สาธารณรัฐเชก ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 สิงหาคม 2559 )

สาธารณรัฐเชก ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในอดีตเมื่อประมาณห้าร้อยปีที่แล้ว  ประเทศสาธารณรัฐเชก หรือ ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า  อาณาจักรโบฮีเมีย  เคยมีความยิ่งใหญ่ในยุโรปกลาง  เนื่องจากกษัตริย์ของโบฮีเมียในยุคนั้นคือ พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 4 สามารถผลักดันตัวเองจนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ 

               หลังจากนั้น  ตำแหน่งนี้ก็ถูกราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก แห่งออสเตรีย ยึดครองไปตลอดจนกระทั่ง อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกประกาศยุบเลิกไปในปี ค.ศ 1806

               อาณาจักรโรมันอันศักดิสิทธิ์ ว่าไปแล้วก็เปรียบเหมือนกองทัพส่วนตัวของ สันตะปาปาแห่งโรม  และเป็นกองกำลังหลักในการทำสงครามครูเสด เพื่อแย่งชิงเมืองเยรูซาเล็มกลับคืนจากกองทัพอิสลาม

               แต่การรวมตัวกันขึ้นเป็น อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นการรวมตัวกันของเจ้าผู้ครองนคร 4 คนและ ผู้นำทางศาสนาคริสต์ในตำแหน่งอาร์คบิชอปอีก 3 องค์ที่อยู่ในยุโรปกลาง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเยอรมันในปัจจุบัน  รวมถึงโบฮีเมีย และ โมราเวีย หรือ ประเทศสาธารณรัฐเชกในปัจจุบัน

               จำนวนผู้ทำหน้าที่เลือกตัวจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันฯจะขยับขึ้นลงจาก 7 เป็น 8 และ 9  เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ 

               แต่บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่างๆ ซึ่งจะทำหน้าที่เลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ มักจะนึกถึงแต่ผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าจะคิดถึงผลประโยชน์ของอาณาจักรโรมันฯ 


(อนุสาวรีย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 4 ที่ตั้งอยู่ตรงเชิงสะพานชาร์ลส์ )

               แต่แรก  มีสมาชิกผู้ทำหน้าที่ลงมติเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันฯ จำนวน 8 คน  ส่วนหนึ่งเป็นบิชอป  ที่เหลือเป็นกษัตริย์ในแคว้นเล็กๆของเยอรมัน 

               เนื่องจากบรรดาผู้เลือกตั้งล้วนเป็นผู้ครองนครเล็กๆ   เขาจึงมักจะเลือกเอาคนที่อ่อนแอที่สุด ที่มีอำนาจน้อยที่สุด มาเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันฯ  ด้วยเหตุผลว่า จักรพรรดิจะได้ไม่มารุกรานตนเอง

               ในปีค.ศ. 1346  พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 4 แห่งโบฮีเมีย ซึ่งมีพื้นฐานมาจากลักเซมเบิร์ก ก็ได้รับเลือกให้เป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันฯ ด้วยเหตุผลทางการเมือง


(รูปสลักของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่พิพิทภัณฑ์นูเร็มเบิร์ก  อันเป็นที่ประทับของจักรพรรดิ)

               พระองค์ได้สร้างคุณูปการไว้มากมายแก่โบฮีเมีย  อย่างน้อยที่สุด  สะพานชาร์ลส์ ก็เป็นสะพานหินที่สวยงามและคงทนมาจนทุกวันนี้  ก็เป็นผลงานของพระองค์ 

               มหาวิทยาลัยแห่งแรกของยุโรปกลาง  ก็ก่อตั้งโดยพระเจ้าชาร์ลส์  และยังคงอยู่จนทุกวันนี้   

               สำหรับท่านที่สนใจที่จะร่วมเดินทางไปกับ ผม และ ท่านอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข  คุณวิทยา แก้วภราดัย ในโปรแกรม สาธารณรัฐเชก โบฮีเมีย และ โมราเวีย  ระหว่างวันที่ 4 – 11 พฤศจิกายน นี้ สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900 หรือ  02 308 0555


(บนสะพานชาร์ลส์ )

               กลับมาพูดถึง ประเทศสาธารณรัฐเชก ในยุคที่ใกล้เข้ามาอีกหน่อย  คือในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต  


(โรงอาบน้ำแร่ของเมือง มาเรียสเก้ ลาสเน อันเป็นสถานที่พบปะของไฮโซในยุคนั้น  แม่กระทั่ง สุลต่านแห่งอ๊อตโตมาน)

               ชีวิตของชาวเชกโกสโลวักเกีย ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต อาจจะไม่ค่อยมีสิทธิเสรีภาพ  และ ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหารการกินเท่ากับโลกเสรีนิยม 

               การซื้อของกินบางชนิด  ต้องใช้เวลาในการเข้าคิวเพื่อรอซื้อของเป็นเวลานานหลายชั่วโมง   จนกระทั่ง  พวกโลกเสรีนิยมอย่างอเมริกาเอาไปล้อเลียนว่า   ชาวโซเวียตรัสเซีย ต้องใช้เวลาประมาณครึ่งชีวิตในการเข้าคิวซื้อของ 


(เมืองมาเรียนสเก  ลาสเน เมืองแห่งความรักของ เกอเต้ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง  เป็นช่วงที่ผมพาทัวร์ไป สาธารณรัฐเชกฯ ในเดือน พฤศจิกายนนี้พอดีครับ)

               นอกจากนี้  อเมริกายังโฆษณาชวนเชื่อต่างๆนานาเกี่ยวกับประเทศในโลกคอมมิวนิสต์ว่า  ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพใดๆเลย  ไม่มีโอกาสแม้จะเดินทางไปไหนต่อไหนเลย  เป็นต้น

               กระนั้นก็ตาม  ในช่วงท้ายก็คือในราวทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา   ชาวเช็กโกฯ ก็มีโอกาสที่จะเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น  ด้วยเหตุผลทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว  และ  ไปเยี่ยมญาติ 


(อาหารของเช็กฯ ส่วนใหญ่ถูกปากคนไทย  แม้กับผู้ที่ไม่ชอบอาหารของยุโรปก็ตาม ในภาพเป็นหมูย่าง ) 

               ผมได้รับการบอกเล่าจากไกด์ท้องถิ่นว่า  ในยุคนั้น  มีการจัดทัวร์จากประเทศเช็กโกฯไปเที่ยวต่างประเทศ  เช่น  ประเทศออสเตรียที่มีพรมแดนติดกันโดยทางรถบัส

               ตอนขาออกจากประเทศมีผู้โดยสารเต็มคันรถประมาณ 40 คน    แต่พอขากลับ   ปรากฏว่าเหลือแต่คนขับรถเพียงคนเดียวขับรถกลับประเทศ 

               เพราะลูกทัวร์ทั้งหมดต่างก็พากันหนีเพื่อขอลี้ภัยไปอยู่ในประเทศออสเตรีย หรือ ประเทศที่สามอื่นๆกันทั้งนั้น 


(ขนมหวาน คล้ายๆกับโดนัน พันรอบไม้ปิ้งไฟ แล้วโรยด้วยน้ำตาล  อร่อยมาก)

               พวกที่หนีทัวร์ในช่วงแรกๆก็รอดตัวไป   เพราะตอนหลังก็ดูเหมือนจะมีการห้ามกัน

               นอกจากทางรถแล้ว   ก็ยังมีการหนีทางอากาศอีกด้วย 

               ในยุคนั้น  การคมนาคมทางอากาศของประเทศเช็กโกฯส่วนใหญ่จะติดต่อกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์  เช่น  รัสเซีย  จีน  และ  คิวบา ภายใต้การปกครองของ ฟิเดล  คาสโตร

               ดังนั้น   การเดินทางไปคิวบา สำหรับชาวเช็กโกฯ  จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้  ทั้งในแง่การคมนาคมที่มีเครื่องบินไปถึง และ เป็นไปได้เพราะเป็นประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดียวกัน 

               ก็จึงมีชาวเช็กโกฯจำนวนมากเดินทางไปคิวบา  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการค้า หรือ เยี่ยมญาติก็ตาม

               แต่เนื่องจากเครื่องบินที่บินไปคิวบา  มักจะลงจอดเพื่อแวะเติมน้ำมัน หรือ  รับส่งผู้โดยสารที่ฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกา  จึงปรากฏว่า  ผู้โดยสารที่เป็นชาวเช็กโกฯ บางคนหนีลงจากเครื่องบินโดยไม่ได้รับอนุญาต  หรือ ไม่ก็หนีจากห้องผู้โดยสารรอเปลี่ยนเครื่องบิน เพื่อขอลี้ภัยการเมืองกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของฟลอริดา 

               ทางการสหรัฐฯเอง ก็ต้อนรับขับสู้คนเหล่านี้อย่างดี  เพราะจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อว่า  ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของตัวเอง  ดีกว่าระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต

               จนกระทั่ง  ชาวเช็กโกฯจำนวนมากอาศัยช่องทางนี้ในการลี้ภัย  ทางการตรวจคนเข้าเมืองของฟลอริดา  คงจะขี้เกียจตอบคำถามพวกผู้ลี้ภัย  ที่มักจะมาถามว่า  หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองไปทางไหน   จึงติดป้ายประกาศเสียเลยว่า

               “ผู้ขอลี้ภัย  เชิญทางนี้”

               ผมไม่แน่ใจว่า  นางแมดเลลีน อัลไบร์ท (MADELEINE JANA KORBEL ALBRIGHT) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งก็มีบิดาเป็นผู้ลี้ภัยชาวเช็กโกฯเหมือนกัน  แท้ที่จริงแล้ว   เธอลี้ภัยเข้าอเมริกาด้วยวิธีนี้หรือไม่ 


(นางแมดเดลีน อัลไบร์ท)

               สัปดาห์หน้า  ผมจะเขียนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกีฬาโอลิมปิค ครับ         

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *