ทำไม ครัวไทยสู้ครัวจีนไม่ได้ในต่างประเทศ

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 มกราคม 2560 )

ทำไม ครัวไทยสู้ครัวจีนไม่ได้ในต่างประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               “ครัวไทย ไป ครัวโลก”  คำขวัญที่สร้างจากความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศว่า   อาหารไทยอร่อยไม่เป็นรองใคร 

               แต่เมื่อไปเที่ยวในต่างประเทศ  ที่ยากจะหาอาหารไทยทานได้  ก็ต้องอาศัยอาหารจีนที่มีอยู่เกลื่อนกลาดไปทั่วทั้งยุโรป   แต่รสชาติก็ยังไม่ค่อยถูกปากคนไทยนัก  จะว่าไปเมื่อประมาณ 20ปีก่อน  รสชาติอาหารจีนทุกร้านในยุโรปแทบจะเหมือนกันราวกับปรุงโดยกุ๊กคนเดียวกัน

               แต่พักหลัง   อาหารจีนในยุโรปค่อยๆพัฒนาขึ้น   รสชาติเริ่มมีความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารท้องถิ่นของจีนแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน  เช่น อาหารแบบกวางตุ้ง  แบบเจ้อเจียง  แบบเสฉวน  แบบเจียงซู  เป็นต้น 

               เนื่องจากเจ้าของผู้เปิดร้านอาหารจีนในยุโรปช่วงหลัง จะเป็นนักลงทุนตัวจริง ที่กล้าเอากุ๊กจริงที่มีฝีมือมาทำงาน แตกต่างจากสมัยก่อนที่ทำกันแบบตามมีตามเกิด บางร้านเอากุ๊กจีนมาอยู่แค่ 3 เดือนเพื่อสอนให้กุ๊กแขกทำเลียนแบบอาหารให้ได้  แล้วก็กลับประเทศ 

               รสชาติอาหารจีนจึงเป็นอาหารจีนแบบแขก หรือ แบบฝรั่ง   

               หากจะทานอาหารอาหารจีนที่อร่อยจริงๆก็ต้องในลอนดอน ประเทศอังกฤษ  ที่ทั้งเจ้าของร้าน และ กุ๊ก ล้วนเป็นชาวฮ่องกงที่หนีออกมาจากฮ่องกง  ในช่วงก่อนที่อังกฤษจะส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้จีน   เพราะกลัวว่า  ฮ่องกงจะถูกปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์

               ดังนั้น  ร้านอาหารจีนในลอนดอน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของนักท่องเที่ยวไทย   จนทำให้อาหารไทยถูกเมินไปอย่างไม่แยแส 

               บนถนน BAYSWATER ในลอนดอน  จะเห็นร้านอาหารไทยชื่อ “โหระพา” ตั้งอยู่ติดกันกับร้านอาหารจีน “FOUR SEASON” ที่มีชื่อเสียงในเรื่องเป็ดย่าง


(อาหารไทย กับ อาหารจีน ประกาศศักดิ์ศรีประชันกันในเมืองท่องเที่ยวอย่างลอนดอน)

               ในขณะที่ร้านอาหารจีนมีลูกค้าเต็มจนล้นออกมารอนอกร้าน ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าก็คือคนไทย  แต่ร้านอาหารไทยกลับค่อนข้างจะว่าง

               ที่สะดุดตาก็คือ  มีแผ่นกระดาษเล็กๆติดอยู่ที่กระจกหน้าร้านว่า “ท่านสามารถนำเป็ดย่างมาทานพร้อมอาหารไทยในร้านโหระพาได้ครับ” 


(ป้ายอนุญาตให้นำอาหารจากร้านข้างๆเข้ามาทานในร้านได้)

               แม้จะผิดทำเนียมร้านอาหารในยุโรป ที่อนุญาตให้ลูกค้านำอาหารจากนอกร้านเข้ามาทานในร้านอาหารของตนเอง    แต่ผมก็เห็นด้วยในแง่ของเหตุผลการทำธุรกิจ 

               ทำไมคนไทยจึงไม่ทานอาหารไทย ? 

               จากประสบการณ์ในการเดินทางในยุโรป น่าจะสรุปได้แบบนี้

               อาหารไทยมีราคาแพงกว่าอาหารจีนมาก เมื่อเปรียบเทียบกันด้วยวัสดุในการปรุงอาหารในมาตรฐานเดียวกัน  เช่น  กุ้ง ก็เป็นกุ้งเหมือนกัน  ไก่ก็เป็นไก่เหมือนกัน  เหล่านี้เป็นต้น 

               ยิ่งหากสั่งเมนูแปลกๆเข้าไปอีก  ตอนจ่ายบิลอาจถึงกับจุกอก เหมือนตอนเช็คเอ้าท์ออกจากโรงพยาบาลเอกชนในเมืองไทยเลยทีเดียว 


(ล็อบสเตอร์ ผัดหมี่เหลือง)

               นอกจากนี้   แม้คนไทยจะเข้าไปในร้านอาหารไทย(ในต่างประเทศ) แล้วบอกว่า  เราเป็นคนไทยนะ  ขอรสชาติแบบไทยๆ  เผ็ดเพิ่มขึ้นอีกหน่อย  

               แต่อาหารที่ได้มามักจะเป็นอาหารรสชาติชืดๆ  ที่ควรเผ็ดก็ไม่เผ็ด  ที่ควรเปรียวก็ไม่เปรี้ยว  ทั้งที่เขาก็รู้ว่า ผู้ทานอาหารจานนั้น เป็นคนไทย

               ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า  เขาต้องทำอาหารตามรสปากของลูกค้าที่เป็นคนท้องถิ่น  มากกว่าจะทำอาหารด้วยรสชาติอาหารไทยแท้

               อาหารไทยในต่างประเทศส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยเหมือนอาหารไทย  เรียกว่าเพี้ยนไปจนจำหน้าไม่ได้เลยทีเดียว  

               ผิดกันกับร้านอาหารจีนที่มีมาตรฐาน ที่เขาจะปรุงอาหารตามรสชาติแบบจีน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่คุ้นชิน  และเขาไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงรสชาติไปตามความชอบของคนกินในแต่ละประเทศเลย


(ปลากะพงนึ่งซีอิ้ว)

               ซ้ำราคาอาหารจีนก็ถูก  เช่น  ล็อบสเตอร์ 1 ตัวผัดหมี่เหลืองก็จานละ 28 -30 ปอนด์  ประมาณ 1200 บาท ,  เป็ดย่างโฟร์ ซีซัน ตัวละ 24 ปอนด์ หรือ ประมาณ 1300 บาท   , ปลากะพงนึ่งซีอิ้วทั้งตัวราคา 20 ปอนด์ประมาณ 850 บาท เป็นต้น   


(เป็ดย่างทั้งตัว) 

               ราคาอาหารข้างต้น   เป็นราคาจากร้านอาหารจีนที่ BAYSWATER ในลอนดอน

               ผมคิดว่า  ราคาน่าจะถูกกว่าอาหารจีนในกรุงเทพด้วยซ้ำ

               คนไทยจึงมักจะเลือกเข้าร้านอาหารจีน  แทนที่จะเป็นร้านอาหารไทย  เพราะเขาหลับตานึกภาพได้ว่า  ถ้าสั่งอาหารจีนแบบนี้มา   ก็จะได้อาหารหน้าตาแบบนี้รสชาติแบบนี้มาแน่นอน

               ต่างกับอาหารไทยที่ต้องวัดดวงกัน  สั่งผัดกะเพราะ ก็อาจจะได้ผัดผักใส่พริก  สั่งแกงเขียวหวานก็อาจจะได้ซุปนมสด เป็นต้น    

               นี่ยังไม่พูดถึง  อาหารไทยที่เสริฟบนเครื่องบินของสายการบินไทย  สายการบินแห่งชาติ ที่บอกว่า เสริฟอาหารไทย  แต่คนไทยทานแล้วนึกไม่ออกว่า   เป็นอาหารชื่ออะไร 

               ถ้าคนไทยเอง  ยังไม่กล้านำอาหารไทยมานำเสนอให้แก่ลูกค้าอย่างองอาจกล้าหาญแล้ว   จะไปคาดหวัง “ครัวไทย ไปครัวโลก” ได้อย่างไร 

            (ผมจะนำกรุ๊ปของ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ท่องอาโอโมริ ไหว้พระใหญ่ 3 องค์ จนถึงโตเกียว  ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 3 เมษายน  สนใจติดต่อ โทร 02 651 6900)  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *