ในมิติของความเหลวไหลที่อียิปต์ (ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (7 ตุลาคม 2561 )

ในมิติของความเหลวไหลที่อียิปต์ (ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมเขียนบทความเกี่ยวกับอียิปต์มากมายหลากหลายแง่มุมในคอลัมน์ “ซอกซอนตะลอนไป” นานเกือบ 5 ปีแล้ว   ไม่นับหนังสือไกด์บุ๊ค “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์” ที่ผมเขียนเมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว  ทุกเรื่องจะเขียนแต่ในแง่มุมประวัติศาสตร์  แง่มุมโบราณคดี  แง่มุมวัฒนธรรม  และ  แง่มุมการท่องเที่ยว เท่านั้น  

               วันนี้ของเขียนเรื่อยเปื่อยลมเพลมพัดตามใจตัวเองสักนิด เพื่อเขียนถึงแง่มุม “เหลวไหล” ที่ไม่ต้องมีหลักฐานใดๆทางประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดีในการอ้างอิงเลย 

               ผมได้ยินคำบอกเล่าจากปากที่สองหรือสามมาหลายครั้งหลายหนว่า  มีนักท่องเที่ยวบางคนที่มาเที่ยวอียิปต์ และได้ซื้อของที่ระลึกที่มีลักษณะเหมือนของจากยุคอียิปต์โบราณกลับไป   หลังจากนั้น  ก็ได้พบกับปรากฎการณ์แปลกๆ  เขย่าขวัญ  หรือ สยองขวัญ  ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่า  มาจากของที่ซื้อจากอียิปต์ไปนั่นเอง 

               เขาเล่าว่า  เจ้าของตัวจริงมาขอของที่ระลึกนั้นคืน    จนในที่สุด  เจ้าตัวต้องนำกลับไปคืนถึงอียิปต์ 

               ผมไม่แน่ใจว่า   เรื่องที่เล่าต่อๆกันมานี้  เป็นเรื่องจริงหรือไม่  เพราะยังไม่เคยเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์  หรือ เห็นหน้าตาของผู้เป็นข่าวว่าไปซื้อของที่ระลึกที่ว่านี้จากอียิปต์มาเลย 


(โลงศพที่ทำด้วยหินแกรนิต  เล่ากันว่า  ฝรั่งที่มาถึงอียิปต์เป็นพวกแรกๆ  นำกลับประเทศแล้วเอาไปเจาะรูเพื่อทำเป็นอ่างอาบน้ำ  เพราะไม่รู้ว่าเป็นโลงศพ  เท็จจริงไม่ทราบ)

ผมไม่อยากบอกว่า  ผู้ซื้อของที่ระลึกไปจากอียิปต์ และประสบกันเหตุการณ์แปลกๆดังกล่าว   คิดไปเอง  หรือ  วิตกจริต   เพราะมีทั้งนิยาย   เรื่องเล่าลือ และ เล่าขานกันมานานเกี่ยวกับวัตถุโบราณ  มัมมี่ และ พีระมิด ว่า   เจ้าของวัตถุโบราณทุกอย่างในยุคอียิปต์โบราณยังมีจิตผูกพันกับสิ่งของต่างๆเหล่านั้นอยู่  

               ด้วยเหตุที่มนุษย์ในยุคนี้  ไม่อาจหาคำตอบที่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า   สิ่งก่อสร้างที่สร้างมาเมื่อหลายพันปีที่แล้ว  สร้างอย่างไร  สร้างเมื่อใด  ไม่ว่าจะเป็นพีระมิดที่เมืองกีซ่า  หรือ  สฟิงซ์ที่อยู่ข้างพีระมิดองค์ที่สองของฟาโรห์ เคฟเฟรน

               จึงเกิดเรื่องเล่าลือที่เพริดไปด้วยจินตนาการ  และ ใส่สีตีไข่นิยายสยองขวัญหลุดโลกเกี่ยวกับอียิปต์โบราณขึ้นมากมาย  ว่ากันว่า  นิยายและเรื่องเล่าเหล่านี้เริ่มมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 


(ภายในพิพิทภัณฑ์แห่งชาติ ไคโร  มีมัมมี่จากหลายยุคจัดแสดงอยู่ที่นี่  ยังไม่เคยมีข่าวว่า  มัมมี่ลุกขึ้นมาเดินเล่นตอนกลางคืน)

               ไม่ว่าจะเป็นมัมมี่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเพื่อล้างแค้น  เรื่องเล่าที่ว่า หากเอาเนื้อสดๆไปวางไว้ในห้องเก็บศพภายในพีระมิด  เนื้อสดนั้นจะไม่เน่าเปื่อย   หรือ หากเอาใบมีดทื่อๆไปวางไว้ในห้องเก็บศพของพีระมิด   มีดนั้นจะคมขึ้นมาได้เอง  เป็นต้น


(สฟิงซ์ ที่เมืองกีซ่า ที่มีเรื่องเล่าขานว่า  มีประตูเปิดเข้าไปในตัวของสฟิงซ์ได้)

               บางเรื่องก็เล่าลือว่า   มีคนเคยเห็นช่องประตูที่เปิดตรงตัวของสฟิงซ์ที่กีซ่า  และมีแสงสว่างจ้าส่องผ่านออกมาผ่านประตูจากภายในตัวสฟิงซ์  เป็นความหมายว่า ในตัวสฟิงซ์มีห้องลึกลับอยู่  แต่ก็ไม่เคยมีผู้ยืนยัน  หรือ พิสูจน์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น  ภาพถ่าย เลยแม้แต่ครั้งเดียว

               หรือแม้กระทั่ง   ข่าวลือที่ว่า  มีเมืองใต้ดินอยู่ใต้สฟิงซ์ และ พีระมิด

               นอกจากนี้   ยังมีเรื่องโม้บ้างจริงบ้างผสมกัน   หลังจากการค้นพบสุสานของตุตันคาเมน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีค.ศ.1922  โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์  สร้างความสยองขวัญต่อผู้ได้รับทราบข่าวกันในวงกว้าง

               จนกลายเป็นเรื่องเล่าที่มีชื่อว่า  “คำสาปของฟาโรห์” ผู้ตื่นจากการหลับใหลมานานหลายพันปี เพื่อแก้แค้นต่อผู้รุกรานสุสานของพระองค์   


(การค้นพบสุสานของฟาโรห์ ตุตันคาเมน ของโฮเวิร์ด คาร์เตอร์)

               บางเรื่องก็ว่า   พบงูเห่าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปกปักรักษาฟาโรห์ไม่รู้ว่ามาจากไหน   อยู่ๆก็ไปกินนกแก้วที่โฮเวิร์ด คาร์เตอร์เลี้ยงไว้  เสมือนฟาโรห์ตุตันคาเมน ล้างแค้นผู้บุกรุกหลุมฝังศพของพระองค์

               บ้างก็ว่า  หลังจากเปิดหลุมฝังศพไม่กี่วัน   คนงานที่เข้าไปในสุสานของฟาโรห์ พากันล้มตายหลายต่อหลายคน 

               หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน   ลอร์ด คาร์นาร์วอล  ผู้เป็นนายทุนในการค้นหาหลุมฝังศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน ก็มาเสียชีวิตสาเหตุจากบาดแผลเล็กๆจากการโกนหนวด  ที่ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด  ซึ่งถูกโยงว่าเป็นการกระทำของ ตุตันคาเมน  


(จินตนาการเกี่ยวกับ มัมมี่ ของผู้สร้างภาพยนตร์ในยุคปัจจุบัน – ภาพจากอิตเตอร์เน็ต)

               และยังลือไปต่างๆนานาอีกว่า  ช่างภาพผู้จะทำหน้าที่ถ่ายเอ็กซ์เรย์มัมมี่ของตุตันคาเมน เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุระหว่างเดินทางไปอียิปต์

               จนกระทั่งมีนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยลงข่าวว่า  มีนักท่องเที่ยวชาวไทยไปซื้อของที่ระลึกตามถนนในอียิปต์  เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยก็เกิดเห็นภาพที่เขาคิดว่า  เจ้าของวัตถุโบราณนั้นตามมาขอของคืน   จนเขาต้องนำกลับไปคืนถึงอียิปต์ 

               ใครสมัครใจเชื่อ  ก็เป็นสิทธิ์นะครับ   แต่ผมไม่ค่อยจะเชื่อ  ด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งผมจะเล่าต่อในสัปดาห์หน้า

               ด้วยเหตุที่ผมเดินทางไปอียิปต์แทบจะทุกปี  ปีละหลายหน  ผมจึงค่อนข้างจะคุ้นเคยกับเรื่องเล่าลือแบบนี้มานาน  จนเมื่อปีที่แล้ว   ผมได้พบกับเจ้าของแผงขายของที่ระลึกในเมืองโบราณเมมฟิส ใกล้กรุงไคโร 

               คุณลุงเจ้าของแผงขายของชื่อ  อิบราฮิม  แกเกิดชอบใจอะไรผมก็ไม่ทราบ  ทุกครั้งที่เจอกัน  แกเป็นต้องยัดของที่ระลึกใส่ในมือผมทุกครั้ง   จะปฎิเสธไม่รับ  แกก็ไม่ยอม

               ผมจะจบเรื่องแบบดื้อเอาไว้ตรงนี้   ค่อยเล่าต่อในสัปดาห์หน้านะครับ

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางไปเจาะลึกอียิปต์ กับผม  ซึ่งจะมีออกทุกเดือน   เดือนพฤศจิกายนนี้ก็คือระหว่างวันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน   สนในติดต่อสอบถามได้ที่  02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ  ID Line  14092498

               แล้วเราไปดูกันว่า  มีคำสาปของฟาโรห์จริงหรือไม่ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *