พิธีพืชมงคลของอียิปต์โบราณ

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 พฤษภาคม 2562)

พิธีพืชมงคลของอียิปต์โบราณ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ประเทศของเราเพิ่งจะผ่านพ้นพระราชพิธีมหามงคล 2 พิธี  ก็คือ  พิธีราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม  และ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ พิธีพืชมงคล เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ไป

               พิธีทั้งสองถือเป็นพิธีที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่นับพันๆปี ลึกซึ้งอยู่ในสายเลือดของประเทศที่มีรากเหง้าที่เป็นเอเชีย  ซึ่งจะไม่ค่อยมีให้เห็นในประเทศตะวันตก หรือ  ยุโรป แต่อย่างใด

               ท่านผู้อ่านอาจไม่ทราบว่า  ประเทศอียิปต์โบราณเมื่อประมาณ 2 พันปีที่แล้ว ถูกเรียกขานจากอาณาจักรโรมันว่า  เอเชีย  ไม่ใช่  อัฟริกา

               ในยุคนั้น  เอเชีย และ ตะวันออกกลาง  เช่น เปอร์เชีย  ตุรกี  ซีเรีย  จอร์แดน  อิสราเอล อินเดีย  รวมถึง จีน   เป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก   มากกว่าในยุโรปด้วยซ้ำ

               ในโปรแกรมท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ของ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ที่ผมเป็นผู้บรรยายชม  ผมจะพาไปชมภาพเขียนสำคัญในวิหารของฟาโรห์ รามเซส ที่ 3 บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไนล์ ที่เมืองลักซอร์  


(คณะทัวร์ของไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ที่หน้าวิหารรามเซสที่ 3)

               ฟาโรห์รามเซส ที่ 3 มิได้เป็นญาติ หรือ มีความเกี่ยวพันแต่อย่างใดกับ ฟาโรห์รามเซส ที่ 2  เพราะรามเซส ที่ 2 อยู่ในราชวงศ์ที่ 19 ครองราชในช่วงปี 1279 ถึง ปี 1213 ก่อนคริสตกาล  ในขณะที่  รามเซสที่ 3 อยู่ในราชวงศ์ที่ 20 ครองราชย์ระหว่างปี 1186 – ปี 1155 ก่อนคริสตกาล

               นับมาถึงวันนี้  ก็กว่า 3 พันปีเศษแล้ว

               ในวิหารของรามเซส ที่ 3 ซึ่งบางครั้งก็เรียก MEDINET HABU TEMPLE เป็นวิหารที่ใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาของมัมมี่ของ ฟาโรห์ รามเซส ที่ 3 ก่อนที่จะนำไปฝังในสุสานของฟาโรห์ ใน หุบผากษัตริย์  หรือ VALLEY OF THE KINGS 

               ผมจะนำเรื่องพิธีทางศาสนาหลังจากที่ฟาโรห์สิ้นพระชนม์ จนกระทั่งนำพระศพเข้าไปฝังในสุสาน มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในตอนต่อๆไปนะครับ  

               ดังนั้น  ในสุสาน  หรือ ในวิหารที่เกี่ยวข้องกับฟาโรห์ จึงมักจะมีภาพเขียน หรือ ภาพแกะสลัก บรรยายเรื่องราวชีวิตของฟาโรห์ว่า  พระองค์มีกิจกรรมอะไรบ้างในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่

               ทุกครั้งที่นำชมวิหารรามเซส ที่ 3  ผมจะต้องพาคณะนักท่องเที่ยวมาชมภาพแกะสลักที่บักทึกวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาติ ที่ยืนหยัดได้ด้วยตัวเองจากการพึ่งพาเกษตรกรรม และ กสิกรรม อย่างเช่น ชาติอียิปต์โบราณ

               ประเพณีดังกล่าว น่าจะเทียบได้กับ  ประเพณีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของไทย  ที่คงจะได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ของอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง  

               ภาพข้างบนเป็นเหตุการณ์ตอนที่ฟาโรห์ รามเซส ที่ 3 เพราะมีชื่อของพระองค์กำกับอยู่ใน “คาร์ทูช”    สวมมงกุฎขาวของอียิปต์บน (UPPER EGYPT)  ที่เหมือนพินโบว์ลิ่ง กำลังไถหว่านด้วยไถที่เทียมด้วยวัว 4 ตัว

               ภาพข้างบนเป็นภาพที่แสดงให้เห็นฟาโรห์ รามเซส ที่ 3 ขณะสวมมงกุฎขาวของ อียิปต์บนเช่นกัน  กำลังเกี่ยวข้าวที่ได้เพาะปลูกไปก่อนหน้านี้    ด้านซ้ายจะเห็น  ฟาโรห์ รามเซส ที่ 3 ซึ่งไม่ได้สวมมงกุฎใดๆ กำลัง ยกมือเสมือนหนึ่งถวายสิ่งที่พระองค์เก็บเกี่ยวมาได้ ให้แก่เทพองค์หนึ่ง ที่กำลังประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์

               เทพเจ้าองค์นี้ก็คือ เทพฮาปี(HAPI) ซึ่งเป็นเทพแห่งแม่น้ำไนล์  ผู้ดลบันดาลให้แม่น้ำไนล์ท่วมตลิ่งทั้งสองฝั่งเป็นเวลานานประมาณ 4 – 5 เดือนทุกปี   และ ทำให้แผ่นดินทั้งสองฝั่งเต็มไปด้วยปุ๋ยธรรมชาติที่น้ำท่วมได้เอาพัดพาเอาทรากพืชทรากสัตว์มาทับถม  จนเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์มากเหมาะแก่การเพาะปลูกหลังน้ำลดสู่สภาพปกติ

               นี่คือสาเหตุหนึ่ง  ที่ทำให้อียิปต์กลายเป็นแหล่งอารยธรรมทางตอนเหนือของทวีปอัฟริกา  และเป็นพื้นที่สำคัญที่คอยส่งเสบียงอาหารไปให้แก่อาณาจักรโรมัน  และ ให้แก่ยุโรปในเวลาต่อมา

               สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม  สามารถติดต่อได้ที่ 02 651 6900  หรือ  088 578 6666 หรือ Line ID 14092498    เรามีทัวร์อียิปต์ออกทุกเดือนครับ

               สัปดาห์หน้า  จะเอาเรื่องความสำคัญของพระราชพิธีดังกล่าว  ที่เกี่ยวพันไปถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ของอียิปต์โบราณมาเล่าสู่กันฟังครับ 

               โปรดติดตามครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .