ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 พฤษภาคม 2563)

ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ศาสนาพุทธที่เคยรุ่งเรืองในอนุทวีปอินเดีย ในยุคสมัยของพระเจ้าอโศก มหาราช เมื่อกว่า 2,200 ปีที่แล้วโดยประมาณ  ค่อยๆเสื่อมลงตามหลักสัจธรรม

               เมื่อศาสนาพุทธ ได้รับความนิยมนับถือในอินเดีย  ก็แน่นอนว่า  ศาสนาฮินดูก็ค่อยๆถดถอยความนิยมตามลำดับ  แต่เนื่องจากศาสนาฮินดูไม่มีศาสดาผู้ประกาศความเชื่อ เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ   แต่มีการเรียบเรียงแนวคิด และ ความเชื่อเรื่อยๆต่อๆกันมา  ในคัมภีร์ที่เรียกว่า  คัมภีร์พระเวท

               ศาสนาฮินดู จึงเป็นศาสนาที่ยังมีชีวิต  ยังมีลมหายใจ  ยังมีความคิด  และ  สามารถสร้างกระบวนการตอบโต้ได้ด้วย

               อย่างเช่น  ในช่วงที่ศาสนาพุทธได้รับความนิยมอย่างมาก  ศาสนาฮินดูก็มีกลยุทธในการตอบโต้  เพื่อฟื้นความนิยมให้คืนกลับมาใหม่  เรื่องนี้ผมจะเขียนถึงในตอนต่อๆไปครับ

               ในตอนที่แล้ว   ผมได้พูดถึง  4 ยุคของโลกมนุษย์ ที่แบ่งออกเป็น  สัตยายุค  ,  เทรตา ยุค ,  ดวาพะรา ยุค  และ  กาลียุค   โดยเริ่มจากยุคที่มนุษย์มีความดีงามสมบูรณ์แบบ ในสัตยา ยุค  จนกระทั่ง ความดีงามของมนุษย์แทบจะไม่เหลือ ใน กาลียุค


(จุดที่ตั้งทั้งสี่ทิศของวิหารสำคัญในแต่ละยุค ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               และเชื่อกันว่า  โลกในปัจจุบันกำลังอยู่ใน กาลี ยุค

               ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู  ในแต่ละยุคดังกล่าว  เขาก็จะมีวิหารสำคัญหลักที่ใช้ในการทำพิธีบูชา  และ เป็นสถานที่แสวงบุญของยุคนั้นๆ  คือ


(วิหาร บาดรินาถ(BADRINATH TEMPLE – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ยุค สัตยา  จะมีวิหารบาดรินาถ (BADRINATH TEMPLE) อยู่ในรัฐอุตตาราคานด์(UTTARAKHAND) ทางภาคเหนือของอินเดีย  เป็นวิหารที่สร้างเพื่ออุทิศถวายแด่พระวิษณุ  ในรูปแบบของ เทพเจ้าฝาแฝด  นารา นารายานา ที่เชื่อมโยงกับมหากาพย์ มหาภารตยุทธ

               เนื่องจากวิหารหลังนี้  สร้างอยู่ทางเหนือของอินเดีย  จึงได้รับอิทธิพลจากศิลปะของศาสนาพุทธ นิกายวัชรยาน ทิเบตมาอย่างมาก


(วิหาร ราเมสชวาราม(RAMESWARAM TEMPLE – ภาพจากวิกิพีเดีย) 

               ยุค เทรตา จะมีวิหาร ราเมสชวาราม (RAMESWARAM TEMPLE) ที่อยู่ในรัฐ ทมิฬ นาดู (TAMIL NADU) ทางตอนใต้สุดของอินเดีย  ตรงจุดที่เชื่อกันว่า  พระราม พระลักษณ์  และ  หนุมาน ได้ถมทะเลเพื่อสร้างทางเดินไปยังกรุงลงกา ของทศกรรณ์  เพื่อยกทัพไปชิงตัวนางสีดา กลับคืนมา  วิหารหลังนี้  สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระศิวะ

               เป็นวิหารที่สร้างภายใต้อิทธิพลของศิลปะแบบ ดราวิเดียน  แบบเดียวกับ วัดแขก สีลมของไทย   


(วิหารดวาร์กา(DWARKA TEMPLE – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ยุค ดวาพารา จะมีวิหาร ดวาร์กา (DWARKA TEMPLE) ที่อยู่ในรัฐกุจราฐ ทางทิศตะวันตกของอินเดีย เนื่องจากนับถือกันว่า  บริเวณนี้คือบ้านเกิดของพระกฤษณะ ซึ่งเป็นอวตารหนึ่งของ พระวิษณุ  วิหารนี้จึงเป็นวิหารที่อุทิศถวายแด่พระกฤษณะ


(วิหาร จักกานนาถ(JAGANNATH TEMPLE – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ยุค กาลี  จะมีวิหาร จักกานนาถ(JAGANNATH TEMPLE) ที่เมืองปูรี  รัฐโอดิสสา  ทางทิศตะวันออกของอินเดีย  เป็นวิหารที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่ เทพจักกานนาถ ซึ่งนับถือกันว่า   เป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ

               เป็นวิหารที่สร้างภายใต้ศิลปะที่เรียกว่า  คาลิงกา

               วิหารสำคัญของทั้ง 4 ยุค นี้   เรียกรวมกันว่า  ชาร์ ดาห์ม (CHAR DHAM)  เป็นเป้าหมายสำคัญในการเดินทางไปแสวงบุญ ตามความเชื่อของแต่ละยุค   แต่แน่นอนว่า  วิหารเหล่านี้  มิได้สร้างขึ้นในยุคสมัยที่เป็นตัวแทนแน่นอน

               แต่สร้างขึ้นตามแนวความคิดของพวกพราหมณ์ ที่คอยสร้างสรรแนวความคิดเพื่อให้  ศาสนาฮินดูมีที่มาที่ไป   และ  มีความเก่าแก่   

               เพราะลำพัง กาลียุค  ซึ่งเป็นยุคที่ใหม่ที่สุด  ก็มีอายุประมาณ 432,000 ปีแล้ว  แต่วิหารจักกานนาถ เพิ่งจะสร้างในราวศตวรรษที่ 12 นี้เอง  

เอาเป็นว่า  อ่านเอาเรื่องเพื่อความสนุกก็แล้วกันครับ 

               สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย กับผม ในหลายๆเส้นทาง  ติดต่อ 088 578 6666    Line ID 14092498

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .