เกมส์ อ๊อฟ โทรน ของฟาโรห์(ตอน 8)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 สิงหาคม 2562)

เกมส์ อ๊อฟ โทรน ของฟาโรห์(ตอน 8)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แม้จะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินอียิปต์แล้วก็ตาม  ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน ก็ไม่รู้สึกว่า พระองค์มีความมั่นคงปลอดภัยเลยสักนิด  เพราะดูเหมือนว่า  ศัตรูของพระองค์จะมีอยู่ทั้งประเทศ

               พระองค์ไม่สามารถไว้ใจใครได้เลยแม้สักคนในพระราชวัง   เพราะแม้แต่บิดาของพระองค์เองคือ  อาเมนโฮเทป ที่ 3 ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  ก็ยังเป็นศัตรูในสายตาของพระองค์

               ในวิหารลักซอร์  ซึ่งเป็นวิหารเล็กคู่แฝดกับวิหารคาร์นัค  มีหลักฐานชัดเจนว่า  สิ่งก่อสร้างที่อยู่ลึกเข้าไปข้างในสุด และ ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  คือ  ห้องบูชาเทพเจ้า (HOLY OF THE HOLY) นั้น  ผู้สร้างก็คือ ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 3  บิดาของ อัคเคนนาเตน นั่นเอง  

               แน่นอนว่า  ภายในวิหารนี้  ไม่ว่าจะเป็น เสา หรือ ผนังต่างๆ  ก็จะมีการจารึกตัวอักษรอียิปต์โบราณที่เรียกว่า เฮียโรกลิฟ  บรรยายว่า  ฟาโรห์ องค์ใดเป็นผู้สร้าง  และ ฟาโรห์องค์นั้น ได้สร้างคุณงามความดีในการทำสงครามให้แก่ประเทศนี้อย่างไรบ้าง และ  วิหารหลังนี้ สร้างเพื่อถวายแด่เทพองค์ใด  ประมาณนี้


(บนกำแพงด้านนอก  ขวามือสุด และ  ซ้ายมือสุด ก็คือ ฟาโรห์ของราชวงศ์ปโตเลมี กำลังจับข้าศึกศัตรูของอียิปต์ มาถวายแด่ เทพฮอรัส ที่ยืนประจันหน้ากัน)

               เหมือนเป็นการประกาศอำนาจบารมี และศักดานุภาพของฟาโรห์ที่เชื่อกันว่า เป็นผู้ที่เทพเจ้าส่งลงมาเกิดในโลกมนุษย์  เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อียิปต์

               ให้แก่อียิปต์เท่านั้นนะครับ  ไม่ใช่แก่ชาวโลก  แบบที่เราส่วนใหญ่เข้าใจว่า  อาดัม กับ อีฟ เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์โลก   ซึ่งไม่ใช่

               เพราะตามคัมภีร์ชาวยิว   อาดัม กับ อีฟ  เป็นแค่บรรพบุรุษของชาวยิวเท่านั้น  ไม่เกี่ยวกับชนชาติอื่น  

               ดังนั้น  การจารึกรายละเอียดเหล่านี้  ในอีกมุมหนึ่งก็คือ  การแสดงให้เห็นว่า  ฟาโรห์ มีความเชื่อมโยง  หรือ  เป็นคนโปรดของเทพเจ้าต่างๆด้วย 

               ในวิหารลักซอร์ มีพระนามของฟาโรห์ มากมายหลายพระองค์ที่ถูกจารึกไว้ เนื่องจากผ่านกาลเวลาของฟาโรห์มาไม่น้อยกว่า 10 พระองค์  และ ฟาโรห์ทุกพระองค์ ต่างก็ต้องการจะมีส่วนร่วมในการสร้างกำแพง หรือ วิหาร ถวายแด่เทพเจ้า  หรือ  ต้องการจะแสดงถึงการเชื่อมโยงของพระองค์กับเทพเจ้า  

               และที่พลาดไม่ได้ก็คือ  จะต้องมีการจารึกพระนามของฟาโรห์องค์นั้นเอาไว้บนเสา หรือ กำแพงด้วย

               เมื่อรู้ว่าพระองค์มีศัตรูอยู่รอบตัว  อัคเคนนาเตน จึงเริ่มสร้างพระราชวังใหม่ พร้อมศาสนสถานเพื่อแด่เทพเจ้า อะเตน เทพเจ้าองค์เดียวที่พระองค์สถาปนาขึ้นมา   สถานที่สร้างพระราชวังแห่งใหม่นี้อยู่ริมแม่น้ำไนล์เช่นกัน แต่อยู่ทางเหนือของเมืองธีบส์ ซึ่งเป็นพระราชวังเดิมขึ้นไปประมาณ 400 กิโลเมตร


(ซากของเมือง อามาร์นา หลังจากผ่านการบูรณะมาชั่วระยะหนึ่ง  จากเดิมที่แทบจะไม่เหลืออะไรเลย)

               เนื่องจากต้องเร่งมือในการสร้างจนสามารถสร้างเสร็จใน 4 ปี   วัสดุที่ใช้จึงเป็นแบบที่ทำง่าย  เช่น  ดินดิบ ซึ่งก็คือดินเหนียวตากแดดแห้งโดยไม่ผ่านการเผา  และ หินประเภทหินปูนที่เนื้ออ่อน

               ทำให้ไม่ค่อยเหลือซากเมืองอามาร์นาให้เห็นในปัจจุบันนี้เท่าไหร่นัก

               แต่ที่ยังเหลือให้เห็นจนทุกวันนี้ก็คือ  รูปแบบของศิลปะที่ค่อนข้างแปลกตากว่าในยุคก่อนๆ  จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ต้องตั้งชื่อให้เป็นพิเศษ  เรียกว่า  ศิลปะยุคอามาร์นา

               ลักษณะเด่นของศิลปะยุคอามาร์นา ก็คือ  ใบหน้าของรูปสลัก จะค่อนข้างยาว  จนกระทั่งอาจจะเรียกได้ว่า  ยาวจนผิดสัดส่วน     


(รูปสลักของ ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน ที่มีใบหน้ายาวเรียวมาก และ ทรวดทรงออกไปทางผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย)

               นอกจากนี้  รูปทรงของกะโหลกศรีษะก็ยังขยายยาวขึ้นไปจนเหมือนกับศรีษะของพวกมุษย์ต่างดาวในภาพยนต์เรื่อง ET ของ สตีเว่น สปิลเบิร์ก  และเชื่อกันว่า  สปิลเปบิร์กน่าจะได้รับแนวความคิดของรูปร่างหน้าตาของมนุษย์ต่างดาวจากรูปสลักของครอบครัว อัคเคนนาเตน จากพิพิธภัณฑ์ไคโร นี่เอง 


(รูปสลักในยุค อามาร์นา ที่มีกะโหลกศรีษะด้านหลังโหนกนูนออกมามากผิดปกติ)

               ที่ยังเห็นเป็นหลักฐานเหลือมาจนทุกวันนี้ก็คือ  การทำลายล้างคนที่เห็นต่างในทางศาสนา  ไม่เว้นแม้กระทั่ง  พ่อของตัวเอง

               ปรากฏหลักฐานการถูกกะเทาะอย่างจงใจ ตรงที่เป็นพระนามของ อาเมนโฮเทป ที่ 3 ที่อยู่ใน คาร์ทูช และถูกแกะสลักเอาไว้ตรงหัวเสา(CAPITAL)ในวิหารลักซอร์ ซึ่งเชื่อกันว่า  เป็นไปตามคำสั่งของฟาโรห์ อัคเคนนาเตน ผู้ลูก

               ท่านผู้อ่านอาจจะตำหนิติเตียนว่า  ทำไมลูกถึงได้เลวร้ายขนาดนี้    แต่ผมมักจะบอกกับคณะผู้ร่วมเดินทางกับผมเสมอว่า  อย่าเอามาตรฐานจริยธรรมของยุคปัจจุบันไปตัดสินจริยธรรมของคนเมื่อ 3 พันปีที่แล้ว  เพราะมันไม่ยุติธรรม   

               สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน กับผมครั้งต่อไป 10 – 19 ตุลาคม   เข้าชมพิพิธภัณฑ์ไคโร และ ชมรูปสลักของฟาโรห์ อัคเคนนาเตน พร้อมบรรยายอย่างละเอียด  ด้วยโปรแกรมเดินทางที่แสนสบาย  พักในเรือสำราญระดับ 5 ดาวดีลักซ์ล่องแม่น้ำไนล์ 3 คืน และ พักโรงแรมบนเกาะกลางแม่น้ำไนล์ในไคโร 4 คืน  อาหารอย่างดี  บรรยายชมอย่างเจาะลึก  ออกเดินทางทุกเดือน 

               เชิญติดต่อสอบถามได้ ที่  02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498

               ออกเดินทางแน่นอน

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลัง 5 ปี  สามารถอ่านได้ที่ บล็อก “ซอกซอนตะลอยไป”  ที่ www.whiteelephanttravel.co.th 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .