ก่อนจะมาเป็นกีฬาโอลิมปิค(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 กันยายน 2559 )

ก่อนจะมาเป็นกีฬาโอลิมปิค(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กีฬาโอลิมปิค ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิคสากล พยายามสร้างภาพว่า  “เป็นกีฬาแห่งมวลมนุษย์ชาติ”  ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 5 – 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ในประเทศบราซิล ได้ปิดฉากลงแล้ว

               นับว่าเป็นกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ล้มเหลวที่สุด  ทั้งในแง่จำนวนผู้ชม  รายได้  และ  ความโปร่งใส

               แต่วันนี้ผมจะเขียนถึงเรื่องราวความเป็นมาของกีฬาโอลิมปิคเท่านั้น

               ก่อนอื่น   เราจะต้องเข้าใจถึงจิตวิญญาณของชาวกรีกโบราณเสียก่อน  จึงจะสามารถเข้าถึงกีฬาโอลิมปิคที่ชาวกรีกได้คิดขึ้น

               “จงเป็นเลิศ และไม่เป็นรองใคร”  เป็นคำกล่าวของ เพลิอุส (PELEUS) ผู้เป็นบิดาของ อาคิเลส(ACHELES) ซึ่งร่วมเดินทางไปรบในสงครามโทรแจน ที่กรุงทรอย


(อาคิเลส รับบทโดย แบรต พิตต์ ในภาพยนตร์เรื่อง ทรอย)

               โฮเมอร์ ได้เขียนเรื่องสงครามทรอย ในมหากาพย์ “อีเลียด” และได้สะท้อนจิตวิญญาณของชาวกรีกโบราณออกมาได้อย่างชัดเจน  

               จิตวิญญาณที่กระหายจะเป็นหนึ่งในทุกการแข่งขัน 

               และในการศึกสงคราม   เมื่อมีนักรบจำนวนมากเสียชีวิต  ชาวกรีกจะหยุดการรบไว้ชั่วคราวเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาขึ้นมาเป็นเกียรติแก่นักรบเหล่านั้น

               อะคิเลส ก็เคยจัดการแข่งขันที่ว่า  เพื่ออุทิศให้แก่ พาโทรโคลส (PATROKLOS) สหายของเขา


(แผนที่ โลกเมดิเตอร์เรเนียน จะเห็นอียิปต์ ในสีเหลืองเข้ม กรีกในสีชมพู และ ชนเผ่าฮิตไทต์ ในสีม่วง)

               ว่ากันว่า  นี่คือต้นเค้าความคิดของกีฬาโอลิมปิค   แต่ไม่ใช่เหตุผลเดียว    เพราะการเล่นกีฬานั้น  ไม่ใช่กรีกเป็นชาติแรกที่เริ่มเล่นกีฬา   หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่า  ในอียิปต์โบราณมีประเพณีที่คล้ายกับการต่อสู้ หรือ ออกกำลังกายในสนามกีฬา ซึ่งมีมาก่อนกรีกหลายพันปี 

               ประเพณีนี้  อียิปต์โบราณเรียกว่า เฮบเสด (HEB SED) ซึ่งเป็นประเพณีที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่า  ฟาโรห์ของพวกเขา  ยังมีสุขภาพแข็งแกร่ง และมีความสามารถพอที่จะครองราชย์ต่อไปได้อีก 


(ฟาโรห์ ซอร์เซอร์ ผู้สร้างพีระมิดแบบขั้นบันได ในพิธีเฮบ เสด เพื่อต่ออายุการครองราชย์)

               ประเพณีที่ว่านี้ก็คือ  ฟาโรห์จะลงไปต่อสู้กับวัวกระทิงในสนามหลังจากครองราชย์มาแล้ว 29 หรือ 30 ปี  หากฟาโรห์สามารถเอาชนะวัวกระทิงได้  ก็แสดงว่า  พระองค์จะได้ครองราชต่อไปได้  หลังจากนั้น   ก็จะต้องทำพิธีนี้อีกในทุกๆ 3 ปี  

               ว่ากันว่า  ก่อนการต่อสู้กับวัวกระทิง  อาจจะมีการวางยา หรือ มอมให้วัวกระทิงเมาเสียก่อน  เพื่อฟาโรห์จะสามารถเอาชนะได้โดยไม่ยาก 

               ท่านที่สนใจจะเดินทางไปกับผม เพื่อไปชมสนามสู้กระทิง ในพิธี เฮบ เสด ดังกล่าวในอียิปต์  ระหว่างวันที่  3 -13 ธันวาคมนี้  เชิญสำรองที่นั่งได้ที่ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ โทร 02 651 6900

               ประเพณีดังกล่าวนี้  ได้รับเผยแพร่ไปยังแผ่นดินกรีก  ผ่านทางนักรบรับจ้างชาวกรีกที่มารบในอียิปต์โบราณ  จนกลายเป็นประเพณีกระโดดวัว (BULL LEAPING) ในหมู่ชาวกรีก  


(ประเพณีกระโดดวัว ที่มาเฟื่องฟูบนเกาะครีต)

               ภาพกีฬากระโดดวัวนี้  จะเห็นได้มากบนเครื่องถ้วยโบราณของกรีก  และ  ภาพเขียนฝาผนังในพระราชวัง นอสซอส บนเกาะครีต ซึ่งอยู่ประมาณครึ่งทางระหว่างอียิปต์ กับ กรีซ   


(เมือง นอสซอส ที่ตั้งอยู่บนเกาะครีต)   

               นอกจากกีฬากระโดดวัวแล้ว   ภาพเขียนจำนวนมากบนเกาะครีตยังแสดงถึงกีฬาที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้นอีกหลายชนิด  เช่น  กีฬาประเภทยิมนาสติค  กีฬาชกมวย และ กีฬามวยปล้ำ 

               จากมหากาพย์ของโฮเมอร์  ทำให้เราได้ทราบว่า  กีฬาจากเกาะครีตที่แพร่หลายมาสู่เมือง ไมซีเน่ บนแผ่นดินกรีก ได้รับความนิยมละเล่นกันในหมู่ชาวกรีกทั่วทุกหัวระแหง 


(แผนที่กรีกโบราณ  และ อาณาจักรไมซีเน่)

               ทุกคนต่างก็ใฝ่ฝันที่จะเป็นหนึ่งเหนือคู่ต่อสู้   เด็กหนุ่มต่างก็พยายามพัฒนาร่างกายของตนเอง ให้มีศักยภาพเหนือผู้อื่น 

               การต่อสู้ทุกประเภทจะได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก  คนดูจะเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในการต่อสู้ของนักกีฬาทั้งสองฝ่าย  และ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะกลายเป็นขวัญใจของคนดูเหล่านี้ก็ได้  

               เนื่องจากชาวไมซีเน่กรีก  เป็นพวกที่ชอบทำศึกสงคราม  กีฬาบางชนิดจึงได้รับการพัฒนาให้มีความหลากหลายตามแนวคิด และ รสนิยมของชาวไมซีเน่   เช่น  การแข่งรถม้า   แบบในภาพยนตร์เรื่อง เบน เฮอร์  , กีฬาวิ่งแข่ง  ,  ชกมวย  และ  มวยปล้ำ 


(นักกีฬาของกรีกโบราณ  ใช้เครื่องมือขูดเอาขี้ฝุ่นที่ติดตามตัวออกจากร่างกาย)

               กีฬาสองอย่างหลังนี้   ได้รับความนิยมอย่างมากในดินแดนของชาวกรีก   และ แพร่หลายออกไปตามเกาะแก่งต่างๆ  และ แผ่นดินอื่นๆที่ชาวกรีกได้อพยพไปสร้างอาณานิคมของตนเองขึ้น อาทิเช่น  เมืองเอฟฟิซัส(EPHESUS) ,  เดลฟี(DELPHI)  , เบอร์กามอน(BERGAMON)  และ ทรอย(TROY)  ที่อยู่ในประเทศตุรกีในปัจจุบันนี้ 


(ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก  มีเมืองอาณานิคมของกรีกตั้งอยู่มากมาย  อาทิ เมือง เอฟฟิซัส)

               นอกเหนือจากเรื่องกีฬาการต่อสู้แล้ว   ชาวกรีกโบราณยังให้ความสำคัญในเรื่อง “การศึกษา” อย่างมาก  เพราะเขาเชื่อว่า  ร่างกายมนุษย์เป็นส่วนประกอบของ “ร่างกาย” และ “จิตวิญญาณ”  การศึกษาที่จะให้แก่มนุษย์  จึงต้องให้ทั้งสองอย่างพร้อมกัน    

               ปรัชญากรีกโบราณ กล่าวไว้ว่า  จิตวิญญาณจะไม่สามารถคงอยู่ได้  หากปราศจากร่างกายที่เข้มแข็ง  และ ร่างกายที่เข้มแข็งแต่ปราศจากจิตวิญญาณ  ก็จะเป็นร่างกายที่หาค่าอะไรมิได้เช่นกัน

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *