เกมส์ อ๊อฟ โทรน ของฟาโรห์(ตอน 9 จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (25 สิงหาคม 2562)

เกมส์ อ๊อฟ โทรน ของฟาโรห์(ตอน 9 จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               บันทึกเหตุการณ์ในรัชสมัยของ ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน ค่อนข้างจะไม่ชัดเจน   บางหลักฐานบอกว่า  อัคเคนนาเตน ปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในปีที่ 12 ของรัชการของพระองค์  หรือประมาณ 5 ปีก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์

               หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์   เมืองหลวงของอียิปต์โบราณก็ถูกย้ายจากเมืองอามาร์นา กลับมาที่เมืองธีบส์ อีกครั้ง  หลังจากนั้น  เรื่องราวของฟาโรห์ อัคเคนนาเตน ก็เงียบหายไปจากประวัติศาสตร์

               มีการค้นพบมัมมี่ร่างหนึ่งของราชวงศ์ในสุสานหมายเลข KV55 ในหุบผากษัตริย์  และเมื่อทำการทดสอบทางพันธุกรรมแล้ว  นักโบราณคดีก็ระบุว่า  มัมมี่ที่พบนั้น เป็นมัมมี่ของ บิดาของฟาโรห์ ตุตันคาเมน 

               เพราะมี รหัสทางพันธุกรรม (DNA) ตรงกันกับมัมมี่ของตุตันคาเมน ที่ขุดพบเมื่อปีค.ศ. 1922 โดย  โฮเวิร์ด คาร์เตอร์  นักโบราณคดีชาวอังกฤษ 

               ทำให้เชื่อมโยงต่อไปว่า  มัมมี่ที่ค้นพบในหลุม KV55   น่าจะเป็นมัมมี่ของ ฟาโรห์ อัคแคนนาเตน 

               จากหลักฐานหลายอย่าง  สันนิษฐานว่า  หลังจาก อัคเคนนาเตน สิ้นพระชนม์แล้ว  ก็มีฟาโรห์หญิงผู้มีนามว่า  เนเฟอร์เนเฟอร์รัวเทน (NEFERNEFERUATEN) ขึ้นครองราชย์ต่อ  เพียงแต่เป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น   ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อจากฟาโรห์หญิงก็คือ ตุตันคาเมน หรือ ตุตอังอาเมน 

               แม้ว่าหลักฐานต่างๆไม่ค่อยแน่ชัดนัก   แต่นักโบราณดีก็เชื่อว่า  ฟาโรห์หญิง ที่ชื่อ เนเฟอร์เนเฟอร์รัวเทน แท้จริงก็คือ พระนางเนเฟอร์ตีติ  ผู้ได้รับการขนานนามว่า  เป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในยุคนั้น


(รูปสลักของ ราชินี เนเฟอร์ตีติ ปัจจุบันอยู่ที่ นิว มิวเซียม ในเบอร์ลิน) 

และเป็นมเหสีของอัคเคนนาเตน นั่นเอง

หลังจาก ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน สิ้นพระชนม์  การล้างแค้นตามแบบ เกมส์ อ๊อฟ โทรน ก็เริ่มขึ้น  

ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ไคโร  ในห้องของ ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน  ปรากฏโลงศพที่ทำด้วยไม้  ที่เหลือแต่เพียงส่วนฝาโลง   เพราะส่วนที่เหลือผุพังเสียหายไปหมดแล้ว ซึ่งเป็นของฟาโรห์  อัคเคนนาเตน จัดแสดงอยู่


(โลงศพทำด้วยไม้ ปิดแผ่นทอง ในส่วนของใบหน้า ของ ฟาโรห์ อัคเคนนาเตน)

ฝาโลงดังกล่าว  ทำด้วยไม้ปิดด้วยแผ่นทองคำประดับด้วยหินกึ่งอัญมณี เป็นรูปใบหน้าที่เชื่อว่าเป็นของ อัคเคนนาเตน   แต่น่าเสียดายว่า  เฉพาะส่วนใบหน้าที่ทำด้วยทองคำถูกทำลายและลอกแผ่นทองคำออกไปจนหมด 

เสมือนจะพยายามทำให้ วิญญาณของผู้ตายไม่สามารถจำร่างกายของตัวเองได้ จนไม่สามารถกลับมาเข้าสิงสถิตย์ในร่างได้   และ ทำให้กลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนที่ไม่อาจเดินทางไปสู่โลกหน้าได้ 


(ร่องรอยของ คาร์ทูช ที่บรรจุพระนามของ อัคเคนนาเตน ที่ถูกแกะออกไปด้วยเจตนาร้าย)

ยิ่งไปกว่านั้น   ต่ำลงมาที่หน้าอกของมัมมี่  จะเห็นร่องรอยของแผ่นทองคำที่ถูกแกะออกไป เป็นรูปของ คาร์ทูช ซึ่งเป็นกรอบทรงรีสำหรับบรรจุพระนามของฟาโรห์  ซึ่งในที่นี้ก็คือ  อัคเคนนาเตน

เป็นการล้างแค้นแน่นอกแบบที่ไม่ต้องการให้ผู้ตายไปผุดไปเกิดได้อีกเลย

ถ้าให้เดาว่า  ใครเป็นคนทำ ก็คงจะตอบได้ไม่ยากนักว่า  น่าจะเป็นพวกนักบวชที่มีผลประโยชน์จากการดำรงอยู่ของศาสนาอียิปต์แบบเก่า   และ  ชาวอียิปต์อีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางเทพเจ้าองค์เดียวของ อัคเคนนาเตน


(รายชื่อของดีตฟาโรห์ ที่จัดทำขึ้นโดย ฟาโรห์ เซติ ที่ 1 ที่วิหารอาบีโดส)

หลักฐานปรากฏชัดในวิหารที่เมืองอาบีโดส ที่เรียกว่า วิหารเซติ ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของฟาโรห์ รามเซส ที่ 2  มีจารึกสำคัญที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า  รายนามของกษัตริย์ (KINGS LIST) แทบทุกพระองค์ในยุคก่อนหน้าสมัยของฟาโรห์ เซติ ที่ 1

ซึ่งรวมถึงยุคสมัยของ ฟาโรห์ ธุทโมเซส ทั้ง 4 พระองค์  ,  พระนาง ฮัทเชปซุท  , อัคเคนนาเตน  และ  ตุตอังอาเมน

ที่น่าสนใจมากก็คือ  รายนามของกษัตริย์ที่ เซติ ที่ 1 จารึกเอาไว้  ไม่มีพระนามของ  พระนางฮัทเชปซุท , ฟาโรห์ อัคเคนาเตน  , ฟาโรห์ ตุตอังอาเมน  และ ฟาโรห์ อาย ที่ครองราชย์ต่อจากตุตอังอาเมนด้วย

ทำไม  เซติ ที่ 1 จึงไม่ใส่พระนามของฟาโรห์หลายพระองค์เหล่านี้เอาไว้ในรายชื่อกษัตร์ย์ที่ปกครองอียิปต์  หรือ  มันเป็นความแค้นแน่นหัวอกที่จะต้องล้างแค้นให้ได้ 

ไม่มีใครตอบได้    แต่ที่แน่ๆก็คือ  บรรดาฟาโรห์เหล่านี้  คงไม่เป็นที่รักของฟาโรห์ในยุคหลังอย่างแน่นอน  จึงทำให้เกิด  เกมส์ อ๊อฟ โทรน ขึ้นมา   แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม 

สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืนกับ ผม   เรามีทัวร์ออกเดินทางทุกเดือน   ติดต่อสอบถาม และสำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900  หรือ  088 578 6666 หรือ  LINE ID 14092498

ผมขอจบเกมส์ อ๊อฟ โทรน ของ ฟาโรห์ เอาแค่นี้  สัปดาห์หน้าพบกันใหม่ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .