ประเพณี ปาขี้วัวที่น่า(ลิ้ม)ลอง

ซอกซอนตะลอนไป                           (13 ธันวาคม 2563)

ประเพณี ปาขี้วัวที่น่า(ลิ้ม)ลอง

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากจบเทศกาลสำคัญอย่าง  เทศกาล ดิวาลี แล้ว  ในบางพื้นที่ของอินเดียโดยเฉพาะทางภาคใต้ในชนบท  เขาจะมีประเพณีที่แปลกประหลาดอยู่ประเพณีหนึ่ง  เรียกว่า โกเรฮับบา (GOREHABBA)


(เทศกาล ปาขี้วัว  อย่าเพิ่งยี้นะครับ)

               หรือประเพณี  สงครามขี้วัว หรือ  การปาขี้วัวเข้าใส่กัน

               ในยุโรปมีประเพณีปาสิ่งของเข้าใส่กันมานาน  เช่น  ในแคว้นวาเลนเซีย ประเทศสเปน  มีเทศกาลปาลูกมะเขือเทศเข้าใส่กัน  ซึ่งคงน่าจะรื่นรมย์กว่าของอินเดีย 


(เทศกาลปามะเขือเทศสุก ในแคว้นวาเลนเซียของสเปน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ทั้งหมดทั้งปวงย่อมจะต้องมีที่มา เช่น ในสเปน ว่ากันว่าในยุคหนึ่ง  ราคาของมะเขือเทศตกต่ำมากจนแทบจะไม่มีค่าเลย  ชาวสวนโกรธรัฐบาลอย่างยิ่ว  จึงเอามาเททิ้งบนถนน  ชาวบ้านผ่านมาก็เอาไปปาเล่นกันเป็นที่สนุกสนาน  จนกลายเป็นประเพณีในเวลาต่อมา  ช่วยเรียกนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาชมกันเนืองแน่น   จนมูลค่าที่นักท่องเที่ยวเอาเงินมาจ่าย  มากกว่ามูลค่าของมะเขือเทศที่เอามาปาทิ้งด้วยซ้ำ

               ทำไม   ชาวอินเดียจึงใช้ขี้วัวมาปาใส่กัน

               ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า  พาหนะของพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพอย่างมากของชาวอินเดีย ก็คือ โค นนทิ 

               เมื่อผู้คนเคารพพระศิวะ  ก็ย่อมต้องนับถือโค นนทิ ว่าศักดิ์สิทธิ์ตามไปด้วย

               โค นนทิ ได้รับการเคารพกราบไหว้ เนื่องเพราะเป็นผู้ให้น้ำนมแก่มนุษย์ ตั้งแต่เล็กจนโต  ซึ่งแม้ว่าชาวฮินดูในส่วนที่เป็นมังสวิรัตจะไม่ทานเนื้อสัตว์แม้กระทั่งไข่เป็ดไข่ไก่ก็ตาม  เพราะเขาคิดว่า   ในไข่มีชีวิตที่ยังไม่ถือกำเนิดมา

แต่สำหรับ  นมโค ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามแต่อย่างใด  ซ้ำยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีทางศาสนาด้วยซ้ำ  แม้กระทั่ง  ตะเกียงน้ำมันก็ใช้เนยเป็นเชื้อเพลิงด้วย


(โคนนทิ ที่เต็มไปด้วยเทพเจ้าที่เข้าไปสถิตในส่วนต่างๆของร่างกาย  อาจเพราะเหตุนี้  ชาวฮินดูที่เคร่งครัดจึงไม่ทานเนื้อวัว  เพราะเท่ากับทานบ้านของเทพเจ้า)

               เรื่องการนับถือวัวตัวเมียเป็นเทพเจ้านั้น  มีมาแต่ยุคอียิปต์โบราณ  เรื่อยมาจนถึง อาณาจักรเปอร์เชีย  ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปครับ

               ตำนานกล่าวว่า  บรรดาเทพเจ้าทั้งหลายต่างก็พยายามเข้าไปสถิตในร่างกายของโค นนทิ  เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดพระศิวะ   ใครมาถึงก่อนก็ยึดทำเลทองไป  ใครมาถึงทีหลัง  ก็ได้ทำเลที่ไม่ดี

               เทพเจ้าที่มาถึงเป็นองค์สุดท้ายก็คือ  พระแม่ลักษมี  มเหสีของพระวิษณุ  จึงไม่อาจหาที่สถิตในตัวโค นนทิได้   พระแม่จึงถามโค นนทิว่า  จะให้ฉันอยู่ที่ตรงไหนดี

               โค นนทิบอกว่า  ที่นั่งเต็มหมดแล้ว   เหลืออยู่เพียงที่เดียวก็คือ  มูลของฉัน  หรือ  ขี้วัวนั่นเอง   พระแม่ลักษมี จึงต้องเข้าไปสถิตในมูลโคตั้งแต่นั้นมา

               ด้วยเหตุที่ชาวฮินดูนับถือพระแม่ลักษมีว่า เป็นพระแม่ที่อำนวยความมั่งคั่ง  ความรุ่งเรือง  และ  ชีวิตการแต่งงานที่มีความสุข               เช่นในเทศกาลดิวาลีที่เพิ่งผ่านไป  ชาวฮินดูจึงมักจะบูชาพระแม่ลักษมี เป็นหลัก 

               ดังนั้น   จึงต้องให้ความสำคัญต่อขี้วัว ซึ่งเป็นสถานที่สถิตของพระแม่ลักษมีด้วย

               นอกจากขี้วัวแล้ว    ยังมีความเชื่อในเรื่องการดื่มฉี่วัว เพื่อรักษาโรคอีกด้วย  


(ขี้วัว ยังเป็นผลผลิตทางเศรษฐกิขของอินเดียอีกด้วย เมื่อปั้นเป็นแผ่นเอาไปแปะบนผนังบ้าน  ปล่อยให้ตากแดดจนแห้ง  นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มได้  เป็นเชื้อเพลิงสะอาด  ที่สำคัญไม่มีกลิ่น)

               ทุกเช้า  แม่บ้านจะไปเก็บขี้วัวที่อยู่โดยรอบบ้านมาทำการคลุกเคล้ากับฝางหญ้า  ดิน  และน้ำ  แล้วนำไปทาตามผนังบ้าน  พื้นบ้าน  หรือ ตามเสาไม้   และ ที่สำคัญที่สุดก็คือ  ตรงธรณีประตูที่มักจะทำด้วยไม้ และ ตามส่วนสำคัญๆของบ้าน

               ด้วยเหตุนี้  พระแม่ลักษมี จึงสถิตอยู่ที่ธรณีประตูโดยปริยาย   

               เชื่อกันว่า  หญิงใดก็ตามที่ปฎิบัติตามที่กล่าวมานี้  จะได้รับพร 3 ประการจากรพะแม่ลักษมี  คือ  ความมั่งคั่งร่ำรวย   การมีอายุยืนยาว  และ  มีชื่อเสียงที่ดี

               ความเชื่อเรื่อง  พระแม่ลักษมีสถิตอยู่ตรงธรณีประตูบ้าน  ได้รับการถ่ายทอดมาสู่ประเพณีวัฒนธรรมไทย  ทำให้คนไทยเชื่อว่า   เมื่อเดินเข้าบ้าน หรือ โบสถ์ที่มีธรณีประตู   จะไม่เหยียบธรณีประตู  แต่จะก้าวข้ามไป  

               ดูเหมือนเป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล  แต่เรื่องหนึ่งที่มีผลต่อชาวบ้านจริงๆก็คือ   หลังจากทาพื้นบ้าน  เสาบ้าน ด้วยขี้วัวแล้ว  ปลวกพลอยหายไปด้วย  ไม่กัดกินเสาไม้เหมือนบ้านที่ไม่ใช้ขี้วัวทาบ้าน

               นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าทึ่งอีกเรื่องหนึ่ง


(ปาขี้วัว  ก็น่าจะเทียบได้กับ  การส่ง สคส  ส่งความสุขให้เพื่อนๆได้)

               เมื่อย้อนกลับมาพูดถึงเทศกาลปาขี้วัวแล้ว  ก็จะเห็นว่ามีแนวคิดที่ดี  และ สวยงามแฝงเอาไว้อยู่เบื้องหลัง  เพราะเขากำลังปาพระแม่ลักษมีไปหากัน   ถ้าคิดแบบง่ายๆ มันก็เหมือนการอวยพรให้คนที่ถูกปาขี้มั่งมีร่ำรวยอะไรปานนั้น

               โชคดีที่เทศกาลปาขี้วัว จะมีขึ้นเฉพาะในหมู่บ้านเล็กๆที่ห่างไกล  และ ปัจจุบันก็เหลือน้อยลงทุกที  เพราะมันขัดกับสุขอนามัยของโลก

               ขอให้สบายใจได้ครับว่า   ผมไม่จัดทัวร์ไปชมเทศกาลนี้แน่นอนครับ 

               ตอนหน้าพบกับ  เรื่อง “กรรมที่ตามสนองในศาสนาฮินดู ที่ไม่เว้นแม้กระทั่ง  เทพเจ้า”

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .