คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (23 สิงหาคม 2563)

คดีความ134 ปีที่ อโยดยา(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563 นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เพื่อเริ่มสร้างวิหารฮินดูอุทิศถวายแด่ พระราม ที่เมืองอโยดยา (AYODHYA) ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของ ชื่อ อยุธยาของประเทศไทย


(นายกรัฐมนตรี โมดี ทำพิธีวางศิลาฤกษ์)

               เมืองอโยดยา หรือ เมืองสะเกตุ(SAKETA) เมืองหลวงของแคว้นโกศล ในยุคพุทธกาล  อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ(UTTAR PRADESH) ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย 

อุตตร หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า  อุดร  แปลว่า  ทิศเหนือ  

ทิศตะวันตก ของ รัฐอุตตรประเทศ ติดกับ รัฐพิหาร ซึ่งมีสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธอยู่มากมาย เช่น  พุทธคยา  , ราชคฤห ,  นาลันทา เป็นต้น

               ทิศเหนือ มีพรมแดนติดกับ ประเทศเนปาล  และ สวนลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า   


(แผนที่ดินเดีย รัฐอุตตรประเทศ สีเขียวอยู่ตอนเหนือสุดติดกับเนปาล)

               ส่วนในรัฐอุตตรประเทศ ก็มีสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธ เช่น   สารนาถ(SARNATH)  และ สาวัตถี(SHRAVASTI)  ทัชมาฮัล  ,  ฟาเตปูสิครี  ,  อักรา ฟอร์ท และ  เมืองพาราณสี

               ด้วยเหตุนี้  รัฐอุตตรประเทศ จึงมีวัฒนธรรมของศาสนาพุทธ  ศาสนาเชน แพร่หลายร่วมกับ ศาสนาฮินดู  และ ศาสนาอิสลาม


(บาเบอร์ จักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์โมกุลของอินเดีย)

               ย้อนหลังกลับไปในปี ค.ศ. 1526 เมื่อ บาเบอร์(BABUR)  หัวหน้านักรบที่นำทัพมาจาก อุซเบกิสถาน เข้ามาทำสงครามกับ อิบบราฮิม โลดิ(IBRAHIM LODI) จาก ราชวงศ์โลดิ และ สุลต่านแห่งเดลี  จนได้ชัยชนะเบ็ดเสร็จต่ออิบบราฮิมที่ สมรภูมิแห่งปานิพัต เมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1526

               หลังจากนั้นอีก 2 ปี  จักรพรรดิบาเบอร์ ก็โปรดให้ มีร์ บากี (MIR BAQI) นายพลของพระองค์สร้างสุเหร่าขึ้นที่เมือง อโยดยา  เรียกชื่อ สุเหร่า บาบริ (BABRI MOSQUE)ตามชื่อของพระองค์  หลังจากนั้น  ก็เปลี่ยนชื่อเมือง อโยดยา ตามประเพณีฮินดู มาเป็น ไฟซาบาด(FAIZABAD) ตามแบบของเมืองมุสลิม  


(แผนที่รัฐอุตตระ ประเทศ วงกลมข้างบนคือเมือง ไฟซาบาด และ วงกลมล่างก็คือ เมืองพาราณาสี)

               ปัญหาส่อเค้า เพราะชาวฮินดูเชื่อกันว่า  บาเบอร์ ได้สั่งให้รื้อวิหารเก่าแก่ของศาสนาฮินดู ที่สร้างอุทิศถวายแต่ พระราม  เทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งของฮินดู  แล้วให้สร้างสุเหร่า บาบริ ลงตรงจุดนั้นขึ้นมาแทน


(สุเหร่า บาบริ ถ่ายเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว)

ที่สำคัญยิ่งก็คือ  ชาวฮินดูเชื่อว่า ตรงจุดที่สร้างสุเหร่า บาบริ ก็คือ สถานที่ประสูติของพระรามด้วย

               พระราม เป็นใคร ทำไมจึงมีความสำคัญต่อชาวฮินดูอย่างยิ่ง  

               ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า  ชาวฮินดูเคารพนับถือเทพเจ้าสูงสุด 3 องค์ ที่เรียกรวมกันว่า  ตรีมูรติ  คือ  พระพรหม ผู้สร้าง ,  พระวิษณุ ผู้รักษา ปกครอง  และ  พระศิวะ ผู้ทำลาย

               ยามใดที่โลกเกิดความยุ่งเหยิง วุ่นวาย  เทพเจ้าที่จะลงมาทำหน้าที่ปราบยุคเข็ญก็คือ  พระวิษณุ   แต่พระวิษณุจะไม่ลงมาปราบยุคเข็ญด้วยตัวตนของพระพระองค์ แต่จะอวตาร์  หรือ  แปลงร่างลงมาในรูปแบบต่างๆ 


(พระราม อวตาร์หนึ่งของพระวิษณุ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ตามความเชื่อของชาวฮินดู  พระวิษณุ  อวตาร์ลงมาปราบยุคเข็ญใน 9 ปางด้วยกัน   แต่ปางที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง  แม้ในหมู่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวฮินดูก็คือ  ปางอวตาร์เป็น พระราม อันเป็นปางที่ 7

เมื่อพระวิษณุ อวตาร์ลงมาเป็นพระราม  ก็มาประสูติที่เมือง อโยดยา  ชาวฮินดูจะเรียกสถานที่ประสูตินี้ว่า   ราม จันมาภูมี (RAM JANMABHOOMI) ซึ่งแปลตรงตัวก็คือ  บ้านเกิดของพระราม

               สิ่งที่เป็นปัญหาปักอกคาใจชาวฮินดูก็คือ  พวกเขาเชื่อว่า  ตรงจุดที่เป็นสุเหร่า บาบริ ของมุสลิม  คือ สถานที่ประสูติของพระราม และเคยมีวิหารพระรามตั้งอยู่ก่อน ก่อนจะถูกให้รื้อทำลาย

นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมกุล ชาวฮินดู มีความพยายามในการเรียกร้องขอพื้นที่ที่เป็นสุเหร่ากลับคืนมาเป็นของฮินดูโดยตลอด 

               แต่ไม่เป็นผล   เพราะผู้ปกครองเป็นราชวงศ์โมกุล นับถือศาสนาอิสลาม  และ เรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองที่ล่อแหลมต่อความขัดแย้งของประชาชนมาก

               ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดู และ  ชาวมุสลิม ในประเด็นการขอพื้นที่สุเหร่า คืนแก่ชาวฮินดู  เป็นชนวนความขัดแย้ง  จนมีการทะเลาะวิวาท  ทำร้ายกันจนเสียชีวิตอยู่เสมอ

               จนกระทั่ง  อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียได้เบ็ดเสร็จ  เรียกว่า  ยุค บริติช ราช(BRITISH RAJ) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1858  ชาวฮินดูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอินเดียก็คิดว่า  น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของพวกเขาที่จะขอที่ดินคืน

               ก่อนหน้านั้น ในปีค.ศ. 1853  มีบันทึกว่า เกิดการจลาจลต่อสู้กันระหว่าง มุสลิม กับ ฮินดู  ในปัญหาเรื่องนี้  ทำให้บริษัท อีสต์ อินเดีย ที่ปกครองอินเดียในขณะนั้น จัดวางรั้วกั้นเพื่อแบ่งสนามด้านหน้าสุเหร่าออกเป็นสองส่วน โดยให้ชาวมุสลิม สวดมนต์อยู่ในสนามด้านใน  ขณะที่ ให้ชาวฮินดูสวดมนต์อยู่ด้านนอก

               ปีค.ศ. 1885 ชายผู้หนึ่ง  นามว่า  โมฮานต์ รากูบีร์ ดาส(MAHANT RAGHUBIR DAS) ได้ร้องต่อศาลแห่ง เมืองไฟซาบาด  เพื่อขออนุญาตในการสร้าง ศาลเล็กๆ ของฮินดู ขึ้นใกล้ๆสุเหร่า บาบริ

               แต่ศาลแห่ง เมืองไฟซาบาด ซึ่งขณะนั้นเป็นศาลอังกฤษ  ปฎิเสธไม่ยอมให้มีการสร้าง  อังกฤษคงแค่จะปัดสวะให้พ้นตัว  เพราะไม่อยากให้มีความวุ่นวายในดินแดนภายใต้การปกครองของตัวเอง

               ที่สำคัญก็คือ   อังกฤษไม่ได้อะไรจากการจะอนุญาต หรือ ไม่อนุญาตให้สร้างศาลแห่งนี้

               จนนำมาสู่การฟ้องร้องที่ยืดยาว  และการเสียชีวิตของคนจำนวนมาก

               ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .