ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 เมษายน 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สัปดาห์ที่แล้ว  ผมพูดถึงเรื่อง ซัปตา มัททริกา หรือ  มารดาแห่งสวรรค์ทั้ง 7 และ การใช้อำนาจของ พระแม่ปาร์วาตี ผ่านทางอวตาร ทั้ง 7

               ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู   ซัปตา มัททริกา  มิใช่มีเพียงแค่ 7 องค์เท่านั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น และ แต่ละยุคสมัย  ซึ่งเป็นตัวแปรทำให้แนวคิดในเรื่อง “ความดี-ความชั่ว”  และ  การปราบปรามความชั่วเปลี่ยนแปลงไปด้วย

เช่น  ชาวฮินดูในเนปาล จะนับถือ อัสตะ มัททริกา หรือ มารดา แห่งสวรรค์ 8 องค์  

               หลังจากที่ศาสนาพุทธเสื่อมถอยลงในอินเดีย  ก็ปรากฎแนวคิดในการนับถือเทพีขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งแตกต่างไปจาก ซัปตา มัททริกา และ อัสตะ มัททริกา

               แนวคิดของกลุ่มเทพีนี้เรียกว่า  มหาวิดยา(MAHAVIDYA)  ซึ่งก็คือ  กลุ่มของเทพี 10 องค์ (ต่อมามีการขยายเป็น 12 องค์บ้าง ในบางครั้ง) 

               มหาวิดยา ทั้ง 10 ถือเป็นอวตารของ พระแม่ปาร์วาตี  มเหสีของ พระศิวะทั้งหมด  แปลความหมายตรงตัวก็คือ  ภูมิปัญญา และ  ความรู้ที่ยิ่งใหญ่  


(กลุ่มเทพี ที่เรียกว่า  มหาวิดยา – ภาพจากวิกิพีเดีย )

               เทพีทั้ง 10 องค์ (ไล่จากซ้ายไปขวา แถวบนก่อน) ประกอบด้วย  กาลี  ,  ทารา  ,  ทริปูรา ซันดารี  ,  บูห์วาเนชวารี  ,  ทริปูรา ไบห์ราวี  ,  ชินนะมาสตา   ,  ธัมมาวาติ  ,  บากาลามุคฮิ  มาทังกี  และ  คามาลา  

               แรกทีเดียว  มหาวิดยา 10 องค์ จะเป็นพระแม่ที่คอยช่วยเหลือมนุษย์  และ  เน้นแต่ในเรื่องตวามดี   มีคุณธรรม  เมื่อเวลาผ่านไป  แนวคิด มหาวิดยา ก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งได้รับความนิยมสูงสุดในราวศตวรรษที่ 18

               ถ้าหากดูจากภาพของเทพี ในกลุ่มมหาวิดยา แล้วจะเห็นว่า  มีความแตกต่างไปจากกลุ่มของ  ซัปตา มัททริกา ค่อนข้างมาก  เพราะกลุ่มเทพีมหาวิดยา  จะมีภาพที่ค่อนข้างโหด  มากกว่า ซัปตา มัททริกา


(กาลี  เทพีหมายเลขหนึ่งในกลุ่ม  มหาวิดยา – ภาพจากวิกิพีเดีย) 

               ทำไม

               จากตำนานปรัมปราของฮินดู ที่เรียกว่า ปุราณะ(PURANAS) ซึ่งเป็นบทประพันธ์จำนวนมากมายมหาศาล  ที่เขียนต่อเนื่องกันมานานนับร้อยๆปี  (หรืออาจจะเป็นพันปีก็ได้)  ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 3 ถึงศวรรษที่ 10  โดยไม่สามารถเจาะจงลงไปได้ว่า  ใครเป็นผู้เขียน

               คัมภีร์ปุราณะ แบ่งออกเป็น 18 มหาปุราณะ  และ  18 อุปปุราณะ   ทั้งหมดนี้ประกอบไปด้วยบทกลอนกว่า  4 แสนบท  และได้รับการยอมรับว่า เป็นหัวใจของวัฒนธรรมฮินดู

               ปุราณะ บอกว่า  โลกนี้แบ่งออกเป็น 4 ยุคหลักๆ  รวมเรียกว่า  มหายุค  ที่จะหมุนเวียนเป็นวัฎจักรไม่มีที่สิ้นสุด  เริ่มจาก  สัตยายุค  ,  เทรตา ยุค ,  ดวาพะรา ยุค  และ  กาลียุค

               แต่ละยุคที่ผ่านไป  จะเห็นความเสื่อมถอยของธรรมะ  ภูมิปัญญา  ความรู้  ความเฉียวฉลาด   อารมณ์ และ พละกำลัง ของมนุษย์


(ทารา เทพีองค์หนึ่งในกลุ่ม มหาวิดยา  ซึ่งมักจะเห็นได้จาก พุทธนิกายตันตระ  เช่น ในทิเบต เป็นต้น- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               และที่สำคัญก็คือ  อายุขัยของมนุษย์ก็จะลดลงด้วย  

คัมภีร์ปุราณะ บอกว่า สัตยา ยุค  ถือเป็นยุคที่ดีที่สุดของมนุษย์  เป็นยุคที่เน้น สัจธรรม  ความสมบูรณ์แบบ  ผู้คนจะมีแต่ความเมตตา ไม่มีอาชญากรรมใดๆ

               ดังนั้น  ยุคนี้จึงไม่ต้องมีศาสนา  เพราะมนุษย์มีความบริสุทธิ์เหมือนเทพเจ้าอยู่แล้ว  ยุคนี้  จึงไม่มีพิธีกรรม  และ  การบูชาใดๆ

               ยุคถัดมาเรียกว่า  เทรตา ยุค  ว่ากันว่า  คุณธรรม และ  จริยธรรม ของมนุษย์ในยุคนี้จะลดลงเหลือเพียง  3 ใน 4 ส่วน  ความดีส่วนที่หายไปคือ 1 ใน 4 ส่วนก็คือ  ส่วนบาปที่เพิ่มเข้ามา

               ยุคต่อมาเรียกว่า ดวาพะรา ยุค  เป็นยุคที่จริยธรรม และ  คุณธรรมลดลงเหลือครึ่งเดียว  อีกครึ่งหนึ่งจะเป็นบาป    และ  นำไปสู่ยุคสุดท้ายที่เรียกว่า  กาลี ยุค  ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมของมนุษย์จะเหลือเพียง 1 ใน 4 ส่วนเท่านั้น  เพราะบาปของมนุษย์จะมากขึ้น 

               ตามความเชื่อของ ปุราณะ ระบุว่า  ปัจจุบันนี้ โลกของเรากำลังอยู่ใน กาลียุค   และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้เอง  ที่ทำให้การบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดูเปลี่ยนแปลงไป  จากการบูชาแบบธรรมดา  กลายมาเป็นการบูชาแบบที่ต้องมีสิ่งสังเวย 

               แบบที่เรียกว่า  การบูชายัญ

               และนี่ก็คือที่มาของกลุ่มเทพี 10 องค์ ที่เรียกว่า  มหาวิดยา

               ท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอินเดีย แบบบรรยายชม  ซึ่งเรามีหลายเส้นทาง  ติดต่อได้ที่ 088 578 6666 หรือ  Line ID 14092498

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .