แม้แต่เทพเจ้า ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (20 ธันวาคม 2563)

แม้แต่เทพเจ้า ก็หนีกรรมไม่พ้น(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               นักวิชาการหลายท่านบอกว่า  ศาสนาฮินดูไม่ได้เป็นศาสนา  แต่เป็นวิถีชีวิต  เพราะศาสนาฮินดูไม่มีผู้ประกาศศาสนา หรือ แนวทางของศาสนาเพียงคนเดียว   เช่นศาสนาอื่นๆ

               แต่ศาสนาฮินดูประกอบด้วยคัมภีร์  บันทึก  จารึก  ตำนาน และ ประเพณี  มากมายที่ถูกเขียนต่อๆกันมาหลายยุคหลายสมัย  กินช่วงเวลานานนับพันๆปี

               คัมภีร์พระเวท ซึ่งมีด้วยกัน 4 พระเวท ถือเป็นคัมภีร์หลักที่สำคัญที่สุดของศาสนาฮินดู  ก็เขียนขึ้นในช่วงปี 1500-1300 ปีก่อนคริสตกาล  หรือ ประมาณ 3500 – 3300 ปีที่แล้ว  (ยังไม่นับช่วงเวลาที่ยังไม่มีการบันทึก)

               เทียบได้กับยุคสมัยของ พระนางฮัทเชปสุท และ  ฟาโรห์ ธุทโมเซส ที่ 2 -3 ของอียิปต์โบราณ  


(นักพรต วยะสา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ส่วนคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งมีอยู่ 108 คัมภีร์เชื่อกันว่า  ฉบับแรกๆ 5 ฉบับเขียนขึ้นในราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาลโดย  ฤษีวยาสา (VYASA)   ส่วนฉบับอื่นๆ ก็เขียนไล่หลังกันมาเป็นลำดับ

               แม้แต่ มหากาพย์สองเรื่องดังอย่าง  มหาภารตะ(MAHABHARATA)  กับ  รามเกียรติ์(RAMAYANA)  ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ศาสนาฮินดูด้วย  


(อดิ ชังคารา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ดังนั้น  ผู้รจนาพระคัมภีร์สำคัญเหล่านี้จึงมีมากมายจนนับไม่ถ้วน  แม้จะเชื่อกันว่า  อดิ ชังคารา(ADI SHANKARA) เป็นคนแรกๆที่รวบรวมจารึกต่างๆเอาไว้

               ด้วยเหตุนี้  จึงไม่มีใครสามารถอ้างว่า  นี่คือคัมภีร์ของแท้ที่ถูกต้อง  หากใครอ้างเนื้อหาที่ไม่ตรงกับของตัวเอง  ก็จะถือว่าเป็น  ของปลอม หรือ  พวกนอกรีต

               เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นกับศาสนาคริสต์  ศาสนาอิสลาม และ ศาสนาพุทธ

               แกนหลักของศาสนาฮินดู มีเทพเจ้าสำคัญอยู่ 3 องค์ เรียกว่า  ตรีมูรติ  ประกอบด้วย  พระพรหม , พระวิษณุ  และ  พระศิวะ  ต่างก็มีหน้าที่คอยดูแลความสงบสุข  ให้มีธรรมะทั้งในโลกมนุษย์ และ  โลกของเทพเจ้า


(ตรีมูรติ – ซ้ายมือคือพระพรหม ถัดมาคือ พระวิษณุ  ขวาสุดคือ พระศิวะ)

               เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายๆอะไรก็ตามที่กระทบต่อความสงบสุขของชาวโลก   เทพเจ้าก็จะต้องลงมาจัดระเบียบเสียใหม่

               เทพเจ้าที่มักจะต้องลงมาจัดระเบียบโลกก็คือ  พระวิษณุ  ซึ่งจะต้องอวตารลงมาในรูปแบบต่างๆ  ที่แตกต่างกันไป 

ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู  พระวิษณุมี 10 อวตาร  เรียกว่า  ดาสะอวตาร (DASHAVATARA)  อันประกอบด้วย  มัสยาอวตาร (MASYA) เป็นปลา , กุรมาอวตาร(KURMA) เป็นเต่า , วราหะอวตาร(VARAHA) เป็นหมูป่า , นรสิงห์อวตาร(NARASIMHA) เป็นคนครึ่งสิงโต , วามานา อวตาร(VAMANA) เป็นพราหมณ์แคระ , ปะระสุรามอวตาร(PARASHURAMA) เป็นพราหมณ์นักรบ , รามาอวตาร(SRI RAM) เป็นพระราม  ,กฤษณอวตาร(SRI KRISHNA) เป็นพระกฤษณะ , พุทธาวตาร์(GAUTOMA BUDDHA) เป็นพระพุทธเจ้า  และ กาลกีอวตาร(KALKI) เป็นผู้ปราบกลียุค

               ในบทความนี้  ผมจะขอเล่าเฉพาะอวตารของพระวิษณุ ที่เป็นพระราม และ อวตารที่เป็นพระกฤษณะ   ส่วนอวตารอื่น ๆผมจะเล่าในตอนต่อๆไป  


(พระราม – อวตารหนึ่งของพระวิษณุ)

               พระรามเป็นตัวละครเอกในมหากาพย์เรื่อง “รามเกียรติ์” เป็นฝ่ายธรรมะ คู่กับพระลักษณ์  และ หนุมาน 

เป็นเรื่องน่าแปลกที่  รามเกียรติ์ในภาคภาษาไทยมีรายละเอียดในเรื่องสำคัญหลายเรื่อง  แตกต่างๆปจากรามเกียรติ์ภาคภาษาสันสกฤต   สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของสังคมไทย หรือ  ของผู้แปล หรือ ผู้ถ่ายทอด  ว่าเป็นอย่างไร

               ยกตัวอย่างเช่น   สาเหตุที่ต้องใช้เขาพระสุเมรุ มาทำพิธีกวนเกษียณสมุทรเพื่อจะให้ได้น้ำอมฤตนั้น  ไม่ปรากฎในรามเกียรติภาคภาษาไทย  

แต่ในภาคภาษาไทยเรื่องกลายเป็นว่า  เนื่องเพราะเขาสุเมรุเอียงทรุดไป  เพราะ รามสูรจับเอาอรชุนไปฟาดกับเขาพระสุเมรุ  จนเขาพระสุเมรุเอียงทรุด  ทำให้พาลี และ สุครีพต้องเข้ามาช่วยในการผลักดันให้เขาพระสุเมรุกลับไปตั้งตรงอีกครั้ง 


(ภาพการกวนเกษียณสมุทร)

               นอกจากนี้  ชื่อของรามสูร ก็ไม่ปรากฎในภาคภาษาสันสกฤต   แต่ท่านอาจารย์จีรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ราชบัณฑิตประเภทวิชาวรรณศิลป์สาขาวิชาตันติภาษา สำนักศิลปกรรม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาภาษาบาลี  สันสกฤต และ ฮินดี ได้ให้ความรู้แก่ผมว่า


(ปะระสุราม – อวตารที่ 6 ของพระวิษณุ  เป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพอย่างสูงจากชาวฮินดู ว่าเป็นเทพอมตะ -ภาพจาก fineart america)

               รามสูร แท้จริงก็คือ  ปะระสุราม (PARASHURAMA) อวตารลำดับที่ 6 ของพระวิษณุ ผู้มีฉายาว่า  ผู้ฆ่ากษัตริย์ทั้งโลกที่ไม่อยู่ในคุณธรรม 21 ครั้ง  ส่วนอรชุน ก็คือ กษัตริย์องค์หนึ่งมีนามว่า  การ์ตะวียา อรชุน (KARTAVIRYA ARJUNA) แห่งราชวงศ์ เฮเฮยา(HEHEYA KINGDOM)) มีฉายาว่า กษัตริย์พันมือ เป็นกษัตริย์ชั่วร้ายที่ปกครองเมือง มาฮิชมาติ(MAHISHMATI)  ปัจจุบันคือเมือง มาเฮสชวา (MAHESHWA)อยู่ในรัฐมัธยะประเทศ  ภาคกลางของอินเดีย


(มาเฮสชวา ในอดีต ก็คือเมืองคาร์กอน (KHARGONE) ในปัจจุบัน – ตรงลูกศรชี้)  

               คงต้องเล่าต่อในตอนหน้า  รอติดตามครับ

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .