เมื่อชาวสวิสฯ ไม่ยอมรับเงินแจกฟรี(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 มิถุนายน 2559 )

เมื่อชาวสวิสฯ ไม่ยอมรับเงินแจกฟรี(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               การเป็นทหารรับจ้าง (MERCENARY) เป็นอาชีพที่ต่ำต้อย และ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามมาตั้งแต่โบราณกาล  

               นับตั้งแต่ยุค “สาธารณรัฐโรมัน” เมื่อกว่า 2200 ปีที่แล้ว   ทหารรับจ้างก็ทำงานให้ทั้งกับอาณาจักรคาร์เธจ และ กองทัพโรมัน  เนื่องจากทหารรับจ้างฆ่าคนเพื่อเงิน โดยไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนแบบคนทั่วไปที่ออกสนามรบเพื่อปกป้องเผ่าพันธุ และ วงศ์ตระกูล

               วันนี้ ทหารรับจ้างอาจจะรบให้แก่ฝ่ายนี้  แต่หากอีกฝ่ายมีเงินค่าจ้างมากกว่า  ก็อาจจะไปเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้   แต่ในอีกมุมหนึ่งง  มันเป็นเรื่องที่ปวดร้าวขมขื่นมาก   เพราะพวกเขาไม่มีทางรู้เลยว่า  จะต้องทำสงคราม หรือ ฆ่า ญาติพี่น้องของตัวเองที่เป็นทหารรับจ้างในฝ่ายตรงข้ามเมื่อใด 

               แต่เมื่อธรรมชาติไม่เป็นใจ  ชาวเฮลเวเทีย จึงต้องเลือกทางเดินชีวิตที่แสนจะโหดร้าย  เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และ ครอบครัว    

               ชาวเฮลเวเทีย เริ่มยึดอาชีพการเป็นทหารรับจ้างมาตั้งแต่เมื่อใด  ไม่มีใครทราบ   แต่หลักฐานที่ยืนยันชัดเจนก็คือ  การเป็นการ์ดให้แก่สำนักวาติกัน ตั้งแต่สมัยของสันตะปาปา ซิกตุส ที่ 4 (POPE SIXTUS IV)  (ปีค.ศ. 1471 – 1484)  และ เป็นทหารรับจ้างให้กษัตริย์ และ ผู้ครองดินแดนหลายแห่งด้วยกัน  เช่น ฝรั่งเศส  ซาวอย และ เนเปิล  

               ผู้ที่ว่าจ้างชาวเฮลเวเทียมาเป็นทหารรับจ้างมากที่สุดดูเหมือนจะเป็น  พระเจ้าฟรังซัว ที่ 1(FRANCIS I) แห่งฝรั่งเศส ที่มีทหารรับจ้างชาวสวิสมากถึง 120,000 คน 

               เมื่อรวมๆตัวเลขแล้ว  ชาวเฮลเวเทีย มาเป็นทหารรับจ้างในช่วงเวลานี้ประมาณ 3 แสนคน  และทหารรับจ้างชาวเฮลเวเทียแทบจะทุกคนต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดียิ่ง  

               วีรกรรมของสวิสการ์ด ครั้งแรกที่บันทึกไว้ก็คือ  เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1527   เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 5 แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิสิทธิ์ ยกทัพบุกเข้ามาในกรุงโรม   และ ตามจับตัวสันตะปาปา คลีเมนต์ ที่ 7 ในวาติกัน 

               ขณะนั้น  วาติกันมีสวิสการ์ดที่ว่าจ้างเอาไว้จำนวน 189 คน  เมื่อกองทหารของพระเจ้าชาร์ลส์ บุกเข้ามา  สวิสการ์ด มีหน้าที่สำคัญที่จะต้องอารักขาสันตาปาปา คลีเมนต์ ให้หนีไปให้ได้ 


(ปราสาท เซนต์ แองเจโล  ที่เป็นปลายทางของเส้นทางหนีของสันตะปาปา คลีเมนต์ที่ 7 ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ดังนั้น  เขาจึงแบ่งสวิสการ์ด จำนวน 147 คนออกมาเพื่อปะทะกับทหารของพระเจ้าชาร์ลส์  เป็นการถ่วงเวลา  ในขณะที่สวิสการ์ดจำนวน 42 คน ทำหน้าที่อารักขาสันตะปาปาออกไปโดยทางลับที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวาติกัน กับ ปราสาท เซนต์ แองเจโล  

               รู้ทั้งรู้ว่า  ภารกิจของสวิสการ์ด 147 คนก็คือ ตาย  พวกเขาก็ยังทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

               สวิสการ์ดทั้ง 147 คน  ตายเรียบ  แต่สันตะปาปาคลีเมนต์ สามารถหนีรอดไปได้   

               วีรกรรมอีกครั้งก็คือ  สวิสการ์ดของราชสำนักแห่งฝรั่งเศสในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

               วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1789  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องอพยพครอบครัวออกจากพระราชวังแวร์ซาย ที่อยู่นอกเมือง เข้าไปอยู่ที่พระราชวังตุยเลอรีย์ ภายในกรุงปารีสริมแม่น้ำเซน (SEINE RIVER) แต่พระเจ้าหลุยส์ และ พระนางมารี อังตัวเน็ต ก็ยังไม่ยอมแพ้ 

               เดือนมิถุนายน ค.ศ.1791  พระเจ้าหลุยส์ ที่ 16 ก็ยังพยายามหนีออกจากฝรั่งเศส   จนกระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792  ประชาชนลุกฮือขึ้นมาด้วยความโกรธ  บุกเข้าไปในพระราชวังตุยเลอรีย์


(ภาพวาดแสดงการสังหารโหดสวิสการ์ด ในพระราชวังตุยเลอรีย์ ในปีค.ศ. 1792 ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ขณะนั้น  ในพระราชวังตุยเลอรีย์ มีทหารสวิสการ์ดอยู่ประมาณ 900 คน ซึ่งเทียบไม่ได้กับจำนวนของฝูงชนที่โกรธเกรี้ยวที่บุกเข้าไปในพระราชวัง   แต่สวิสการ์ด ก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างองอาจกล้าหาญเพื่อปกป้องสมาชิกของราชวงศ์ด้วยชีวิตของตัวเอง

               ในขณะที่สมาชิกของราชวงศ์ได้รับการคุ้มกันออกไปจากพระราชวังได้สำเร็จ  

               สวิสการ์ด 600 คน ตายในระหว่างสู้รบกับฝูงชนที่บุกเข้ามา    สวิสการ์ด บางคนตายในระหว่างสู้รบ   บางคนถูกสังหารโหดหลังจากยอมแพ้แล้ว  อีกบางส่วนถูกนำตัวไปคุมขัง และเสียชีวิตในคุกในเวลาต่อมา 

               สวิสการ์ด บางส่วนที่รอดชีวิต  ได้รับการว่าจ้างเป็นทหารรับจ้างให้แก่นโปเลียนในเวลาต่อมา


(ทหารรับจ้างชาวสวิสฯ ถูกสังหารโหดอีกครั้งในการปฎิวัติของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ปีค.ศ.1830)

               แม้จะเป็นงานที่ต่ำต้อย และ ถูกเหยียดหยามจากคนทั่วไป   แต่ทหารรับจ้างชาวสวิสฯ ก็ทำให้งานที่คนอื่นดูถูกเหยียดหยาม   กลายเป็นภารกิจที่มีเกียรติ  และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง 

               เพราะทหารรับจ้างชาวสวิสมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดภายในกองกำลังของตนเอง  เรียกได้ว่า   เข้มงวดมากกว่าทหารของประเทศนั้นๆเสียอีก

               ดังนั้น   ทหารสวิส จึงเป็นทหารที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด  และ ไว้วางใจได้เสมอ  จึงไม่น่าแปลกใจที่เงินค่าจ้างของทหารสวิสจะสูงกว่าเงินเดือนของทหารที่เป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆด้วยซ้ำ 

               เมื่อทำดีก็ย่อมได้รับผลดีตอบแทน  เพื่อเป็นการรำลึก  และ ตอบแทนความกล้าหาญของสวิสการ์ดที่เคยช่วยเหลือสันตะปาปาให้รอดพ้นจากการถูกจับตัวไป  สำนักวาติกัน ได้ออกเป็นกฎว่า  การ์ด ที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในวาติกัน จะต้องเป็นชาวสวิสโดยกำเนิด ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคเท่านั้น


(สวิสฯการ์ด ของวาติกัน ในเครื่องแบบที่ออกแบบโดย ไมเคิลแองเจโล)

               บนเส้นทางการสร้างชาติของชาวเฮลเวเทีย  จากการเป็นประเทศที่ยากจน  มาสู่ประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ  พวกเขาไม่เคยลืมกำพืดของตัวเอง 


(อนุสาวรีย์สิงโตบาดเจ็บ  เปรียบทหารรับจ้างชาวสวิสฯ ประหนึ่งสิงโตที่หยิ่งในเกียรติ และ ศักดิ์ศรีของตัวเอง  แม้จะทำงานที่ต่ำต้อยก็ตาม)

               ในปีค.ศ. 1820  มีการสร้างอนุสาวรีย์สิงโตบาดเจ็บที่กำลังจะตาย แกะสลักบนภูเขาในเมืองลูเซิร์น  เพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ และ หยิ่งในเกียรติยศของทหารรับจ้างชาวเฮลเวเทีย   

               หลังจากนั้นในปีค.ศ. 1927  หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพียง 9 ปี  รัฐสภาของสวิสฯก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้ชาวสวิสฯไปเป็นทหารรับจ้างอีกต่อไป 

               เป็นการจบประวัติศาสตร์การเป็นทหารรับจ้างของบรรพบุรุษของชาวสวิสฯ  แต่นั่นคือสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ศาสตร์การสร้างชาติ  และ  จิตวิญญาณของชาวสวิส 

               ทุกวันนี้  ในโรงเรียนของสวิสฯ เขายังคงสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่า  กว่าจะมาเป็นวันนี้  พ่อแม่ปู่ย่าตายายของเขา ต้องผ่านความโหดร้ายอะไรมาบ้าง 

               ผิดกันกับประเทศไทย  ที่เรายกเลิกวิชาประวัติศาสตร์ไปแล้ว 

               ลูกหลานของเขาจะเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีตได้จากอะไร  

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *