อุม คุลธุม ราชินีเสียงทองผู้ระเบิดไมค์โครโฟน (ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (20 พฤษภาคม 2561 )

อุม คุลธุม ราชินีเสียงทองผู้ระเบิดไมค์โครโฟน (ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เธอย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงไคโรอย่างถาวรในปีค.ศ.1923   และที่นี่เอง  เธอได้เรียนรู้การเล่นดนตรีบางชนิดเช่น  ขลุ่ยแบบอียิปต์   ได้รู้จักกันนักประพันธ์เพลงชื่อดังในยุคนั้นอย่าง  อาห์หมัด รามิ (AHMAD RAMI) ซึ่งต่อมาได้แต่งเพลงให้เธอร้องมากถึง 137 เพลง

               เพลงยุคนั้นของเธอ  จะเป็นเนื้อร้องแบบบทกวี  บทประพันธ์คลาสสิค  และ  บทกวีของชนชั้นสูง    

               อาจเนื่องจากเธอมีกำเนิดมาจากครอบครัวยากจน  จึงทำให้เธอสงบเสงี่ยมเจียมตน  ไม่ทำตัวประหลาดแบบศิลปินคนอื่นๆในยุคนั้น  จึงทำให้ได้รับความเมตตาจากนักประพันธ์เพลง และ ศิลปินดนตรีอื่นๆช่วยส่งเสริมสนับสนุนเธอขึ้นมา 


(อุม คุลธุม อยู่ท่ามกลางนักประพันธ์เพลงและนักดนตรีคลาสสิคของอียิปต์- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เธอค่อยๆสั่งสมชื่อเสียงขึ้นมาเรื่อยๆ  และด้วยเวลาอีกเพียง 9 ปี  แผ่นเสียงของเธอก็ขายดิบขายดีไปทั่วทั้งภูมิภาค ไม่เพียงแต่เฉพาะในอียิปต์เท่านั้น  จนทำให้เธอต้องเริ่มเดินสายไปแสดงทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง และ ภูมิภาคอัฟริกาตอนเหนือ เช่น  ซีเรีย  อิรัก  เลบานอน  มอรอคโค  ตูนีเซีย  และ ลิเบีย    

               สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เธอได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และมากมายเพราะ  ในขณะที่ศิลปินนักร้องคนอื่น มักจะจัดการแสดงคอนเสิร์ตแบบเฉพาะกลุ่ม   แต่เธอนิยมที่จะจัดการแสดงต่อหน้าสาธารณะชนทั่วไป 

               นี่เป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งของวงการดนตรีของอียิปต์  ที่บทประพันธ์ หรือ เพลงแบบคลาสสิค และ เพลงแบบคนชั้นสูง  กลายมาเป็นดนตรีที่ชาวบ้านทั่วไปก็ชื่นชอบในโลกของชาวอาหรับ


(ในช่วงที่เธอมีชื่อเสียงมาก ได้พบปะกับชนชั้นสูงมากมาย  ในภาพกับสุลต่านแห่งอาบู ดาบี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ในปีค.ศ. 1934  เธอเริ่มร้องเพลงสดออกทางสถานีวิทยุกระจายเสียง    หลังจากนั้น  รายการเพลงทางวิทยุของเธอก็ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด 

               ว่ากันว่า  ชาวอียิปต์จะรีบกลับบ้านในวันพฤหัสบดีแรกของเดือน  แล้วนั่งล้อมวงหน้าเครื่องรับวิทยุเพื่อฟังเสียงร้องของเธอ  คล้ายกับคนไทยที่รีบกลับบ้านมาดูละคร “บุพเพสันนิวาส” อย่างไรอย่างนั้น  

เทศกาลร้องเพลงทางวิทยุของเธอจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 

ชื่อเสียงของเธอโด่งดังมากจนกระทั่งราชสำนักของอียิปต์ (ราชวงศ์มูฮัมหมัดอาลี) ต้องเชิญให้เธอเข้าไปร้องเพลงในพระราชวัง   จนในปีต่อมา  เธอก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่เรียกว่า นิชาน เอล  คามาล (NISHAN EL KAMAL) 

เธอสนิทสนมกับราชสำนักมากจนกระทั่งมีข่าวว่า  ลุงของกษัตริย์ฟารุค ที่ 1 ประสงค์ที่จะอภิเษกกับเธอ  แต่ได้รับการคัดค้านจากกษัตริย์ฟารุค  ซึ่งทำให้เธอสะเทือนใจอย่างมากจนต้องทำตัวห่างออกมาจากราชสำนักในเวลาต่อมา 

ในบรรดาคนที่นิยมชมชอบการร้องเพลงของเธอนั้น  มีนายทหารที่ชื่อ กามาล อับเดล นัสเซอร์ รวมอยู่ด้วย เขาเป็นหนึ่งในผู้การก่อการปฎิวัติรัฐประหารขับไล่กษัตริย์ฟารุคออกไปจากประเทศในปีค.ศ. 1953


(ความดังของเธอขนาดที่ นิตยสาร LIFE ต้องนำไปขึ้นปก- ภาพจากวิกิพีเดีย)

ความนิยมของเธอมีมากขนาดที่  รายการผู้นำพูดกับประชาชนของ นัสเซอร์ ต้องอยู่ต่อจากรายการเพลงของเธอเพราะมีแฟนรายการเพลงจำนวนมากฟังอยู่  

เธอให้การสนับสนุนกองทัพอียิปต์มาโดยตลอด  และมักจะร้องเพลงเพื่อระดมทุนให้แก่กองทัพในยามที่ประเทศต้องทำสงครามกับอิสราเอล   จนมีข่าวว่า   เธอและนัสเซอร์ มีใจตรงกัน   แต่ไม่อาจจะรักกันได้  เพราะต่างก็มีคู่อยู่แล้ว 

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอก็คือ  พลังเสียงที่จะหาใครเทียบได้ยาก   ครั้งหนึ่งเธอร้องเพลงโดยมีไมโครโฟนวางอยู่ตรงหน้า  พลังเสียงของเธอทำให้ไมโครโฟนตัวนั้นระเบิดเสียหายไปทันที   จนตอนหลัง  เขาต้องวางไมโครโฟนให้สูงกว่าระดับปากของเธอ 


(ยามเธอร้องเพลง  ไมโครโฟนจะต้องวางอยู่เหนือระดับปากของเธอ- ภาพจากวิกิพีเดีย)

เพลงของเธอแต่ละเพลงจะมีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมเศษๆ  เฉพาะดนตรีอินโทรดักชั่นก็กินเวลากว่า 15 นาทีแล้ว  เธอจะนั่งรอขณะดนตรีเริ่มเล่น   จนกระทั่งเมื่อเธอลุกขึ้นเพื่อร้องเพลง   คนดูจะปรบมือให้เธออย่างเกรียวกราวทีเดียว

ข้างล่างนี้ก็คือ ลิงค์ที่นำไปสู่ยูทิว ที่เป็นการแสดงคอนเสริตของเธอ  ลองฟังดูนะครับ 

ทุกคนที่เข้าไปชมการแสดงของเธอ  จะต้องแต่งกายด้วยชุดสูทสากล  และ ผู้หญิงก็จะต้องแต่งชุดราตรียาว   เป็นการชมการแสดงที่ให้เกียรติแก่ผู้แสดงอย่างยิ่ง  

ด้วยการร้องเพลงที่ใช้พลังเสียงมากแบบนี้นี่เอง   ทำให้เมื่ออายุเธอมากเข้า  ดวงตาของเธอก็มีอาการโปนออกมามากกว่าปกติ  จนบางครั้งเธอต้องหยุดร้องไปเป็นครั้งคราว 

ปกติ   เธอจะร้องเพลงในรายการแสดงประมาณ 2 ถึง 3 เพลง ซึ่งกินเวลาประมาณ 3 ถึง 4 ชั่วโมง  แต่เมื่อสุขภาพของเธอแย่ลง  เธอต้องลดจำนวนเพลงที่ร้องลงด้วย

เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1975  ขณะอายุ 76 ปี 

แม้เธอจากเสียชีวิตไปกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม  แต่ด้วยความโดดเด่นในพลังเสียงที่ไม่เหมือนใคร เธอจึงได้รับการจดจำจากชาวอียิปต์ในฉายาว่า  “พีระมิดองค์ที่ 4 ของอียิปต์” ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูงสุด


(เธอ ผู้มีฉายาว่า พีระมิดองค์ที่ 4 ของอียิปต์)

อุม คุลธุม  ราชินีเสียงทองผู้ระเบิดไมโครโฟน

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ กับผม และ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  ผมมีกรุ๊ปที่จะเดินทางครั้งต่อไปในวันที่ 19 – 28 กรกฎาคม นี้  ซึ่งรับประกันออกเดินทางแน่นอน  สามารถติดต่อไปที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ ID Line 14092498 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *