“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 25)

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 พฤษภาคม 2559 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 25)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ดวงชะตาของคุณหญิงมณี ชี้ว่า  ชีวิตของเธอต้องผกผันเปลี่ยนแปลงเสมอ  หากได้ลาภใดมา  ก็มักจะต้องมีการสูญเสียบางอย่างไป   และ ในทางตรงกันข้าม  หากเธอสูญบางสิ่งบางอย่างไป  ก็มักจะได้ลาภบางอย่างกลับคืนมาด้วย


(ดวงชะตาของคุณหญิง มณี สิริวรสาร)

               ในปีพ.ศ. 2492   รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กลับสู่พระนคร

               ก่อนหน้านั้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  รัฐบาลจอมพล ป. ได้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งคุณหญิงมณีได้เขียนในหนังสือเล่มนี้ว่า 

               “รัฐบาลซึ่งมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยต่อศาลว่า พระองค์ได้ทรงขนและโยกย้ายทรัพย์สมบัติ และทรัพย์สินเงินทองออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย  และศาลได้อายัดทรัพย์สินเงินทองส่วนกระองค์ รวมทั้งวังสุโขทัยที่กรุงเทพฯไว้ทั้งหมดแล้ว”

               แต่เนื่องจากติดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่สามารถเดินทางจากอังกฤษมาแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลในไทยได้  ศาลจึงได้พิพากษาตัดสินให้สมเด็จพระปกเกล้าฯเป็นผู้แพ้  และได้ลงโทษปรับเงินจำนวน 6 ล้านบาท 


(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในวันอภิเษกสมรสของ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ กับ นางสาวมณี ซึ่งทำให้หม่อมมณีได้รับพระราชมรดกตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม)

               คุณหญิงมณี ได้เขียนต่อไปว่า

               “เมื่อรัฐบาลทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จกลับประเทศไทย  จึงได้มีการเจรจาประนีประนอมโดยยอมคืนวังสุโขทัยให้เป็นที่ประทับของสมเด็จตลอดพระชนม์ชีพ    และได้ตีราคาทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน รวมทั้งตัววังสุโขทัย เป็นเงิน 6 ล้านบาท เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สิ่งของที่อยู่ในวังสุโขทัยทั้งหมด   และที่ดินที่เหลือจากการตีราคาใช้หนี้รัฐบาลไปนั้น ก็ถวายคืนสมเด็จ” 

               ดังนั้น  ผู้จัดการผลประโยชน์ และผู้จัดการพระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ คือ ม.จ.อุปลีสาน ชุมพล จึงได้ทรงดำเนินการแบ่งพระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตามพระราชพินัยกรรมที่ได้ทรงทำไว้ที่เมืองไทยก่อนที่จะเสด็จไปประทับในต่างประเทศ  

               ในพินัยกรรมระบุว่า  พระราชทานวังสุโขทัยให้แก่พระองค์จิรศักดิ์สุประภาต  โดยมีเงื่อนไขว่า ให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีมีสิทธิ์ประทับที่วังสุโขทัยจนตลอดพระชนม์ชีพ  เว้นแต่ทรัพย์สินและสิ่งมีค่าทุกอย่างที่ทรงได้รับมรดกโดยตรงจากสมเด็จพระพันปีหลวง  ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีแต่พระองค์เดียวโดยสิ้นเชิง

               แต่ด้วยปัญหาทางกฎหมาย (ซึ่งขอให้ท่านผู้อ่านติดตามอ่านในหนังสือโดยตรง)   จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการแบ่งพระราชมรดกไปตามกฎหมายไทย  คือ  แบ่งกันคนละครึ่ง  ภาคลูก และ ภาคเมีย  แยกออกเป็นสองกองให้มีราคาไล่เลี่ยกัน  รวมทั้งข้าวของในวังสุโขทัยด้วย 

               ประกอบด้วยที่ดินทั้งหมด 22 แปลง  แต่อีก 2 แปลงที่อยู่หลังวังสุโขทัย สมเด็จฯต้องการจะได้เอาไว้  จึงขอแลกกับที่ดินว่างเปล่า 10 ไร่ที่ถนนเพลินจิต


(ถนนเพลินจิต ปีพ.ศ. 2512  พื้นที่ว่างด้านขวามือ  เป็นที่ดินของคุณหญิงมณีที่ได้จากพระราชมรดก  ขอขอบคุณเจ้าของภาพ  ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               การแบ่งมรดกที่ดินก็เป็นไปแบบเรียบง่าย คือ  ม.จ.อุปลีสาน ได้ทำสลากเอาไว้ 20 ใบ  แล้วให้สมเด็จฯเป็นผู้จับก่อน 10 ใบ ที่เหลือก็จะเป็นของหม่อมมณี  ซึ่งมาจับสลากในฐานะตัวแทนของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์

               จากนั้นก็จะเป็นการแบ่งอสังหาริมทรัพย์  เช่น เครื่องเรือน เครื่องถ้วยชาม เครื่องแก้ว  พระพุทธรูป และ เครื่องสักการะต่างๆในห้องพระ   โดยจัดวางสิ่งเหล่านี้เรียงรายกันไป  สมเด็จฯประสงค์สิ่งใดก็หยิบออกไป  หม่อมมณีชอบอะไรก็หยิบออกไป ประมาณว่าแบ่งกันคนละครึ่ง

               ที่เหลือก็จะให้พ่อค้าชาวจีนหลายรายจากบ้านหม้อมาคอยตีราคาประมูลกัน  ทำให้หม่อมมณีได้รับเงินสดจากการจำหน่ายสิ่งเหล่านี้ไปมากพอสมควร 

               ในระหว่างที่มีการแบ่งทรัพย์มรดกอยู่นี้   คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พระองค์อาภัส แอบมีสัมพันธ์ลับกับแม่แก้วจนหม่อมมณีจับได้   พระองค์อาภัส จึงย้ายออกไปจากบ้านไปอยู่ข้างนอก   แต่ก็ยังไม่มีการหย่าร้างอย่างเป็นทางการ 

               ขุนเจนฯ ซึ่งคุณหญิงมณีระบุในหนังสือว่า  เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้คุณหญิง  พยายามอย่างมากที่จะให้หม่อมมณี กลับมาคืนดีกับพระองค์อาภัส  ได้ขอร้องให้หม่อมมณี เดินทางไปอยู่ต่างประเทศสักพัก จนกว่าพระองค์อาภัส จะได้สติเลิกหลงใหลแม่แก้ว

               ขุนเจนฯ มั่นใจว่า  เมื่อพ้นไปสักระยะหนึ่งแล้ว  พระองค์อาภัสจะกลับมาคืนดีกับหม่อมมณีแน่นอน 

               อย่างที่ผมได้เขียนไปในตอนก่อนว่า   บุคลิกของคุณหญิงมณีก็คือ  เป็นคนปากกับใจตรงกัน  กล้าพูดแบบที่คิด  ซึ่งสะท้อนออกมาในข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้ 


(สนใจซื้อหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ที่คุณเพชรชมพู โทร  099 425 9112 รายได้มอบให้แก่ มูลนิธิ มณี สิริวรสาร เพื่อเป็นกองทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษาที่ยากไร้)

               คุณหญิงมณี ได้เขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

               “ตลอดเวลา 3 วัน ที่ข้าพเจ้าไปวังสุโขทัย เพื่อไปรับส่วนแบ่งพระราชมรดก  บรรยากาศในวังก็ไม่สู้แจ่มใสนัก  ซึ่งก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอะไร  เพราะผู้ที่อยู่ในวังสุโขทัยส่วนมากล้วนเป็นพระญาติ หรือเป็นข้าราชบริพารเก่าแก่……………

               ………….หลายคนมองดูข้าพเจ้าด้วยสายตาและสีหน้าที่แสดงความรู้สึกไม่พอใจ  แต่ข้าพเจ้าเองก็มิได้เคยมีความรู้สึกโกรธตอบหรือแค้นเคืองพวกเขาเลยแต่ประการใด  ข้าพเจ้าเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกของเขาดีว่า  คนธรรมดาๆเช่นข้าพเจ้าไม่น่าจะมีสิทธิมารับแบ่งทรัพย์สมบัติ และมาจับสลากร่วมกับสมเด็จ” 

               คุณหญิงยังได้เขียนเล่าถึงบรรยากาศในช่วงปีพ.ศ. 2492 เอาไว้อีกว่า

               “ในยามนั้น  สังคมเมืองไทยลือกระฉ่อนถึงเรื่องราวของข้าพเจ้า ในการที่ได้รับแบ่งพระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ   เพื่อนฝูงต่างก็ตื่นเต้นเป็นกำลังในการที่ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ ในการรับพระราชมรดกของสมเด็จพระปกเกล้าฯ   แต่ตัวข้าพเจ้าเองกลับรู้สึกเฉยๆ……. ตรงกันข้าม ข้าพเจ้ากลับรู้สึกเป็นกังวล และหนักใจที่จะต้องดูแลปกป้องรักษาสมบัติที่ได้รับมานี้ต่อไป”

               ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปตามดวง   เมื่อเธอได้บางอย่างมา  เธอจะต้องสูญเสียบางอย่างไป   

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ   

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)            

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *