ไต้หวัน เมื่อจำต้องใช้นโยบายเปิดประเทศ(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 ธันวาคม 2559 )

ไต้หวัน เมื่อจำต้องใช้นโยบายเปิดประเทศ(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในโอกาสที่ได้ร่วมเดินทางไปชมไต้หวัน ที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวไต้หวัน เชิญสมาชิกของสมาคม TTAA หรือ สมาคมไทยบริการท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 22 ถึง 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559   ผมจึงขอนำเรื่องราวจากการเดินทางไปเที่ยวไต้หวันมาเล่าสู่กันฟังครับ 


(คณะผู้ร่วมเดินทาง)

               มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมรู้สึกแปลกใจตั้งแต่ต้นเกี่ยวกับการเดินทางเที่ยวนี้ว่า  ทำไมโปรแกรมท่องเที่ยวที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวไต้หวัน จัดให้แก่บริษัทท่องเที่ยวจากประเทศไทย  จึงเน้นให้เราชมเฉพาะภาคใต้ของไต้หวันเท่านั้น  ทั้งๆที่  สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าชมของไต้หวันยังมีอีกมากมาย  และส่วนใหญ่จะอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ


(เกาะไต้หวัน จะอยู่ตรงกันข้ามกับประเทศจีน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ทั้งนี้เป็นเพราะ  พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้ก็คือ  พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DEMOCRATIC PROGRESSIVE PARTY)  หรือที่เรียกย่อๆว่า  พรรค DPP  ซึ่งเป็นพรรคตรงกันข้าม และเป็นคู่แข่งโดยตรงของพรรคกั๊วมินตั๋ง(KUOMINTANG)  หรือเรียกย่อๆว่า พรรค KMT  


(เกาะไต้หวัน จะอยู่ตรงข้ามกับมณฑลฝูเจี้ยน และเมืองเซี่ยเหมินของจีน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               พรรคกั๊วมินตั๋ง  ครองอำนาจในการบริหารประเทศมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศโดยประธานาธิบดีเจียง ไค เช็ค(CHIENG KAI SHEK) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488   จนกระทั่งพรรค DPP สามารถล้มพรรค กั๊วมินตั๋งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปีพ.ศ. 2543 โดยมีผู้นำที่ชื่อ  เฉิน สุย เปี่ยน (CHEN SHUI BIAN)


(เฉิน สุย เปี่ยน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หลังจากจบการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรกเป็นเวลา 4 ปี  เฉิน สุย เปี่ยน ก็ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองอีกครั้ง  ทั้งๆที่ก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่กี่วัน  คะแนนนิยมของเขาลดต่ำลงอย่างมาก  

               ว่ากันว่า  เป็นเพราะกระสุนปริศนาที่ดูราวกับต้องการจะสังหารเฉิน สุย เปี่ยนในวันก่อนการเลือกตั้งนั่นเอง

กระสุนนัดนี้เพียงแค่ถากๆผิวของเขาเท่านั้น   แต่คะแนนสงสารของชาวไต้หวันที่มีต่อ เฉิน สุย เปี่ยน ก็ไหลมาเทมาจนเฉิน สุย เปี่ยน กลับมามีชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งเป็นสมัยที่สอง

ภายหลังมีการแฉออกมาว่า   กระสุนนัดนั้น   น่าจะเป็นผลงานของเฉิน สุย เปี่ยน เอง  เพื่อเรียกคะแนนสงสารให้แก่ตัวเอง  ซึ่งได้ผล  

หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งในสมัยที่สอง   เฉิน สุย เปี่ยน  ก็ถูกขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวในทางคอรัปชั่นอย่างหนัก   จนคะแนนนิยมในตัวเขาลดลงอย่างฮวยฮาบ  กระนั้นก็ยังอยู่ในตำแหน่งได้จนครบวาระ เพราะมีอำนาจทางกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ถูกเอาผิดในระหว่างการดำรงตำแหน่ง   

               จนเมื่อปีพ.ศ. 2551  เมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งหลังจาก เฉิน สุย เปี่ยน หมดวาระลง  พรรคกั๊วมินตั๋ง โดย หม่า อิง จิ่ว(MA YING JEOU) ก็กลับมาชนะการเลือกตั้ง  เฉิน สุย เปี่ยน จึงหมดภูมิคุ้มกัน  และถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต  แต่ก็ได้รับการลดโทษลงเหลือจำคุก 20 ปี 

               ปัจจุบัน   เฉิน สุย เปี่ยน ยังคงถูกจำคุกอยู่   


(หม่า อิง จิ่ว – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เมื่อ หม่า อิง จิ่ว  ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 วาระ 8 ปีจบลง  ประชาชนหันไปลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนของพรรค DPP อีกครั้ง  ภายใต้การนำของสุภาพสตรีที่ชื่อ ไฉ้ อิง เหวิน (TSAI ING-WEN) ในปีพ.ศ. 2559


(ไฉ้ อิง เหวิน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เนื่องจากการเมืองของไต้หวันเป็นการแข่งขันของสองพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น   พื้นที่เลือกตั้งจึงถูกแบ่งตามฐานเสียงของผู้เลือกตั้งออกมาอย่างชัดเจน  กล่าวคือ  ทางภาคเหนือจะเป็นฐานเสียงของพรรคกั๊ว มิน ตั๋ง  ในขณะที่ทางภาคใต้จะเป็นฐานเสียงของพรรค DPP 

               ไม่ว่าพรรคใดเข้ามาบริหารประเทศ  ก็จะต้องทำเพื่อฐานเสียงของพรรคของตัวเองทั้งสิ้น

               เมื่อพรรค DPP  ซึ่งมีฐานเสียงอยู่ในภาคใต้ของประเทศ  กรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยว  ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะเป็นคนของพรรค DPP ด้วย  ก็ต้องทำตามนโยบายของพรรคในการสนับสนุนการท่องเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวในภาคใต้เป็นหลัก 

               แต่ทำไม   ไต้หวันจึงต้องพยายามส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวอย่างหนักในช่วงนี้  จนถึงขนาดที่ประกาศให้นักท่องเที่ยวชาวไทยไม่ต้องขอวีซ่าในการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในไต้หวัน  โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2559

               สัปดาห์หน้า  ผมจะเอาเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวของไต้หวัน  และ การเดินทางท่องเที่ยวไต้หวันมาเล่าต่อครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *