“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 22)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 พฤษภาคม 2559)

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 22)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในยามที่ดวงชะตาตกต่ำ หรือ ไม่ดี   ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ดูเหมือนว่าจะผิดไปเสียทุกอย่าง  ทุกสิ่งที่ร้ายๆดูเหมือนจะพร้อมใจกับถาโถมเข้ามา

               ปีที่ 7 ของการร่วมชีวิตกับพระองค์อาภัส ของหม่อมมณี  ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งคู่กำลังเสื่อมถอย  ก็เริ่มมีเค้าลางของความขัดแย้งที่จะเพิ่มขึ้นอีก 

               มิสดอริส  มารดาของหม่อมมณี เขียนจดหมายจากอังกฤษมาหา บอกว่า อยากจะมาอยู่เมืองไทย  ทั้งนี้เพราะพี่ชายคนเดียวของหม่อมมณี ได้เขียนจดหมายไปขอให้มารดาเข้ามาอยู่ด้วย

               โดยที่พี่ชาย และ มารดามีแผนในการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำงานด้วยกัน


(สนใจซื้อหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ที่คุณเพชรชมพู โทร  099 425 9112 รายได้มอบให้แก่ มูลนิธิ มณี สิริวรสาร เพื่อเป็นกองทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษาที่ยากไร้)

               พี่ชายของหม่อมมณี ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเลยตั้งแต่เด็ก  ดังจะเห็นได้ว่า  คุณหญิงมณีแทบจะไม่ได้เขียนถึงพี่ชายคนนี้เลย   ซ้ำมารดาหม่อมมณีก็ไม่ค่อยจะลงรอยกับพระองค์อาภัสตั้งแต่อยู่ในประเทศอังกฤษแล้ว 

               เมื่อพระองค์อาภัส ทราบเรื่องนี้ก็ไม่พอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง  บอกว่า  มารดาของหม่อมมณี อยู่ในลอนดอนก็มีความสุขดีอยู่แล้ว  เพราะมีเงินค่าใช้จ่ายรายเดือนที่หม่อมมณีได้จัดสรรไว้ให้แล้ว  จะมาทำการค้าอะไรในเมืองไทยอีก  

               ยิ่งไปกว่านั้น  พระองค์อาภัสไม่โปรดพี่ชายของหม่อมมณีเลย  เพราะเคยพบกันสองสามครั้งก็พูดจาไม่ถูกหูกัน   พระองค์อาภัสจึงไม่ประสงค์ให้หม่อมมณีไปยุ่งเกี่ยวด้วย  เพราะไม่ไว้ใจเกรงว่าทั้งสองจะสร้างความเดือดร้อนขึ้นมา  

               แต่คนหนึ่งคือมารดา  อีกคนหนึ่งก็คือพี่ชายสายเลือดเดียวกันคนเดียวที่เหลืออยู่

               มารดาของหม่อมมณี เขียนจดหมายยืนยันมาว่า  เธอจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ลูกสาวแน่นอน  อีกทั้งพี่ชายก็รบเร้าอยู่ตลอดเวลา   ในที่สุด  หม่อมมณีก็ยอมส่งเงินไปให้มารดาเพื่อเป็นค่าเดินทางมาเมืองไทยอีกครั้ง


(คุณหญิงมณี  ถ่ายภาพกับมารดาบนเรือเดินสมุทร  ไม่ทราบสถานที่และเวลาที่แน่นอน)

               สิ่งแรกที่มิสดอริส ได้บอกแก่หม่อมมณี เมื่อถึงเมืองไทยก็คือ  นางได้โอนสิทธิ์เงินรายได้ประจำปีที่หม่อมมณีได้จัดสรรไว้ให้ ไปให้แก่บริษัทเงินทุนแห่งหนึ่ง แลกเปลี่ยนกับการรับเงินก้อนโตครั้งเดียว  ซึ่งนางหวังจะเอาเงินก้อนนั้นมาตั้งบริษัทร่วมงานกับลูกชายของนาง 

               หายนะรออยู่ข้างหน้าแล้ว 

               เพราะเงินรายปีที่หม่อมมณี จัดสรรไว้ให้มารดานั้น ก็เพื่อที่จะให้นางสามารถจะมีชีวิตที่เหลือได้อย่างไม่ลำบาก   แต่นางกลับยอมเสี่ยงทุกอย่างด้วยเงินทั้งชีวิตในการทำธุรกิจร่วมกับลูกชาย 

               ทั้งๆที่ในอดีต   นางเองก็เคยทำธุรกิจหลายครั้ง  และก็ล้มเหลวทุกครั้ง 


(ดวงชะตาของคุณหญิงมณี  สิริวรสาร)

               บริษัทที่พี่ชายของหม่อมมณี ตั้งขึ้นโดยเล็งผลเลิศว่าจะร่ำรวยใหญ่โตก็คือ  บริษัทจัดหางาน 

               เมื่อแรกเปิด  มีคนมาสมัครหางานทำกันมาก  ทำให้บริษัทได้รับเงินค่าสมัครมหาศาล   แต่เมื่อเวลาผ่านไป  บริษัทไม่สามารถหางานให้แก่คนที่เสียเงินสมัครมาได้  คนเหล่านี้ก็ฟ้องร้องบริษัท  บริษัทถูกปรับ และต้องคืนค่าสมัคร   ทำให้ขาดทุนย่อยยับจนต้องปิดสำนักงาน

               เมื่อหมดเงิน  มิสดอริส ก็หันมาขอเงินจากหม่อมมณี อีกครั้งเป็นเงิน 2 แสนบาท  และสัญญาว่า  ถ้าได้รับเงินก้อนนี้แล้ว  จะไม่มารบกวนอีกเลย 

               เมื่อหม่อมมณีเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับพระองค์อาภัส ในฐานะสามี  ท่านก็โกรธมาก  สั่งห้ามหม่อมมณี ไม่ให้จ่ายเงินให้แก่มารดาอีก  บอกว่า  ควรจะจ่ายเงินให้เป็นรายเดือนเพียงพอที่อยู่มีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น 

               เมื่อมิสดอริส ได้ทราบเรื่องก็โกรธหม่อมมณี  และด่าว่าอย่างรุนแรง หาว่าไม่ยกย่องมารดาให้มีศักดิ์ศรี  และว่าเป็นคนอกตัญญูเนรคุณ ทั้งๆที่เป็นผู้เลี้ยงดูเธอขึ้นมา    และ ยังประณามพระองค์อาภัส โดยเอาไปเปรียบเทียบกับพระองค์จิรศักดิ์ ว่า  หากพระองค์จิรศักดิ์ยังอยู่  คงจะดูแลแม่ของภรรยาอย่างดีแน่นอน 

               เมื่อถูกมารดาด่าว่าขนาดนี้  ลูกคนไหนจะทนได้  

               ในที่สุด  หม่อมมณีก็ยอมจ่ายเงิน 2 แสนบาทให้มารดา  ซึ่งเธอก็คลายความโกรธต่อลูกสาวทันที

               แต่เมื่อหม่อมมณี เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้พระองค์อาภัสฟัง  ท่านกริ้วมาก  และไม่ยอมพูดกับหม่อมมณีไปหลายวัน  หม่อมมณีไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย  แต่พยายามเอาใจสามีทุกวิถีทาง  จนพระองค์อาภัสหายกริ้ว   แต่ก็รับสั่งว่า 

               จะไม่ขอพบมารดาของหม่อมมณีอีกเลย  และ  จะไม่ยอมให้พี่ชายของหม่อมมณีเข้าบ้าน


(กรุงเทพในราวปีพ.ศ. 2493 ใกล้เคียงกับยุคสมัยที่คุณหญิงมณี ได้กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้  แต่ภาพนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในหนังสือแต่อย่างใด  ขอขอบคุณเจ้าของภาพไว้ ณ.ที่นี้ด้วย)

               เมื่อได้เงินไป 2 แสนบาท  มิสดอริส ก็ใช้ชีวิตอย่างราชาอีกครั้ง  ซื้อรถยนต์  จ้างคนขับรถ  จ้างคนใช้ในบ้าน  จ้างคนสวน   มีเพื่อนฝูงมากมาย  สมัครเป็นสมาชิกของสโมสรราชกรีฑา และ สโมสรราชตฤณมัย  ใช้เวลานั่งชมม้าแข่งทุกเสาร์-อาทิตย์

               ใครๆก็รู้ว่า   นางเป็นภรรยาของอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำลอนดอน  สถานทูตต่างๆหลายแห่งเชิญนางไปร่มงานเลี้ยงตามสถานทูตเสมอ  เธอออกงานสังคมมากมายจนเป็นที่รู้จักกันในแวดวงสังคมชั้นสูงทั่วไป 

               ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของมิสดอริส  แต่ก็สุขได้ไม่นาน

               พี่ชายของหม่อมมณี ได้ชวนมารดาไปทำธุรกิจอีกครั้ง   ผลก็คือ  กิจการขาดทุนเสียหายหมด  เงิน 2 แสนบาทละลายหายวับไปกับตา

               เมื่อหมดเงิน   มิสดอริส ก็หันกลับมาหาหม่อมมณี เพื่อขอเงินอีก 2 แสนบาท  ด้วยหวังว่า  หากได้เงิน 2 แสนบาทนี้   ก็จะช่วยทำให้กิจการฟื้นตัวกลับคืนมาได้ และจะได้กำไรงดงาม

               เมื่อหม่อมมณี บอกว่า  ต้องปรึกษากับพระองค์อาภัสก่อน  เพราะเป็นเงินจำนวนมาก   มิสดอริสก็ด่าว่าหม่อมมณี ว่าอยู่ภายใต้อำนาจของสามีเกินไป  แค่มารดาคนเดียวก็ช่วยเหลือไม่ได้ 

               เมื่อหม่อมมณี เอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับพระองค์อาภัส  ท่านก็เกรี้ยวกราดเป็นการใหญ่  และยื่นคำขาดกับหม่อมมณี ให้ส่งมารดากลับไปอังกฤษตามเดิม และจะส่งเงินค่าเลี้ยงดูไปให้เป็นรายเดือน 

               หากมิสดอริส ขัดขืนดื้อดึงไม่ยอมกลับ  จะไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแต่อย่างใดอีกเลย 

               เมื่อหม่อมมณี บอกเรื่องนี้ให้แก่มารดาของเธอ  มิสดอริส รับฟังเรื่องทั้งหมดด้วยความสงบ   หลังจากนั้นอีก 2-3 วัน  มิสดอริส ก็กลับมาหาหม่อมมณีอีกครั้ง  แล้วบอกว่า  จะกลับอังกฤษ

               เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจแก่หม่อมมณีมากว่า   ทำไมมารดาของเธอจึงยอมรับเงื่อนไข และเดินทางกลับอังกฤษอย่างง่ายดายขนาดนั้ย

               สัปดาห์หน้าจะมาเฉลยครับ 

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)            

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *