ร้านซักรีดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 กุมภาพันธ์ 2560 )

ร้านซักรีดที่ใหญ่ที่สุดในโลก  (ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมืองใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุดของภาคใต้ของอินเดียก็คือ มุมไบ(MUMBAI)  ซึ่งเคยรู้จักกันในอดีตมาเป็นเวลาช้านานว่า บอมเบย์(BOMBAY) อันเป็นชื่อที่อังกฤษเปลี่ยนจากชื่อเดิมของเมืองนี้ตามความถนัดลิ้นของตัวเอง   จนกระทั่งเมื่อประมาณ 22 ปีที่แล้ว  รัฐบาลอินเดียได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ บอมเบย์ ให้กลับมาเป็น มุมไบ ตามชื่อเมืองเดิมอีกครั้ง 

               ทุกเมืองในอินเดียล้วนแต่มีประชากรหนาแน่น    แต่มุมไบ ค่อนข้างพิเศษกว่าเมืองอื่น   เพราะได้รับการขนานนามว่า   เป็นเมืองที่มีพลเมืองหนาแน่นที่สุดของอินเดีย  เนื่องจากมีประชากรที่อยู่ในการสำรวจสัมมะโนประชากรประมาณ 20 ล้านคน

               ยังไม่นับที่อยู่นอกสำรวจอีกไม่รู้กี่สิบล้านคน  

               ดังนั้น  ราคาของบ้านพักที่อยู่อาศัยจึงแพงมหาโหด  ขายกันในอัตราตารางฟุตเหมือนกับในฮ่องกง   

               ห้องพักในคอนโดมิเนียน ระดับปานกลางในมุมไบ ขายกันในราคาประมาณ 650 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ  23000 บาท ต่อหนึ่งตารางฟุต 

               ชนชั้นกลางของอินเดียแทบจะไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของกันเลยทีเดียว 


(ทางเข้าของลานซักผ้า มหาลักษมี โดบิกาด)

               ด้วยเหตุนี้ จึงมีธุรกิจหลากหลายชนิดที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากปัญหาที่อยู่อาศัยแพงนี้  หนึ่งในธุรกิจนั้นก็คือ  ธุรกิจซักรีดเสื้อผ้า  ซึ่งทำให้กลายเป็นร้านซักรีดเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

               มหาลักษมี โดบีกาด (MAHALAXMI DHOBI GHAT) 


(ภาพมุมสูงถ่ายจากถนนข้ามทางรถไฟ  ที่มองเห็นลานซักผ้า มหาลักษมี โดบิกาด)

สาเหตุที่ได้ชื่อ  มหาลักษมี โดบี กาด  ก็เพราะสถานที่ซักผ้าแห่งนี้  ตั้งอยู่ในเขตสลัมที่อยู่ไม่ห่างจากสถานีรถไฟ มหาลักษมี เท่าไหร่นัก

               สถานซักผ้าแห่งนี้  เปิดบริการมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1890 หรือประมาณ 127 ปีมาแล้ว  ซึ่งเป็นช่วงที่อินเดียตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเครือจักรภพอังกฤษ


(พนักงานส่วนหนึ่งจะใช้แปรงๆผ้าก่อนที่จะเอาเข้าเครื่องซัก)

               ภายในสถานที่ซักผ้าดังกล่าว จะมีบ่อน้ำที่ก่อด้วยซีเมนต์แข็งแรง  สำหรับเอาไว้แช่ผ้าก่อนที่จะซัก   วิธีการซักผ้าขั้นตอนหนึ่งก็คือ  การเอาผ้าฟาดลงไปบนหินอีกก้อนหนึ่ง  นอกเหนือจากการใช้แปรงซักผ้าแบบที่ใช้กันทั่วไป  

               ตอนที่ผมเข้าไปชมสถานที่ซักผ้าแห่งนี้เมื่อปีที่แล้ว   ก็ได้เห็นพัฒนาการของระบบการซักผ้าของ มหาลักษมี โดบิกาด  ที่แตกต่างไปจากการซักผ้าเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้วอย่างมาก  เพราะมีการเอาเครื่องซักผ้าเข้ามาช่วยในการซักผ้าด้วย 


(นอกเหนือจากการใช้แปรงซักผ้าแล้ว  นี่คือวิธีการซักผ้าอีกแบบหนึ่ง)

               แต่ก็ยังไม่ละทิ้งวิธีการซักผ้าแบบดั่งเดิม  คือการเดินย่ำไปบนเสื้อผ้าต่างๆนั่นเอง  มองเห็นแล้วก็อดรู้สึกหยะแหยงไม่ได้   

               นอกเหนือจากที่ได้เห็นน้ำในบ่อซีเมนต์ที่ค่อนข้างดำคล้ำเอาเรื่องอยู่  

               ท่านผู้อ่านอาจจะถามว่า  ใครเป็นเจ้าของสถานที่ซักผ้าแห่งนี้ 

               คำตอบก็คือ  ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว  แต่จะอยู่ในรูปของคณะกรรมการที่มีจำนวนประมาณ 5 – 6 คนที่จะทำหน้าที่บริหารงาน  เก็บเงิน พร้อมทั้งทำบัญชีด้วย 

               ทุกเช้า  จะมีเจ้าหน้าที่นำรถบรรทุกออกไปขนผ้าจากสถานที่ต่างๆเข้ามา  เพื่อให้ทีมงานทำหน้าที่ซักรีดไปตามขั้นตอน   จนกระทั่งเย็น  เจ้าหน้าที่คนเดิมก็จะขนเอาผ้าทั้งหลายที่ซักรีดเรียบร้อยแล้วขนกลับมาใส่รถบันทุกเพื่อส่งกลับคืนไปให้เจ้าของ 

               หัวหน้าสถานซักผ้า มหาลักษมี โดบีกาด บอกว่า   ผ้าทุกชิ้นจะถูกส่งไปกลับให้เจ้าของโดยไม่มีการหลงหายไปที่อื่น

               ผ้าเหล้านี้ก็มาจากหลากหลายสถานที่  เช่น  ตามบ้านเรือนต่างๆ  เสื้อผ้าชุดทำงานของบริษัทห้างร้านต่างๆ  ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนของโรงพยาบาล  รวมถึง  ผ้าปูที่นอนปลอกหมอน และ เช็ดตัวของโรงแรมบางแห่ง

               โชคดีที่โรงแรมแมริออต ที่ผมพัก  ไม่ได้ส่งมาซักที่นี่   ไม่งั้นคงจะนอนไม่หลับแน่

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

               (สำหรับท่านที่สนใจเดินทางท่องอินเดีย – มหาราชา แบบสะดวกสบาย กับ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  ชม ถ้ำอะชันตา เอลลอร่า  มุมไบ  จ๊อดปูร์  อุไดปูร์   เมาท์ อาบู  วัดเชนที่แกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งหลัง  ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง  8 เมษายน นี้ ขอเชิญสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร  02651 6900 )

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *