เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 พฤศจิกายน 2562)

เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               คงเป็นบุญกุศลใหญ่หลวงที่พระเจ้าอโศกเคยสร้างเอาไว้ตั้งแต่อดีตชาติ   จึงทำให้พระองค์สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างฉับพลันทันที 

               จากคนที่เพิ่งจะสังหารบรรดาญาติทั้งหมด เพื่อตัวเองจะสามารถขึ้นครองราช  และเพิ่งสังหารทหารฝ่ายตรงข้ามเป็นแสนๆคนในสนามรบ  กลายมาเป็นคนที่เห็นคุณค่าของทุกชีวิต และดำเนินชีวิตในแนวทาง อาหิมสา (AHIMSA)คือ ไม่เบียดเบียนชีวิต ในทันทีทันใด  


(พระราชบัญญัติของพระเจ้าอโศก ที่เขียนด้วยตัวภาษาบราห์มิน หรือ ภาษาสันสกฤต)

               รายละเอียดปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติของพระองค์ที่จารึกบนหิน  ใจความหลักก็คือ พระองค์ทรงเลิกการเสวยเนื้อสัตว์ทุกชนิด  และ ประกาศห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิดภายในขอบเขตราชอาณาจักรของพระองค์

               สาเหตุที่ทำให้พระองค์พลิกผันแนวความคิดอย่างทันทีทันใดนั้น  ระบุกันมาหลายแนวทาง  และเรื่องการได้พบกับพระอุปคุปต์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง  

               อันที่จริง   พระองค์เคยมีประสบการณ์ต่อพระ ในศาสนาพุทธมาก่อน  เพราะตอนที่พระองค์บาดเจ็บจากการทำสงครามปราบปรามพวกกบถในเขตอุเชน(UJAIN)ในครั้งนั้น พระองค์ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากพระ และ แม่ชี ในศาสนาพุทธ  จนพระองค์หายเป็นปกติดี

               เป็นเหตุให้พระองค์ได้พบกับหญิงสาวนางหนึ่ง  นามว่า  เทวี ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ   และต่อมา พระองค์ก็ได้อภิเษกกับนาง  ทำให้พระเจ้าพินธุสาระ พระบิดาของพระองค์ ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุที่อโศกเป็นกษัตริย์ชาวฮินดู แต่ไปแต่งงานกับชาวพุทธ  

               อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง  ที่ทำให้พระองค์เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธอย่างง่ายดาย

               จารึกบนหินของพระเจ้าอโศก ที่ เดาลี(DHAULI) เป็นคำประกาศสำคัญก้าวแรกของพระองค์ที่ดำเนินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า   นอกจากนี้   เหนือหินจารึกดังกล่าวขึ้นไป   ยังมีรูปสลักที่พระเจ้าอโศกได้สั่งให้แกะสลักขึ้นมา 

               งานแกะสลักดูเรียบง่าย  แต่แฝงไว้ซึ่งปรัชญาที่ลึกซึ้ง 


(ภาพแกะสลักรูป “ช้าง” ที่โผล่ออกมาแต่เพียงส่วนหัวเท่านั้น)

               รูปดังกล่าวก็คือ  ช้าง ที่เห็นแค่เพียงส่วนหัวเท่านั้น  เหมือนผู้แกะสลักเจตนาจะแกะสลักเพียงแค่นั้น   หรือ  อาจจะแกะไม่เสร็จหรือเปล่า

               แต่มีผู้ตีความในทางปรัชญา  พระเจ้าอโศกเจตนาจะแกะสลักรูปช้างอย่างที่เห็น  โดยมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ

               ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ  กำลังดันตัวเองให้หลุดออกมาจากหิน  ซึ่งมีนัยยะหมายถึง  ถ้ำ  หรือ ความมืด  หรือ อวิชา  ซึ่งเป็นเสมือน เป็นพันธนาการของมนุษย์  ที่ผูกมัดมนุษย์ให้ติดอยู่กับอวิชา

               เมื่อช้างสามารถดิ้นรนจนหลุดพ้นออกมาจากพันธนาการดังกล่าวได้  ก็เหมือนกับหลุดพ้นออกมาจาก อวิชา  มาสู่โลกแห่งธรรมะ   โลกแห่งสัจธรรม  และ ความรู้  ความสว่าง 

               เหมือนเช่นที่พระเจ้าอโศกได้หลุดพ้นมาจากโลกแห่งอวิชา  มาสู่ โลกแห่งธรรมะ  ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นสัจธรรมของมนุษย์

               ทำให้ผมนึกถึงภาพแกะสลักของ ไมเคิลแองเจโล ในชุดแกะสลักที่ชื่อ “ทาส”  ที่สร้างขึ้นหลังจากภาพสลักรูปช้างเกือบ 1800 ปี  


(ภาพสลักชื่อ “ทาส” ฝีมือของ ไมเคิลแองเจโล ศิลปินในยุคเรอเนสซองส์ของอิตาลี-ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               พระเจ้าอโศก ยังตั้งปณิธาณแน่วแน่ที่จะเผยแพร่ศาสนาพุทธออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะมากได้  เช่น  ไปถึงอียิปต์ ของ ราชวงศ์ปโตเลมี ,  กรีกไอโอเนียน ซึ่งก็คือชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของตุรกี  แถวๆเมืองเอฟฟิซัส  , ซีลอน หรือ ศรีลังกา  พม่า  มาลายู และ เกาะสุมาตรา

               และแน่นอนว่า  ศาสนาพุทธได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศอินเดียในสมัยนั้นด้วย


(ประตูทางเข้าของอารามหนึ่งใน รัตนะคีรี ที่สวยงามและวิจิตรไปด้วยรูปสลักมากมาย)

               เหตุนี้  รัฐโอดิสสา ซึ่งเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการประกาศศาสนาพุทธในอินเดียเป็นครั้งที่สอง  จึงมีสถานปฎิบัติธรรม  และ อารามต่างๆหลายแห่ง  ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ละลิตคีรี(LALITGIRI)    รัตนะคีรี(RATNAGIRI)  และ อุทัยคีรี(UDIYAGIRI)

               แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือที่  ละลิตคีรี  ซึ่งมีพระบรมธาตุ พระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ที่นี่ 

               สัปดาห์หน้า  ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางไปเจาะลึกโลกมหัศรรย์ คุชราฎ และ โอดิสสากับผมระหว่างวันที่ 7 – 13 กุมภาพันธ์ 2563  ติดต่อสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666  หรือ  LINE ID 14092498 ครับ

               รับจำนวนจำกัด

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .