ก่อนจะมาเป็นดาราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ (ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (21 มกราคม 2561 )

ก่อนจะมาเป็นดาราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ (ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เพื่อป้องกันความสับสน (ของผมเอง)  จึงขอย้ายบทความที่เขียนในคอลัมน์ “ดูดวงออนไลน์” มาเขียนต่อในคอลัมน์ “ซอกซอนตะลอนไป”   เนื่องเพราะผมจะเก็บคอลัมน์ “ดูดวงออนไลน์” เอาไว้สำหรับพยากรณ์ดวงชะตาเท่านั้น 

               ด้วยเหตุที่ตั้งแต่ยุคฟาโรห์ของอียิปต์โบราณที่มีอายุประมาณ 5000 ปีที่แล้วเรื่อยลงมา จนกระทั่งถึงประมาณ 2 พันปีที่แล้ว เป็นสังคมเกษตรกรรม และ กสิกรรม  

               ดังนั้น  ชีวิตความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ หรือ  อดอยากยากแค้นของประชาชน ซึ่งรวมถึงความมั่งคั่งร่ำรวยของรัฐฯด้วย  จึงขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และ ธรรมชาติแวดล้อม เป็นหลัก 

               ชาวอียิปต์โบราณ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของธรรมชาติ  และ ต้องรู้ว่าธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงเมื่อใดที่

               จุดนี้เอง  ที่วิชาดาราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก


(ภาพจารึกของการเกิดสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ปี 51 ก่อนคริสตกาล ในวิหารเดนเดอรา  สะท้อนให้เห็นว่า  อียิปต์โบราณมีความก้าวหน้าในเรื่องดาราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์ในประเทศจีน)

               ชาวอียิปต์โบราณจึงต้องเรียนรู้ความเป็นไปของดวงดาวบนท้องฟ้าอย่างลึกซึ้ง เพราะมันเกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์เรื่องน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีของแม่น้ำไนล์  และน้ำท่วมนี่เองที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของชาวอียิปต์ทั้งมวล 

               ฤดูกาลของอียิปต์นับแต่โบราณกาล มี 3 ฤดู    ฤดูกาลแรกของปีก็คือ ฤดูน้ำท่วม ซึ่งภาษาเฮียโรกลิฟส์ (HIEROGLYPHS) ของอียิปต์โบราณจะออกเสียงประมาณว่า “อัคเคท”  

               ฤดูกาลที่สองก็คือ  ฤดูเพาะปลูก ซึ่งภาษาเฮียโรกลิฟส์ ของอียิปต์โบราณออกเสียงประมาณว่า “เปเรส” 

               และ ฤดูกาลสุดท้ายของปีก็คือ   ฤดูเก็บเกี่ยว  ซึ่งภาษาเฮียโรกลิฟส์ ของอียิปต์โบราณออกเสียงประมาณว่า “เชมู”


(รูปสลักของเทพีแห่ง 3 ฤดูกาลของอียิปต์โบราณที่วิหารคอม ออมโบ  จากขวาสุด คือฤดูน้ำท่วม  ถัดมาคือฤดูเพาะปลูก และ  สุดท้ายคือ ฤดูเก็บเกี่ยว)

               แต่ละฤดูกาลจะกินเวลาประมาณ 4 เดือน  3 ฤดูกาลก็จะกินเวลาประมาณ 12 เดือน  แต่ระยะเวลาของแต่ละฤดูกาลอาจจะสั้นยาวไม่เท่ากันทุกปี  ขึ้นอยู่กับปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ฤดูน้ำท่วม ซึ่งเป็นผลมาแต่ต้นน้ำของแม่น้ำไนล์สีน้ำเงิน(BLUE NILE) ที่อยู่ในประเทศเอธิโอเปีย กับแม่น้ำไนล์สีขาว(WHITE NILE) ที่มีต้นกำเนิดจากทะเลสาบวิคตอเรียในประเทศอูกันดา ไหลมาบรรจบกันที่เมืองคาร์ทูม ประเทศซูดาน


(แผนที่ต้นน้ำของแม่น้ำไนล์ ที่ไหลจากทางใต้ขึ้นไปสู่ทางเหนือ มีต้นน้ำในประเทศเอธิโอเปีย และ อูกันดา)

               ปริมาณน้ำที่มาก หรือ น้อยของแม่น้ำไนล์ จะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่ตกในเขตป่าดงดิบในเอธิโอเปีย และ อูกันดาโดยตรง   หากปีไหนฝนตกหนักมาก ปีนั้นปริมาณน้ำของแม่น้ำไนล์ก็จะมากเป็นพิเศษ  และจะทำให้เกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมหนัก และ ยาวนานกว่าปกติได้   

               นั่นหมายถึง  การดำรงชีวิตของชาวอียิปต์โบราณในปีนั้นๆ ก็จะยากลำบากด้วย  ช่วงที่เกิดน้ำท่วม  ชาวไร่ชาวนาก็จะว่างงาน  ไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากรอและรอ  

               และยังจะมีผลกระทบไปถึงฤดูเพาะปลูกก็จะสั้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย  ผลผลิตก็จะมีปัญหา  และในทางตรงกันข้าม  หากปีไหนน้ำในแม่น้ำไนล์น้อยกว่าปรกติ  ก็จะทำให้เกิดภาวะอดอยากยากแค้นตามมาเช่นกัน

               ภาวะของการอดอยากยากแค้น ซึ่งอียิปต์โบราณเคยเผชิญมานานนับพันปีแล้วนั้น   มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธะสัญญาเก่าว่า   

               โจเซฟ ทำนายความฝันให้แก่ฟาโรห์ ที่ทรงฝันว่า  มีโคซูบผอม 7 ตัวขึ้นมาจากแม่น้ำไนล์ แล้วกินโค 7 ตัวที่อ้วนพีกว่า ที่ขึ้นมาจากแม่น้ำไนล์ก่อนหน้านั้น

               ฟาโรห์ ยังฝันอีกว่า  ต้นข้าวต้นเดียว มีรวงข้าวที่อ้วนพี 7 รวง  แล้วต่อมาก็มีรวงข้าวลีบงอกออกมาอีก 7 รวง  แล้วรวงข้าวที่ลีบเล็กก็กลืนกินรวงข้าวที่อ้วนพีนั้นเสีย 

               โจเซฟ ซึ่งพื้นเพเดิมเป็นชาวยิว ได้ทำนายความฝันให้แก่ฟาโรห์โดยบอกว่า  แผ่นดินอียิปต์จะมีความอุดมสมบูรณ์ 7 ปี  แล้วหลังจากนั้นก็จะประสบกับความอดอยากยากแค้นอีก 7 ปี  จึงแนะนำให้ฟาโรห์ทำการเก็บสะสมอาหารในช่วงที่อียิปต์มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากในช่วง 7 ปีแรก  เพื่อรับมือกับความอดอยากที่จะตามมาอีก 7 ปี

               หลังจาก 7 ปีที่อุดมสมบูรณ์ผ่านไป  ไม่เพียงแต่อียิปต์เท่านั้นที่เกิดภาวะอดอยาก ยากแค้น  แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงอียิปต์ เช่น ดินแดนอิสราเอล และ ปาเลสไตน์ในปัจจุบันก็เกิดภาวะอดอยากยากแค้นไปทั่ว   แต่อียิปต์ก็รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้มาได้  เพราะได้เตรียมการรับมือตามคำทำนายของโจเซฟ 

               จะเห็นว่า  ฤดูกาลต่างๆทั้ง 3 ฤดู มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของชาวอียิปต์โบราณเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งตอนหน้าผมจะเล่าต่อว่า  ชาวอียิปต์โบราณรู้ได้อย่างไรว่า  กำลังจะถึงฤดูกาลอะไร 


(วิหารคอม ออมโบ ซึ่งเป็นวิหารที่พิเศษกว่าวิหารอื่นๆในอียิปต์ เพราะเป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อถวายให้แก่เทพเจ้า 2 องค์ด้วยกัน)

               ทั้งนี้ก็ด้วยปฎิทินที่ปรากฎอยู่ในวิหารคอม ออมโบ ครับ

               สนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผู้เชี่ยวชาญอียิปต์กับ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ซึ่งเรามีทัวร์อียิปต์ออกเดินทางเป็นซีรี่ส์ทุกเดือน  ใกล้ที่สุดคือ 1 – 10 มีนาคม และ  10 – 19 เมษายน  ติดต่อ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ ID  Line 140924978

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *