บริการส่งอาหารกลางวันในมุมไบ(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 มีนาคม 2560 )

บริการส่งอาหารกลางวันในมุมไบ(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ทำไม  ทั้งประเทศอินเดีย จึงมีเพียงเมืองมุมไบเท่านั้น  ที่มีบริการส่งปิ่นโตอาหารเที่ยง 

               สาเหตุเริ่มต้นเป็นเพราะ  ชาวฟาร์ซี ที่เป็นผู้อพยพมาจากเปอร์เชีย หรือ อิหร่านในปัจจุบัน ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองมุมไบเมื่อนานมาแล้ว  คนเหล่านี้มีรสนิยมในการกินที่ค่อนข้างจะพิถีพิถัน  

               พิถีพิถันกว่าคนอินเดียพื้นถิ่นอยู่พอสมควร

               อันที่จริง  ชาวฟาร์ซี หรือ  ชาวเปอร์เชี่ยน อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศอินเดียมาเป็นเวลาช้านานแล้ว  ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 จนกระทั่งมาก่อตั้งเป็นราชวงศ์โมกุลปกครองอินเดียอยู่นานกว่า 300 ปี

               ชาวฟาร์ซีส่วนหนึ่ง ตั้งรกรากอยู่ตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก  และเนื่องจากชาวฟาร์ซี มีสติปัญญาฉลาดล้ำ  เก่งวิชาคำนวณ  ทำให้มักจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆทองๆ  จนมุมไบกลายเป็นเมืองหลวงทางการเงินของอินเดียในปัจจุบัน  

               ชาวฟาร์ซี ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นคนอินเดียไปในที่สุด มีรสนิยมในการกินที่ค่อนข้างจะพิถีพิถัน  ชอบทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ  หรือ  อาหารที่ยังร้อน  และ มักจะต้องปรุงมาจากบ้าน 

               จึงเกิดแนวคิดในการทำอาหารใหม่สด แล้วส่งไปยังที่ทำงานในตอนเที่ยง


(ผู้เขียน กับ ทานาจี ซึ่งเป็นหนึ่งใน ดาบาวาลา)

               จากปากคำของ ทานาจี ซึ่งเป็นผู้ส่งอาหารคนหนึ่งบอกว่า  ระบบการส่งปิ่นโตอาหารกลางวันของมุมไบ เริ่มต้นมาเมื่อประมาณ 65 ปีที่แล้ว  ขณะนั้น  มีคนทำหน้าที่ส่งปิ่นโตเพียง 15 คนเท่านั้น 

               ปัจจุบัน   การจราจรในเมืองมุมไบ ติดขัดกันอย่างวินาศสันตะโร ทำให้จำนวนผู้ทำหน้าที่ส่งปิ่นโตในเครือข่าย เพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 5,000 คน 

               และจำนวนของปิ่นโตที่ส่งในแต่ละวัน ก็มีจำนวนมากถึงเป็นประมาณแสนปิ่นโต  บ้างก็ว่าประมาณ 2 แสนปิ่นโต

               สาเหตุที่บริการส่งปิ่นโตได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลัง   ก็เพราะหากจะพกพาอาหารออกจากบ้านตั้งแต่เช้า  ก็หมายถึง จะต้องนำอาหารออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าโดยประมาณ 

               แม่บ้าน หรือ คนปรุงอาหารก็จะต้องตื่นขึ้นมาทำอาหารตั้งแต่ตี 5 เศษ  กว่าจะได้ทานอาหารก็ประมาณบ่ายโมง   อาหารก็จะเย็นชืด หรือไม่ก็อาจจะเน่าบูดไปแล้วก็ได้

               ปัจจุบัน  ปิ่นโตจำนวนนับแสนใบถูกส่งมาจากทุกจุดรอบๆเมืองมุมไบ   บางจุดอยู่ห่างออกไปกว่า 30 – 40 กิโลเมตร  ปิ่นโตเหล่านี้จะถูกส่งเข้ามาทางรถไฟ  ซึ่งมีอยู่ 3 สายด้วยกัน  คือ  สายตะวันตก(WESTERN LINE)   ,  สายส่วนกลาง(CENTRAL LINE)  และ  สายจากอ่าว(HARBOR LINE)


(สถานีรถไฟ CHURCH GATE ซึ่งเป็นจุดรวมของปิ่นโต จากหลากหลายเส้นทาง  ก่อนที่จะกระจายออกไปส่งตามที่ทำงานต่างๆ)

               ทุกเช้า  ดาบาวาลา หรือ ผู้ส่งปิ่นโต  จะไปรับอาหารปิ่นโตจากบ้าน หรือ ร้านอาหารในตอน 10 โมงเช้า  จากนั้น   แต่ละคนก็จะต้องนำปิ่นโตมาที่สถานีรถไฟ  อาจจะด้วยการเดินเท้า หรือ โดยรถจักรยาน  หรือ โดยการเทินแผ่นกระดานบนศรีษะก็ได้   


(ดาบาวาลา จะเทินแผ่นกระดานที่มีปิ่นโตวางอยู่เต็มนี้มาคนเดียว  เขาจะต้องรู้จักเลี้ยงน้ำหนักเป็นอย่างดีทีเดียว)

               ปิ่นโตจะถูกนำมารวมกัน และถูกคัดแยกเพื่อจัดส่งไปตามสายที่ต้องส่ง   โดยดูตามเครื่องหมายที่เขียนไว้บนถุงผ้าที่ครอบใส่ปิ่นโตอีกชั้นหนึ่ง 

               เครื่องหมายที่ว่านี้  จะบอกรายละเอียดว่า  ต้นทางมาจากไหน  ปลายทางที่รับเป็นตึกอะไร  เป็นที่ทำงานของชั้นที่เท่าไหร่  เป็นต้น


(รหัสที่เขียนบอกสถานที่ของผู้ส่ง  ผู้รับ อย่างละเอียด)

               ทุกอย่างจะเขียนเป็นโค้ต ตัวหนังสือ และ ตัวเลขสั้นๆ

               ปิ่นโตที่มาด้วยรถไฟสายเซ็นทรัล จะมาแจกจ่ายกันที่ สถานีวิคตอเรีย   ปิ่นโตส่งมาด้วยรถไฟสายตะวันตก จะมาแจกจ่ายกันที่ จอร์จ เกต  และ ปิ่นโตที่มาด้วยรถไฟสายฮาร์เบอร์ จะมาแจกจ่ายกันที่ สถานีเชิร์ช เกต 

               ปิ่นโตเหล่านี้จะถูกแบ่งให้แก่ ดาบาวาลา แต่ละคนนำไปส่งตามที่ทำงานต่างๆ ซึ่งจะถึงผู้รับราว 12.15 น.  จากนั้น  ดาบาวาลา ก็จะรอเก็บปิ่นโตกลับในเวลาประมาณ 13.30 น.  แล้วส่งกลับไปยังผู้ส่งอีกครั้ง

               สนนราคาค่าจ้างในการจัดส่งปิ่นโตแต่ละเถาก็จะตกเดือนละ 1,000 รูปี  หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 500 – 600 บาท 


(ดาบาวาลา ที่คอยรับปิ่นโตที่หน้าสถานี เชิร์ช เกต)

               ดาบาวาลา จะนำเงินรายได้เหล่านี้มารวมกัน  แล้วจัดแบ่งให้แต่ละคนคนละเท่าๆกัน เฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะได้เงินประมาณ 10,000 รูปีต่อเดือน 

               จุดเด่นของการส่งปิ่นโตก็คือ  แม้จำนวนปิ่นโตในแต่ละวันจะมากถึงแสนปิ่นโต   แต่ก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ส่งปิ่นโตผิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว 


(ภาพยนตร์เรื่อง THE LUNCHBOX)

               อาจจะมีก็แต่เพียงในหนังเรื่อง THE LUNCHBOX ที่ผมได้พูดถึงไปในสัปดาห์ที่แล้ว  ที่ทำให้เกิดเรื่องราวความรักผ่านปิ่นโตที่น่าประทับใจ

               บังเอิญวันที่ผมไปทำสารคดีเรื่องนี้  ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 ของเดือน  ซึ่งบริษัทของอินเดียจำนวนมากจะหยุดกันในวันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน  จึงทำให้จำนวนปิ่นโตมีไม่มากเท่าที่ควร 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  ผมจะพูดถึงทัวร์นั่งรถสะสมไมล์ครับ 


(ภายในถ้ำอาชันตะ  ของโปรแกรมท่องเที่ยว อินเดีย – มหาราชา)

               (สำหรับท่านที่สนใจเดินทางท่องอินเดีย – มหาราชา แบบสะดวกสบาย กับ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  ชม ถ้ำอะชันตา เอลลอร่า  มุมไบ  จ๊อดปูร์  อุไดปูร์   เมาท์ อาบู  วัดเชนที่แกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งหลัง  ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง  8 เมษายน นี้ ขอเชิญสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ โทร  02651 6900 )

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *