เทศกาลดิวาลี(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (29 พฤศจิกายน 2563)

เทศกาลดิวาลี(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ศาสนาฮินดูเชื่อว่า  โลกหลังความตาย  ยังมี สวรรค์ และ  นรก รอผู้ตายอยู่  กรรมดี หรือ กรรมชั่ว จะเป็นตัวชี้นำทางให้แก่ดวงวิญญาณไปสู่ปลายทางนั้นๆ

               หากไปสวรรค์ ก็ไปสู่ นิพพาน(NIRVANA)  หรือ  การไม่เกิดอีก   แต่หากไปสู่นรก  ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดมาสู่โลกมนุษย์จนไม่สิ้นสุด

               นิพพาน  เป็นแนวคิดที่ศาสนาฮินดูได้รับไปจากศาสนาพุทธ

               ชาวฮินดู ซึ่งมีความผูกพันกับบรรพบุรุษ และ ความเป็นครอบครัวสูงมาก  ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย  ก็จะยังมีความรู้สึกเป็นห่วงบรรพบุรุษ ว่าตายแล้วจะได้ไปสวรรค์หรือไม่

               หากไม่ได้ไปสวรรค์   ลูกหลานที่มีความกตัญญูก็ต้องการที่จะทำบุญ หรือ  บูชา  เพื่ออุทิศส่วนกุศล  หรือ   ความดีงามให้แก่ผู้ตาย  เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายมีความสุข  

               แต่ทำไม่จะต้องเป็นวัน นะระกะ จตุรดาสี


(พระกฤษณะ ใช้จักรไปตัดหัวอสูรนรก – ภาพจากวิกิพีเดีย )

               ตำนานเล่าว่า  อสูรนรก หรือ  นะระกะ อสูร ซึ่งเป็นผู้ปกครองแห่งนรก เป็นผู้ที่มีแต่ความโหดร้าย  ทำให้ดวงวิญญาณที่ถูกกักขังอยู่ในนรกได้รับแต่ความทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง เรื่องนี้รู้ไปถึงพระศิวะจึงได้ส่ง  พระกฤษณะ(KRISHNA) ร่วมกับ สัตยาบาห์มา (SATYABHAMA) มเหสี  และ พระแม่กาลี(KALI)  ผนึกกำลังร่วมกันสังหารอสูรนะระกะ  และทำการปลดปล่อยดวงวิญญาณ ที่ถูกกักขังออกมาได้จนหมด 

วันนั้นก็คือ วันนะระกะ จตุรดาสี ที่ชาวฮินดูจะทำการบูชา 3 แบบด้วยกัน  คือ  กาลี บูชา (KALI PUJA) เพื่อบูชาต่อพระแม่กาลี ,  บูท บูชา(BOOTH PUJA) เพื่ออุทิศกุศลให้แก่วิญญาณที่กำลังทุกข์ยาก  และ  นะระกะ จตุรดาสี(NARAKA CHATURDASI)  คือการเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะของพระกฤษณะ ที่มีต่อ อสูรแห่งนรก

วันที่ 3 เป็นวันตรงกลางเทศกาล  ที่ถือว่าสำคัญที่สุดในบรรดา 5 วันของเทศกาล ดิวาลี  เรียกว่า วันลักษมี บูชา (LAKSHMI PUJA)  เทพีแห่งความโชคดี  ความมั่งคั่ง  และ  ความรุ่งเรือง (แต่ทางเหนือเช่น รัฐเกงกอล จะเรียกว่า  กาลี บูชา)   


(พระแม่ลักษมี  ซึ่งชาวฮินดูนำเอามาสัมพันธ์กับการเคารพบูชาในบ้าน  พระแม่ลักษมี อาจจะมีฐานะเป็นแม่   หรือ อาจจะมีฐานะเป็นลูกสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว  หรือแม้กระทั่งเป็นพี่สาวของสมาชิกในบ้านก็ได้)

ชาวฮินดู เชื่อว่า  การได้รับพรจากพระแม่จะช่วยทำให้ปีหน้าเต็มไปด้วยความโชคดี

               ในคัมภีร์ สกานดา ปุราณะ ได้พูดถึง ดิยา(DIYAS)  หรือ ตะเกียงน้ำมัน  ในความหมายว่า เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์   ผู้ให้แสง และ พลังงานแก่ทุกชีวิตในจักรวาล  

และ พระอาทิตย์จะโคจรย้ายจากราศีตุลย์  เข้าสู่ราศีธนู  ในวันที่ 15 โดยประมาณ  ซึ่งตรงกับเดือนคาร์ติกา ของปฎิทินฮินดู


(ANUSHKA หลานสาวอายุ 10 ขวบ ลูกของเพื่อนไกด์ MR.SWAPAN GANGULY จากกอลกัตตา  ส่งรูป พระแม่กาลีจากฝีมือของเธอมาให้อีกครั้ง จุดเด่นของภาพนี้ก็คือ พระแม่กาลี ในชุดสาหรี่แบบเบงกอล ไว้โอกาสหน้า  ผมจะเขียนเรื่องชนิดต่างๆของสาหรี่ให้อ่านกันครับ)  

ในคืนนี้  ซึ่งจะเป็นคืนแห่งอมาวาสี หรือ พระจันทร์ดับ   พระแม่ลักษมีจะท่องไปทั่วโลก ชาวฮินดูจึงมักจะเปิดประตู หรือ หน้าต่าง  และ  จุดตะเกียงดิยา ในบ้าน  ระเบียงบ้าน หรือ หน้าต่าง  เพื่อแสดงการต้อนรับให้พระแม่เข้ามาในบ้าน

               บางคนเอาตะเกียงดิยาไปลอยในแม่น้ำ หรือ ธารน้ำ  ซึ่งเชื่อกันว่า  นี่คือต้นกำเนิดของแนวคิดเรื่องการลอยกระทงที่กระทำกันในประเพณีไทย

และเพื่อรำลึกถึงความผูกพันของสมาชิกในครอบครัว  และ  เพื่อนๆ  เขาก็จะออกไปเยี่ยมญาติ  และ เพื่อนฝูง  และแลกเปลี่ยนของขวัญ รวมทั้ง ของหวานด้วย

สำหรับผู้หญิงคนสำคัญที่คนในบ้านเรียกว่า “แม่”  ผู้ซึ่งทำงานหนักมาตลอดทั้งปี ทั้งงานในไร่นา  และ ภายในบ้านก็จะได้รับการเทิดทูน  ยกย่องจากสมาชิกทุกคนให้เป็นเสมือน  พระแม่ลักษมีของครอบครัว  ซึ่งแม่คนนี้เป็นผู้นำทั้งโชคลาภ และ  ความรุ่งเรืองมาสู่ครอบครัวตลอดปีที่ผ่านมา


(นอกจากพลุไฟ ขนาดใหญ่ที่ยิงขึ้นฟ้าแล้ว  ก็ยังมีพลุไฟขนาดเล็กแบบถือในมือ)

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการเฉลิมฉลองเทศกาล ดิวาลี ก็คือ การจุดพลุไฟ (PATAKHE) เพื่อให้ความสว่างในช่วงคืนเดือนมืด  และ  เป็นการแต่งแต้มท้องฟ้าด้วยลวดลาย สีสรรต่างๆ  เสมือนการวาด “รังโกลี” กลางอากาศ  เป็นความบันเทิงที่สุดแล้วสำหรับชาวบ้านในชนบทที่ห่างไกล

เป็นเทศกาลที่ชาวฮินดูให้ความสำคัญมากที่สุดเทศกาลหนึ่ง   และในบางพื้นที่  ถือว่าเทศกาล ดิวาลีเป็น วันขึ้นปีใหม่ ด้วยซ้ำ

พบกับ เทศกาลดิวาลี  ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้าครับ

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .