อียิปต์-ดินแดนมหัศจรรย์ แสนลึกลับ(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (25 พฤศจิกายน 2559 )

อียิปต์-ดินแดนมหัศจรรย์ แสนลึกลับ(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เชื่อมั้ยครับ  ชาวอียิปต์โบราณบันทึกภาพของเหตุการณ์ต่างๆเหมือนกล้องถ่ายรูปในปัจจุบันมานานกว่า 4 พันปีแล้ว 

               จึงทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบัน สามารถรู้เรื่องราวของชาวอียิปต์โบราณได้มากพอสมควร   นอกเหนือจากการอ่านบันทึกโบราณที่เขียนด้วยภาษาไฮโรกลิฟฟิคเพียงอย่างเดียว

               บันทึกภาพเหตุการณ์ของชาวอียิปต์โบราณก็คือ  ภาพแกะสลักบนผนังในสถานที่ต่างๆ  เช่น  ในวิหาร และในสุสาน  ซึ่งมักจะเล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของชาวอียิปต์โบราณในช่วงเวลานั้นๆ   ว่าเขามีความเป็นอยู่อย่างไร


(ภาพสลักที่แสดงให้เห็นภาพชายหญิงในยุคนั้น  ถือดอกบัวในมือ)

               อย่างเช่นในมาสตาบ้า  ซึ่งก็คือ ที่ฝังศพของพวกข้าราชบริพาร หรือ ขุนนางของฟาโรห์  มีการแกะภาพสลักนูนต่ำบนผนังในสุสาน  เล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันเมื่อประมาณ 4 พันปีที่แล้ว   เสมือนกับการถ่ายรูปผู้คนในยุคนั้นเอาไว้ 

               รายละเอียดที่แสดงบนภาพสลักนูนต่ำ   ไม่เพียงแต่เล่าเรื่องผู้คนเท่านั้น   หากยังให้รายละเอียดของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ของยุคนั้นเอาไว้อย่างละเอียด 


(ภาพสลักนูนต่ำในมาสตาบา  ที่แสดงวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้น)

               ละเอียดจนสามารถบอกได้ว่า   ในแม่น้ำไนล์ในเวลานั้น  มีสัตว์อะไรอยู่ในน้ำบ้าง   ปลาที่มีอยู่ในยุคนั้น  เป็นปลาประเภทไหน  ที่น่าสนใจก็คือ   บางชนิดยังคงมีให้เห็นแม้จนทุกวันนี้


(ด้านหน้าของวิหารเอ็ดฟู)   

               สิ่งหนึ่งที่ผมชอบเป็นพิเศษของวิหารเอ็ดฟูก็คือ  ภาพสลักที่บันทึกเหตุการณ์ช่วงที่สร้างวิหารหลังนี้  ที่เป็นภาพสลักนูนต่ำบนผนังภายในห้องที่เรียกว่า ห้องเสาสูง (HYPOSTYLE HALL)

               ซึ่งเมื่อเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์การสร้างสิ่งก่อสร้างที่สำคัญๆในยุคปัจจุบันนี้  แทบจะไม่แตกต่างกันเลย 


(ภาพฟาโรห์(ขวามือ) กำลังใช้จอบขุดดินต่อหน้าเทพฮอรัส)

               ในยุคปัจจุบัน   หากจะมีการก่อสร้างใดๆ   ก็จะต้องเริ่มจากการรังวัดที่ดิน  ขุดดิน  ถมดิน  วางศิลาฤกษ์   ก่อสร้างจนเสร็จ  แล้วทำการโอนสิ่งก่อสร้างนั้นให้แก่เจ้าของ

               เนื่องจากวิหารเอ็ดฟู เป็นวิหารที่สร้างเพื่อถวายให้แก่เทพฮอรัส  ทุกภาพจึงมักจะต้องมีเทพฮอรัสเป็นประธานในรูปภาพ  โดยมีฟาโรห์เป็น ตัวประกอบ


(ฟาโรห์ (ซ้ายมือ)  กำลังถมทราบลงบนพื้นที่ที่จะสร้างวิหาร ต่อหน้าเทพฮอรัส)

               ทั้งๆที่ในความเป็นจริง   เทพฮอรัส มิได้มาปรากฏกายอยู่เบื้องหน้าของฟาโรห์ อย่างที่ปรากฏอยู่บนภาพสลักเลย 

               ภาพสลักที่ว่า  จึงมีลักษณะเหมือน  คำอธิษฐาน  จินตนาการ  หรือ  เหมือนการสวดมนต์อ้อนวอนต่อเทพเจ้า 

               แต่นั่นก็ทำให้ผู้คนในยุคปัจจุบัน  สามารถจินตนาการ หรือ นึกวาดภาพขั้นตอนการก่อสร้างวิหารของยุคอียิปต์โบราณได้   เพราะบนผนังของวิหารเอ็ดฟู  มีภาพเรียงลำดับกันไปตั้งแต่  ฟาโรห์ทำพิธีรังวัดพื้นที่ที่จะสร้างวิหารเอ็ดฟู  


(ฟาโรห์ (ซ้ายมือ)  กำลังจับวิหาร เบื้องหน้าของพระองค์ก็คือ เทพฮอรัส)

               จากนั้นก็จะเป็นภาพหาโรห์กำลังใช้เครื่องมือคล้ายจอบขุดที่พื้นดิน   ต่อมาก็จะเป็นภาพฟาโรห์กำลังเททรายลงกับพื้น   แล้วก็เป็นภาพฟาโรห์วางก้อนหินเหมือนกับยุคปัจจุบันที่มีการวางศิลาฤกษ์กัน

               จนสุดท้าย   ฟาโรห์จับเชือกที่มีวิหารเอ็ดฟูอยู่ในวงรอบของเชือก   


(ฟาโรห์ (ซ้ายมือ) กำลังจับเชือกที่ล้อมรูปวิหาร เพื่อถวายให้แก่เทพฮอรัส)

               ทั้งหมดนี้  ฟาโรห์จะยืนกระทำอยู่เบื้องหน้าของเทพฮอรัส ทั้งสิ้น  ประหนึ่งว่า   ทุกอากัปกิริยาของฟาโรห์นั้น  เป็นการกระทำต่อฟาโรห์  จนกระทั่ง  ภาพการจับเชือกที่มีวิหารอยู่ในวงของเชือกก็เสมือนเป็นการถวายวิหารที่สร้างเสร็จแล้วนี้ให้แก่เทพฮอรัส 

               ภาพสลักแบบนี้ มีอยู่อีกมากมายในวิหารต่างๆของอียิปต์โบราณ   ผมจะนำมาเล่าในโอกาสต่อๆไปนะครับ 

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางไปเที่ยวอียิปต์ แบบเจาะลึกสบายๆ 11 วัน  เชิญขอรายละเอียดได้ที่ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด   โทร 02 651 6900

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *