เทศกาลนวราตรี(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (25 ตุลาคม 2563)

เทศกาลนวราตรี(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ชื่อของเทศกาล นวราตรี  ส่วนหนึ่งมีที่มาจากพระนามทั้งเก้าอวตารของพระแม่ทุรคา รวมเรียกว่า  นวทุรคา  ล้วนมีความหมายในเชิงลึกที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดในการบูชาเทพเจ้าของชาวฮินดูทั้งสิ้น  

               ที่สำคัญก็คือ  ทุกคืนตั้งแต่คืนแรกจนคืนสุดท้าย  ชาวฮินดูจะทำการบูชาพระแม่ทุรคา ตั้งแต่องค์แรกไปจนถึงองค์ที่ 9 คืนละองค์  ดังนั้น  ความเชื่อในเรื่องการบูชาเพื่อขอพรจากพระแม่ทุรคา  จึงมักจะต้องบูชาให้ถูกองค์ ตามคำอธิษฐานของผู้มาบูชาด้วย

               องค์แรกในวันที่หนึ่ง มีพระนามว่า ไซลาบุตรี(SHAILAPUTRI)  ซึ่งแปลว่า  บุตรีที่เกิดจากภูเขา เพราะตำนานกล่าวว่า  พระแม่ทุรคาเป็นบุตรีของกษัตริย์แห่งเทือกเขาหิมาลายา และภูเขาก็เป็นตัวแทนของจิตวิญญาณที่มั่นคง ที่ทั้งโลกสามารถรับพลังจากภูเขานี้ได้


(พระแม่ ไซลาบุตรี- ภาพจากวิกิพีเดีย )

               องค์ที่สองในวันที่สอง  มีพระนามว่า  บรัมมาชารินี (BRAHMACHARINI) หมายถึง   นักศึกษา  ตามปรัชญาของศาสนาฮินดู แบ่งชีวิตมนุษย์ออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ๆ  และช่วงที่หนึ่งก็คือ  ช่วงเวลาที่จะต้องศึกษาเล่าเรียน  เพราะฉะนั้น  นักเรียนนักศึกษา  มักจะบูชาอวตารของพระแม่ทุรคาองค์นี้


(พระแม่ บรัมมาชาลินี- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               องค์ที่สามในวันที่สาม  พระนามว่า จันทรากานทา (CHANDRAGHANTA) แปลว่า ดวงจันทร์ที่กำลังโกรธ พร้อมที่จะต่อสู้  เพราะพระแม่ทุรคา  มีตาที่สามที่หน้าผากเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว  พระนางเป็นส่วนผสมของ  ความงาม และ  ความกล้าหาญ


(พระแม่ จันทรากานดา- ภาพจากวิกิพีเดีย)

องค์ที่สี่ในวันที่สี่ พระนามว่าคุชมานดา (KUSHMANDA)  หมายถึง พระแม่ทุรคา ผู้มียิ้มที่สวยงาม และ เป็นผู้สร้างสรรจักรวาล  ว่ากันว่า  เป็นอวตารเดียวของพระแม่ทุรคา ที่แสดงออกถึงความสุข


(พระแม่คุชมานดา- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               องค์ที่ห้าในวันที่ห้า พระนามว่า  สกานดามาทา (SKANDAMATA)  ชื่อของพระแม่แปลว่า  มารดาของสกานดา   สกานดา คือเทพเจ้าแห่งสงคราม  เป็นโอรสของ พระศิวะ กับ พระแม่ปาร์วาตี  ความหมายที่สื่อก็คือ  อวตารนี้ของพระแม่ทุรคา ก็คือ  ภาระของพระแม่ต่อมนุษย์ชาติ ที่พระแม่แบกเอาไว้บนบ่า


(พระแม่ สกานดามาทา- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               องค์ที่หกในวันที่หก  พระนามว่า กัตตายานี(KATYAYANI) เป็นอวตารที่ทรงอำนาจมากที่สุดของพระแม่ทุรคา  มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  มหิชาสุรามาร์ดฮินี  เป็นอวตารของพระแม่ทุรคา ที่นางสีดา มเหสีของพระราม  และพระราม ก็เคย บูชาขอพรมาแล้ว

               ว่ากันว่า  หญิงสาวมักจะขอพรจากพระแม่ เพื่อให้ได้สามีที่ดี

ผมจะเล่าถึง อวตารนี้อย่างละเอียดในตอนหน้า 


(พระแม่ กัตตายานี- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               องค์ที่เจ็ดในวันที่เจ็ด พระนามว่า กาลาราตรี (KALARATRI) แปลว่า  อวตารที่มีอำนาจในการทำลายล้าง และ โหดร้ายที่สุดของอวตารของพระแม่ทุรคา   แต่เป็นการทำลายล้างความโง่เขลา  และขจัดความมืดมิดออกไปจากจักรวาล


(พระแม่ กาลาราตรี- ภาพจากวิกิพีเดีย)

องค์ที่แปด ในวันที่แปด  พระนามว่า มหาเการี (MAHAGAURI) แปลว่า  หญิงผู้มีใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม  มีผิวเนียนขาว  มีเสน่ห์  แม้ว่าพระแม่จะมีความสวยงาม  แต่เป็นความสวยงามที่ไม่มีแรงกระตุ้นทางเพศ  แต่ทำให้ผู้พบเห็นเต็มไปด้วยความเคารพ   ว่ากันว่า  ใครก็ตามที่เคารพพระแม่และอธิษฐานอะไรก็มักจะสมหวัง    


(พระแม่มหาเการี- ภาพจากวิกิพีเดีย)

องค์ที่เก้า ในวันที่เก้า พระนามว่า สิทธิดาตรี (SIDHIDATRI) ชื่อนี้มีความหมายว่า  ความสมบูรณ์แบบ  จากคัมภีร์ มาร์คานดาเย ปุราณะ(MARKANDAYE PURANA)  ระบุว่า  พระแม่มีเวทมนต์พิเศษอยู่ 8 ประการ คือ  หนึ่ง อะนีมา (ANIMA) อำนาจในการย่อส่วนสิ่งของต่างๆให้เล็กลงจนถึงขั้นอะตอม  สอง มะฮิมา (MAHIMA) อำนาจในการขยายสิ่งของต่างๆให้ใหญ่ขึ้นอย่างมาก  สาม การิมา(GARIMA) อำนาจในการทำให้สิ่งต่างๆหนักขึ้นอย่างมาก   สี่ ลากิมา(LAGHIMA) อำนาจในการทำให้วัตถุไร้น้ำหนัก  ห้า พราพติ (PRAPTI) สามารถหายตัวไปอยู่ที่ไหนก็ได้ในพริบตา   หก  พราคัมบิยา (PRAKAMBIYA)  อำนาจให้ได้มาซึ่งทุกอย่างที่ปรารถนา  เจ็ด อิสิตวา (ISHITVA) อำนาจในการเป็นใหญ่ หรือ เป็นผู้นำคนอื่น  แปด วาสิตวา (VASHITVA)  อำนาจในการควบคุมจิตใจคนอื่น


(พระแม่ สิทธิดาตรี- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               สนใจร่วมเดินทางไปเจาะลึกอินเดียกับผมหลังหมดโควิด 19 ติดต่อได้ครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .