สาธารณรัฐเชก ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 สิงหาคม 2559 )

สาธารณรัฐเชก ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ประเทศสาธารณรัฐเชก มีพรมแดนทางด้านใต้ติดกับประเทศออสเตรีย  


(แฟนที่ของประเทศสาธารณรัฐเชก และ สโลวัก กับประเทศเพื่อนบ้าน ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หากพูดกันโดยชาติพันธุ์ และ ภาษาพูดแล้ว  ชาวออสเตรียน กับ ชาวเชก แตกต่างกันอย่างมาก   เพราะชาวเชก เป็นชาวสลาฟ พูดภาษาสลาวิกเป็นหลัก   แต่ ชาวออสเตรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมานิค  พูดภาษาเยอรมัน  

               แม้ว่าจะเป็นคนละชาติพันธุ์  แต่ในอดีตที่ยังไม่ได้แบ่งเขตแดนว่าเป็นประเทศอะไรอย่างชัดเจน  ผู้คนของทั้งสองประเทศก็หมุนเวียนถ่ายเทไปมาเสมอๆ โดยเฉพาะตามแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศ    จนอาจจะเรียกได้ว่า  ประชากรของทั้งสองประเทศมักจะเป็นญาติกัน หรือ แต่งงานข้ามกันไปมา    

               ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศเชกโกสโลวักเกีย เมื่อเริ่มเปิดประเทศใหม่ๆประมาณร่วม 20 ปีที่แล้ว  หลังจากประเทศนี้หลุดพ้นออกมาจากเครือข่ายของ สหภาพโซเวียตรัสเซีย  และได้เห็น  ได้รับรู้เรื่องราวของประชาชนชาวเชกโกสโลวักเกียที่คาดไม่ถึงหลายต่อหลายเรื่อง  


(ศาลาว่าการเมืองเก่า  ที่มีนาฬิกาที่แสดงความเป็นไปของโลก กับ พระอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ และ อีกมากมาย)

               จึงอยากจะนำมาเล่าให้ฟัง  สลับกันกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วย  

               ในวันที่ผมเดินทางไปเชกโกสโลวักเกียนั้น   หากเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของสองประเทศ คือ  ออสเตรีย และ เชกโกสโลวักเกีย แล้วจะเห็นว่า   ห่างกันอย่างชัดเจน  ทั้งนี้เพราะ  เชกโกสโลวักเกีย อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต มาเป็นกว่า 50 ปี 

               ในขณะที่ออสเตรีย  ได้รับเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจตามแผนเศรษฐกิจ มาร์แชล์ของอเมริกา  และ อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบเสรีนิยมมาโดยตลอด 

               แน่นอนว่า   ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุของออสเตรียย่อมสูงกว่า  ชาวออสเตรียนมีเสรีภาพมากกว่า  สภาพการเป็นอยู่  และ อยู่กินของชาวออสเตรียน ก็ย่อมจะดีกว่า  มีเสรีมากกว่าชาวเชกโกฯ 

               สองประเทศที่มีพรมแดนติดกัน  เพียงชั่วเวลา 50 ปีเศษ  ผู้คนทั้งสองประเทศมีสภาพแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

               สิทธิเสรีภาพที่เคยมีในการรับรู้ข่าวสาร  การเดินทาง  และอื่นๆอีกมากมาย ถูกจำกัดอย่างมากในประเทศเชกโกฯ  แม้กระทั่งเพลงป๊อบจากโลกตะวันตก เช่น  อเมริกา  ก็ถูกห้ามฟัง  การกินอยู่ขั้นพื้นฐานก็ต้องปันส่วนกัน 

               แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ  หากผมบอกว่า  ชาวเชกโกฯ แม้จะกินอยู่ไม่อุดมสมบูรณ์นัก   แต่เขาก็มีไข่คาเวียร์ ที่ผลิตจากประเทศในเครือสหภาพโซเวียตที่อยู่ริมทะเลสาบแคสเปี้ยน  แหล่งผลิตไข่คาวียรชั้นดีของโลก  ให้กินราวเศรษฐีของตะวันตก  ซ้ำราคาก็ถูกแสนถูก  ขนาดวางขายกันริมถนนด้วยซ้ำ 


(ปลาสเตอร์เจียน ที่มาของไข่คาเวียร  พบได้มากในทะเลสาบแคสเปียน)

               ไม่แค่กินไข่คาเวียร์เท่านั้น  ยังมีแชมเปญ หรือ ไวน์มีแก็ส ที่ผลิตในประเทศเชกโกสโลวักเกีย ให้จิบแกล้มไปกับไข่คาเวียร์อีกด้วย


(แชมเปญ ของ ประเทศสาธารณรัฐเชก  ไม่ต่างอะไรกับแชมเปญของฝรั่งเศสเลย)

               กินไข่คาเวียร์ จิบแชมเปญ แล้วก็สูบซิการ์ปิดท้ายอีกต่างหาก  ซิการ์ที่ว่านี้  เป็นซิการ์ชั้นดีของโลกที่มีราคาแพงแสนแพงในปัจจุบัน   ผลิตจากฮาวานา  ประเทศคิวบา


(ซิการ์ฮาวานาของ คิวบา ของเล่นของมหาเศรษฐีในยุคปัจจุบัน)

               ท่านผู้อ่านอาจจะกำลังคิดว่า   ผมกำลังเพ้อเจอเหลวไหล  คนในโลกคอมมิวนิสต์จะมีของดีๆแบบนี้มาเสพสุขได้อย่างไร 

               ก่อนอื่น ต้องทราบว่า  ประเทศรัสเซีย คิวบา และ เชกโกฯ ล้วนเป็นประเทศที่ร่วมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์  และในช่วงสงครามเย็น  การค้าขายกับประเทศเสรีนิยมต่างๆเป็นเรื่องที่ยาก 

               จึงมักจะต้องค้าขายกับประเทศที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกัน 

               แต่ประเทศคอมมิวนิสต์เหล่านี้   ล้วนมีเศรษฐกิจที่ไม่เข้มแข็งนัก   การจะค้าขายด้วยสกุลเงินจึงไม่สะดวก  จึงมักจะค้าขายกันผ่านทาง บาร์เตอร์ เทรด (BARTER TRADE)  หรือ  การแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้ากันแบบการค้าค้าของยุคโบราณ โดยไม่ต้องผ่านสกุลเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นสกุลไหนๆก็ตาม    

               บรรดาประเทศเหล่านี้   แม้จะปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์   ประชาชนก็ยังต้องผลิตผลผลิตเพื่อหาเลี้ยงชีพ   รัฐจึงจำเป็นจะต้องสนับสนุนการค้าขายเพื่อระบายสินค้าเหล่านี้ออกไปให้มากที่สุด 

               สินค้าเหล่านี้จึงมักขาย  หรือ แลกเปลี่ยนกับประเทศที่เป็นพันธมิตรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้  สินค้าบางอย่างจึงมีราคาถูกจนแทบจะเหมือนให้ฟรี  มีลักษณะเหมือนการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันมากกว่า   

               ดังนั้น  แม้ว่าในอดีตเมื่อ 30-50 ปีที่แล้ว  การเป็นอยู่พื้นฐานของชาวเชกโกฯในสมัยนั้นจะค่อนข้างขัดสน  แต่อีกด้านหนึ่ง  การเป็นอยู่ของพวกเขาในสมัยนั้น  ก็ดูคล้ายกับความเป็นอยู่ของมหาเศรษฐี  ในยุคปัจจุบันนี้ 

               เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อนะครับ   ในสัปดาห์หน้า  ผมจะเอาเรื่องที่ไม่น่าเชื่อของประเทศเช็กโกสโลวักเกีย มาเล่าให้ฟังอีกครับ   

               สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางท่องเที่ยว  สาธารณรัฐเชก โบฮีเมีย และ โมราเวีย  ระหว่างวันที่ 7 – 14 ตุลาคม นี้   เชิญสำรองที่นั่งที่ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  โทร 02 651 6900  หรือ ที่ สถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ โทร 02 308 0555

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *