กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2 แห่งบาวาเรีย(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (22 เมษายน 2559 )

กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2 แห่งบาวาเรีย(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในบรรดา 3 พระราชวังที่เป็นผลงานของ พระเจ้าลุดวิก ที่ 2  แห่งบาวาเรีย นั้น   มีเพียงแห่งเดียวที่สร้างเสร็จสมบูรณ์  และ พระองค์เคยประทับด้วย คือ  พระราชวังลินเดอร์ฮอฟ 

               ในทัศนะของผม ลินเดอร์ฮอฟ  เป็นพระราชวังที่น่าอยู่ที่สุด  และ มีความเป็น “บ้าน” มากที่สุด 

               พระราชวังหลังนี้ สร้างในรูปแบบศิลปะบารอค – ร๊อคโคโค ตามแบบของพระราชวังแวร์ซาย ของฝรั่งเศส ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (LOUIS XIV) ได้ริเริ่มสร้างเอาไว้ จนเป็นการเปิดศักราชของการสร้างพระราชวังแนวใหม่ของยุโรป และ ของโลก


(ปราสาทลินเดอร์ฮอฟ) 

(ด้านหน้าของปราสาทลิอนเดอร์ฮอฟ  เป็นสระน้ำที่มีน้ำพุธรรมชาติ)

               แม้ว่า ตอนที่พระเจ้าลุดวิก ที่ 2 ประสูตินั้น  พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ผู้ยิ่งใหญ่มีฉายาว่า  “สุริยะกษัตริย์” (SUN KING) จะสิ้นพระชนม์ไปแล้วร้อยปีเศษก็ตาม  กล่าวคือ  พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1715 ขณะที่พระเจ้าลุดวิก ที่ 2 ประสูติเมื่อปีค.ศ. 1845

               แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ  ทำให้พระเจ้าลุดวิก ที่ 2 ทรงให้ความเคารพนับถือพระองค์เป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างในชีวิตทีเดียว


(พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14  แห่งฝรั่งเศส)

               ซึ่งหากมองด้วยมุมมองของคนในยุคปัจจุบันนี้  ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลก  ที่กษัตริย์ของประเทศหนึ่ง จะยกย่องเทิดทูนกษัตริย์ของอีกประเทศเป็นต้นแบบของตัวเอง 

               แต่ขณะนั้น  ความรู้สึก หรือ สำนึกในการเป็น “ชาติ” หรือ “ประเทศ”   ไม่ว่าจะเป็นประเทศเยอรมัน หรือ  ประเทศฝรั่งเศส ยังไม่เกิดขึ้น   และเวลานั้นเอง  ประเทศเยอรมันยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ    แต่เป็นเพียงแคว้นต่างๆที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆเท่านั้น

               จึงไม่ยุติธรรมนักที่เราจะเอาจริยธรรมของยุคปัจจุบัน ไปตัดสินการกระทำของคนสมัยก่อน 

               บางครั้ง   การกระทำที่คนในยุคอดีตรู้สึกว่าไม่ดี   แต่เมื่อมาถึงอีกยุคหนึ่ง  กลับกลายเป็นดีก็มีมากมาย 

               อย่างที่ผมได้พูดไปแล้วว่า   พระเจ้าลุดวิก ที่ 2 เป็นกษัตริย์จากตระกูลวิทเทลสบาค แห่ง บาวาเรีย  ซึ่งลูกหลานที่สืบทอดจากตระกูลของท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน 

               ในอดีต  เมื่อผลงานพระราชวังต่างๆเหล่านี้เป็นของตระกูลวิทเทลสบาค  ก็น่าจะตกเป็นของลูกหลานของตระกูลนี้ในปัจจุบันเช่นกัน   

               แต่ไม่ใช่ 

               พระราชวังต่างๆเหล่านี้  ถูกยึดเข้ามาเป็นรัฐแห่งแคว้นบาวาเรียมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2   แต่หลังจากนั้น  ก็มีการเจรจาต่อรองเพื่อของทรัพย์สินเหล่านี้คืนให้แก่ทายาทของตระกูลวิทเทลส์บาค   

               หลังจากเจรจาต่อรองกัน  ทางรัฐก็ยอมคืนสมบัติบางส่วนให้  โดยให้ทายาทตระกูลวิทเทลส์บาค เลือกเอาระหว่างปราสาท 2 หลังคือ  ปราสาทโฮเฮนชวางเกา  และ  ปราสาทนอยชวานสไตน์  ว่าจะเอาปราสาทอะไร


(ปราสาทนอยชวานสไตน์)

               ก่อนอื่นต้องทราบว่า   ปราสาทโฮเฮนชวางเกา นั้นเป็นปราสาทเก่า ที่พระเจ้าลุดวิกที่ 2 เคยใช้ชีวิตที่นี่ในสมัยเด็ก   อยู่สูงไม่มากนัก  ประมาณตึก 5- 6 ชั้น  และอยู่ตรงบริเวณทางขึ้นปราสาทนอยชวานสไตน์  


(ปราสาทโฮเฮนชวางเกา)

               ในขณะที่ปราสาทนอยชวานสไตน์ ตั้งอยู่บนระดับความสูงประมาณ 800 เมตร และที่สำคัญก็คือ  ปราสาทนอยชวานสไตน์ ยังสร้างไม่เสร็จ 

               ในที่สุด  ทายาทตระกูลวิทเทลส์บาค ก็เลือกเอา ปราสาทโฮเฮนชวางเกา

               เดาเอาว่า  ปราสาทนอยชวานสไตน์ อาจจะอยู่สูงเกินไปในสายตาของคนในยุคเมื่อ 50 – 60 ปีที่แล้ว  ซ้ำถนนที่ขึ้นไปบนปราสาทก็คงจะไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้  รวมทั้งภายในตัวปราสาทเองก็ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี 

               หากเลือกเอาปราสาทแห่งนี้   ก็จะต้องลงเงินอีกจำนวนมากในการซ่อมแซมถนนหนทาง  และ บูรณะปราสาทขึ้นมาใหม่  กว่าจะใช้งานได้ 

               ผิดกันกับปราสาทโฮเฮนชวางเกา ที่สมบูรณ์พร้อมเกือบทุกอย่าง   

               ไม่มีใครรู้ว่า   การตัดสินใจเลือกปราสาทหลังใดหลังหนึ่งในวันนั้น  เป็นการตัดสินใจที่ผิด หรือ ถูก    แต่ด้วยสายตาของคนในวันนี้ ย่อมมองเห็นว่า  ทายาทของวิทเทลสบาค  ควรจะเลือกปราสาทนอยชวานสไตน์ จะดีกว่า 

               เพราะวันนี้   ปราสาทนอยชวานสไตน์ มีรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูเพียงอย่างเดียว  ก็มากกว่ารายได้ทั้งหมดจากนักท่องเที่ยวของปราสาทโฮเฮนชวางเกา นับเป็นหลายร้อยหลายพันเท่า 

               ยังไม่นับรวมรายได้จากการขายหนังสือ  และ  การขายของที่ระลึก อีกต่างหาก

               น่าเสียดายว่า  ทุกวันนี้  รายได้ของปราสาทนอยชวานสไตน์ ตกเป็นของรัฐบาวาเรีย  แต่รายได้ของปราสาทโฮเฮนชวางเกา เป็นของตระกูลวิทเทลสบาค 

               หากพระเจ้าลุดวิก ที่ 2 จะทราบเหตุการณ์ความเป็นไปในวันนี้ได้  พระองค์จะรู้สึกอย่างไร 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *