สวามี วิเวก อนันดา ผู้เปิดศาสนาฮินดูในโลกตะวันตก(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (17 มกราคม 2564)

สวามี วิเวก อนันดา ผู้เปิดศาสนาฮินดูในโลกตะวันตก(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 12 มกราคม ที่เพิ่งจะผ่านไป ถือเป็นวันเยาวชนแห่งชาติของอินเดีย  เป็นอีกวันหนึ่งที่มีความหมายอย่างยิ่งของชาวฮินดูในประเทศอินเดีย

               เพราะตรงกับวันเกิดของ สวามี  วิเวกอนันดา(SWAMI VIVEKANANDA)


(สวามี วิเวกอนันดา)

               เขามีความสำคัญอย่างไร   ทำไมอินเดียจึงเลือกเอาวันเกิดของเขา มาเป็นวันเยาวชนแห่งชาติของประเทศ

               ก่อนที่จะลงในรายละเอียดของ สวามี วิเวกอนันดา  ผมขอนำท่านผู้อ่านไปที่ วิหารหลังหนึ่งในเมืองกอลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก วิหารนี้มีชื่อว่า  เบลลูร์ มัธ (BELUR MATH)

               วิหารหลังนี้  มีความสำคัญตรงที่เป็นวิหารที่ สวามี วิเวกอนันดา เป็นผู้สร้างในปีค.ศ. 1897  และเป็นศูนย์กลางของ นิกาย รามา กฤษณะ ด้วย

               ในปีค.ศ. 1968  หรือ พ.ศ. 2511  ชายหนุ่มคนหนึ่งจากรัฐ กุจาราฐ ได้เดินทางไปถึง เบลลูร์ มัท  ด้วยจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่

               ก่อนหน้านั้น  ชายคนนี้เพิ่งจะเข้าพิธีสมรสกับหญิงที่พ่อแม่เป็นผู้จัดการให้คนหนึ่ง เป็นวิธีการแต่งงานที่เป็นปกติธรรมดาในสังคมฮินดูยุคนั้น ที่คู่บ่าวสาวมักจะมีอายุน้อยมาก  และบ่อยครั้งที่  คู่สมรสชายหญิงแทบจะไม่รู้จักกันมาก่อนเลย

               แต่หลังจากการแต่งงานในคืนนั้น   เจ้าบ่าวก็บอกกับเจ้าสาวของเขาว่า  เขาไม่เคยมีจิตผูกมัดกับการมีครอบครัวมาก่อนเลย  แต่เขาต้องการที่จะไปแสวงหาแนวทางในการหลุดพ้น  หรือ  ความสงบ

               หลังจากนั้น  เขาก็ออกเดินทางไปแสวงหาแนวทางของตนเอง  ด้วยการเดินทางไปทั่วในภูมิภาคตอนเหนือของประเทศ  และ สถานที่หนึ่งที่เขาตั้งใจว่าจะต้องมาเยือนก็คือ  เบลลูร์ มัธ ในเมืองกอลกัตตา  รัฐเบงกอลตะวันตก

               เพราะเขามีความศรัทธาต่อ สวามี วิเวกอนันดา ผู้สร้างวิหารนี้เป็นอย่างยิ่ง

               ขณะนั้น  เขาอายุประมาณ 18 ปี


(เบลลูร์ มอท)

               เมื่อถึงเบลลูร์ มัท  เขาเข้าไปศึกษา และปฎิบัติตนตามแบบของนักบวชในวิหารแห่งนี้ตามความตั้งใจในแนวทางเพื่อละทางโลก

               วันหนึ่ง  เขาได้พบกับนักบวชในวิหาร  และคงจะได้สนทนากันอยู่พักหนึ่ง  นักบวชได้ถามว่า   คุณมาทำอะไรที่วิหารนี้

               เขาได้บอกนักบวชถึงความตั้งใจของเขา   แต่นักบวชกลับบอกว่า

               “คุณกลับไปเลย  คุณไม่สมควรจะอยู่ที่นี้  ภาระหน้าที่ของคุณไม่ได้อยู่ที่นี่  แต่ภาระหน้าที่ของคุณจะต้องทำเพื่อประเทศชาติ”

               ไม่แน่ใจว่า  หนุ่มน้อยอายุ 18 รู้สึกอย่างไร   สิ้นหวัง  หรือ  ท้อแท้   แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้  จึงเดินทางต่อไปยัง อาศรม รามากฤษณะ(RAMAKRISHNA ASHRAM) ที่เมือง  อัลโมรา(ALMORA) 

แต่ก็ถูกปฎิเสธไม่ให้อยู่ในวิหารนี้อีกเช่นกัน

เมื่อหนทางในทางธรรมถึงทางตัน  เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่รัฐกุจาราฐ  จากนั้นก็ได้ช่วยทำงานค้าขายน้ำชากับลุงของเขา  ซึ่งเป็นธุรกิจสืบเนื่องของครอบครัว   และเขาเองก็คุ้นเคยกับอาชีพนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก


(บรรดาสมาชิกของ RSS)

ในปีค.ศ. 1971 เกิดสงครามระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน  เขาตัดสินใจเลิกทำงานขายน้ำชา และ  เข้าร่วมในการทำงานรณรงค์กับ กลุ่ม RSS ย่อมาจาก RASHTRIYA SWAYAMSEVAK SANGH  ให้กับ  อินนามดาร์ (LAKSHMANRAO INAMDAR) ซึ่งได้แต่งตั้งเขาให้เป็นที่ปรึกษาทางการเมือง

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่การทำงานการเมืองของเขา

จนสุดท้าย  ในเดือนเมษายน ปีค.ศ. 2014  เขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ของ อินเดีย  และยังอยู่ในตำแหน่งเป็นวาระ ที่ 2 ในปัจจุบันนี้

ชายคนนี้  มีชื่อว่า  นายนเรนทรา โมดี  เป็นคนหนึ่งที่มีความเคารพศรัทธาต่อ สวามี วิเวกอนันดา ผู้ที่ผมกำลังจะพูดถึงในตอนต่อไป 


(นาย นเรนทรา โมดี เมื่อตอนได้รับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ครั้งแรก ให้มารดาของเขาให้พร)

ไม่ว่าจะเป็นด้วย  พรหมลิขิตขีดเส้นให้เขาเดินตั้งแต่แรก  หรือ  เกิดจากความชอบส่วนตัว  ชีวิตของเขาก็เป็นไปตามคำทำนายของนักบวชใน เบลลูร์ มัธ 

เมื่อคนระดับนายกรัฐมนตรีของอินเดีย มีความเคารพศรัทธาอย่างมากแล้ว  บุคคลคนผู้นั้น  ย่อมไม่ธรรมดา  

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .