนาคมก็ถือว่าเป็นฤกษ์ที่ไม่ดีแล้ว  ซ้ำหม่อมมณียังมาทำกระจกแตกอีก   ตามตำราว่า  การแต่งงานครั้งนี้คงไม่เกิน 7 ปีแน่นแล้ว

               ซึ่งก็มีสุภาษิตของฝรั่งกล่าวเอาไว้ว่า  THE SEVEN-YEARS ITCH  หมายถึง   ความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่มักจะมีปัญหากันในช่วงการแต่งงาน 7 ปีแรก  

               อนาคตจะเป็นอย่างไร  โปรดติดตาม


(หนังสือ ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร)

(โปรดติดตามอ่าน  คอมลัมน์ “ดูดวงออนไลน์”  ที่ผมเขียนในนามปากกา  ธรรมาธิปติ  ทุกๆวันเสาร์ครับ)   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *