“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี” จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 27)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 กรกฎาคม  2563)

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี” จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 27)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมเขียนเล่าตัวหนังสือของคุณหญิงมณี มาถึงตอนที่ 27  สิ่งที่ผมประทับใจมากๆของหนังสือเล่มนี้ก็คือ  ลีลาการเขียนหนังสือของท่าน   ที่ถ่ายทอดความในใจออกมาตรงๆ  จริงจัง  ไม่อ้อมค้อม  และ  ไม่ห่วงว่าข้อมูลที่ท่านเขียนออกมา  จะส่งผลลบต่อภาพพจน์ของท่าน

               นอกจากนี้  คุณหญิงยังมักจะสอดแทรกรายละเอียดที่สำคัญเอาไว้เสมอ   จนข้อมูลเหล่านั้นได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ


(หนังสือ ชีวิตเหมือนฝัน  คุณหญิงมณี สิริวรสาร)

               สำหรับท่านที่ต้องการจะอ่านบทความที่ผมเขียนเรื่องนี้ย้อนหลัง  เชิญเข้าไปอ่านได้ที่  www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  แล้วไปที่   “ซอกซอนตะลอนไป”   บทความตอนที่ 1 จะอยู่ที่บล็อค 19  อ่านต่อเรื่อยๆจนถึงตอนที่ 26 ครับ

               เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแบ่งมรดกของสมเด็จวังบูรพา นั้น ต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน 4 ปีกว่าจะลงตัว  เพราะส่วนแบ่งมรดกแบ่งออกเป็น 7 ส่วนตามจำนวนของทายาท  และหนึ่งในเจ็ดส่วน  มีคนนอกเข้ามาด้วย  ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการแบ่ง

คุณหญิงมณี ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือตอนหนึ่งว่า

“เหตุที่เนิ่นนานถึงเพียงนี้เพราะว่าการแบ่งที่ดินออกเป็น 7 ส่วน  โดยให้แต่ละแปลงมีราคาเท่าเทียมกันนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากมากที่สุด  และในการที่พระองค์เจ้าพีระพงศ์ได้ขายส่วนของท่านให้แก่คุณหญิงสินซึ่งเป็นคนนอก ทำให้คุณหญิงสินได้มีส่วนเท่าเทียมกับทายาทองค์อื่นๆ…………….”


(พระองค์เจ้าพีระพงศ์ หรือ พระองค์เจ้าพีระ)

พระองค์เจ้าพีระพงศ์  มีพระนามเต็มว่า  พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช  ซึ่งก็คือ พระองค์เจ้าพีระ ผู้มีฉายาในสนามแข่งรถว่า “เจ้าดาราทอง”


(คุณหญิงสิน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

คุณหญิงสิน คือใคร

คุณหญิงสินก็คือ  ภริยาของพระยาภักดีนรเศรษฐ(เลิศ เศรษฐบุตร)  ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มรถโดยสารประจำทางขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ที่เรียกว่า  รถเมล์ขาว   และยังเป็นเจ้าของโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ อีกด้วย

คุณหญิงสิน ก็คือ มารดาของ ท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ  

คุณหญิงมณียังได้เขียนต่อไปว่า

“เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การแบ่งที่ดินเนิ่นช้าและไม่เป็นที่ตกลงกันได้ง่ายๆ คุณหญิงสินไม่เคยเข้ามาร่วมประชุมกับทายาท แต่ได้แต่งตั้งให้หลวงประกอบนิติสารเป็นผู้แทน……………..หลวงประกอบเป็นผู้แทนที่ดียิ่งของคุณหญิงสิน  คือรักษาผลประโยชน์ของคุณหญิงสินเต็มความสามารถ โดยไม่ยอมให้คุณหญิงสินต้องเสียเปรียบทายาทอื่นๆ” 

สาเหตุที่พระองค์เจ้าพีระพงศ์ ได้ขายสิทธิ์ของพระองค์ให้แก่ คุณหญิงสิน  คงจะเป็นเพราะ ความสนิทสนมและไว้วางใจ  


(นายเลิศ  หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               คุณหญิงมณี ได้เขียนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า 

“สามีที่ถึงแก่กรรมไปแล้วของคุณหญิงสิน ซึ่งพระทายาทเรียกว่า “นายเลิศ” นั้น สมเด็จวังบูรพาทรงเคยเป็นผู้อุปการะเกื้อกูลมาตลอด  ได้ประทานพระราชทรัพย์และความช่วยเหลือหลายประการแก่นายเลิศให้มีทุนทำการค้าจนสามารถตั้งโรงน้ำแข็งได้เป็นคนแรกในเมืองไทยด้วย”

เรียกว่า   เพราะความไว้วางใจเป็นหลัก  แต่เนื่องจากนายเลิศ เสียชีวิตไปตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488   ก่อนหน้าที่จะมีการแบ่งทรัพย์สินมรดกกัน ก็จึงทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการทางกฎหมาย  ไม่มีการอะลุ้มอะหล่วยกัน   ซึ่งดูเหมือน  ทายาทที่รับมรดกดังกล่าวต่างก็ทรงกริ้วพระองค์เจ้าพีระพงศ์ที่ไปขายสิทธิ์ให้แก่คุณหญิงสิน  

การเจรจาต่อรองในเรื่องการแบ่งมรดกยื้ดเยื้อยาวนานประมาณ 4 ปี  ในที่สุด  ก็ตกลงกันว่าจะขายที่ดินบริเวณวังบูรพาภิรมย์ และที่ดินโดยรอบ  แล้วเอาเงินที่ได้มาแบ่งกัน  ซึ่งจะได้ส่วนแบ่งตกคนละประมาณ 1 ล้านบาทเศษ


(วังบูรพาภิรมย์ในอดีต ที่ต่อมากลายเป็นย่านวังบูรพา)

คาดว่า  เหตุการณ์น่าจะเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2495  ลองคิดดูนะครับว่า  เงินล้านกว่าบาทในปี พ.ศ. 2495 จะมีค่ามากเพียงใด

แต่สำหรับพระองค์เจ้าพีระพงศ์  หรือ พระองค์เจ้าพีระ ซึ่งใช้ชีวิตที่มีความสุขส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษ  กลับจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ

เพราะบั้นปลายชีวิตของพระองค์ทรงขัดสนมาก  ใช้ชีวิตอย่างเงียบเหงา และ โดดเดี่ยว

วันที่ 23 ธันวาคม ปีพ.ศ. 2528  ก่อนหน้าวันคริสต์มาส 2 วัน  มีผู้พบชายคนหนึ่งล้มลงในสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน   ในตัวไม่มีหลักฐานอะไรที่จะระบุตัวตน  จะมีก็เพียงแต่จดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนด้วยภาษาไทยที่ไม่มีใครอ่านออก 

กว่าจะรู้ว่าเป็นใคร  พระองค์เจ้าพีระพงศ์ ก็สิ้นพระชนม์เสียแล้ว

ชีวิตของพระองค์ เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่ “เหมือนฝัน” เพียงแต่ฉากจบของคุณหญิงมณี สวยงามกว่าของพระองค์พีระมากนัก

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.