สวามี วิเวก อนันดา ผู้เปิดศาสนาฮินดูในโลกตะวันตก(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 มกราคม 2564)

สวามี วิเวก อนันดา ผู้เปิดศาสนาฮินดูในโลกตะวันตก(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หากถามชาวฮินดูว่า รู้จัก สวามี วิเวกอนันดา(SWAMY VIVEKANANDA) ซึ่งออกเสียงตามแบบเบงกาลี ว่า  ชามี วิเวกอนันโด  หรือไม่  น่าจะร้อยทั้งร้อยจะต้องตอบว่า รู้จักเป็นอย่างดี

               คำว่า  สวามี  เป็นภาษาสันสกฤต ในศาสนาฮินดูแปลว่า  ครูสอนศาสนา  นักปราชญ์  ผู้รอบรู้  ถือเป็นคำที่ให้เกียรติแก่ผู้ถูกเรียกอย่างสูงสุด 


(วิเวกอนันดา- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               วิเวกอนันดาเกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม ปีค.ศ. 1863 ที่เมือง กัลกัตตา  หรือ  กอลกัตตา ในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอินเดียในช่วงที่อินเดียตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1858  และเป็นช่วงเวลาที่โลกตะวันตกกำลังสนใจปรัชญา และ  ศาสนาของโลกตะวันออก

เขามีชื่อตอนเกิดว่า  นเรนทรานาถ ดัทโต (NARENDRANATH DATTA)

               พ่อของเขาทำงานในศาลสูงของเมืองกัลกัตตา ถือว่ามีฐานะดีคนหนึ่ง  ที่น่าสนใจก็คือ  ปู่ของเขาเป็นนักวิชาการทางด้านภาษาสันสกฤต  และ สืบเชื้อสายมากจากชาวฟาซี หรือ ชาวเปอร์เซีย

               ชาวฟาซี ได้รับการยอมรับนับถือกันว่า  เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีมันสมองเป็นเลิศ โดยเฉพาะในวิชาคำนวณ  สำหรับ วิเวก อนันดานั้น  เป็นที่รู้กันว่า  มีความจำในระดับเหนือธรรมชาติ  บางครั้งก็เรียกว่า  ความจำแบบภาพถ่าย  และ  มีความสามารถพิเศษในการอ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็ว

               คนที่สามารถอ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็วอีกคนหนึ่งก็คือ อดีตประธานาธิบดี เคนเนดี

               เล่ากันว่า  ครั้งหนึ่ง  วิเวก อนันดา ได้ท่องหนังสือนิยาย PICKWICK PAPERS ที่ประพันธ์โดย ชาร์ลส์ ดิ๊กเก้น ประมาณ 2-3 หน้า แบบตรงทุกตัวอักษรให้เพื่อนๆฟัง

               เขาอ่านหนังสือทุกประเภท ตั้งแต่  คัมภีร์พระเวท , คัมภีร์อุปนิษัท , ภัควัต คีตา , มหากาพย์ รามเกียรติ์ , มหาภารตะ  และ  คัมภีร์ปุราณะที่มีมากมาย

               ไม่เพียงแต่อ่านหนังสือที่เขียนด้วยภาษาสันสกฤตเท่านั้น  เขายังศึกษา วิชาตรรกศาสตร์ของตะวันตก , วิชาปรัชญาตะวันตก  วิชาประวัติศาสตร์ยุโรป  และ ยังฝึกฝนดนตรีคลาสสิคอินเดียอีกด้วย


(วิหาร ดัคชิเนสชวาร์)

               ปีค.ศ. 1881 ตอน อายุ 18 ปี  เขาได้พบกับ รามากฤษณะ ที่วิหาร ดัคชิเนสชวาร์ (DAKSHINESWAR) ได้เรียนรู้แนวทางในการนั่งสมาธิแบบ รามากฤษณะ สมาธิ  ซึ่งจากคำบอกเล่า  เป็นการนั่งสมาธิแบบอิ่มสุข และ ร่างกายแทบจะไร้ความรู้สึกใดๆ

               วิเวกอนันดา มีความรู้สึกผูกพัน และ ศรัทธาต่อแนวทางของ รามากฤษณะ อย่างมาก 

เมื่ออายุ 21 ปี เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาอักษรศาสตร์ และ ยังศึกษางานทางด้านปรัชญาของนักปราชญ์ตะวันตกหลายคน  อาทิเช่น  DIVID HUME , IMMANUEL KANT , JOHANN GOTTLIEB FICHTE   และอีกมากมายหลายคน 

31 พฤษภาคม ปีค.ศ.1893  เขาออกเดินทางจากบอมเบย์ ไป ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ในฐานะตัวแทนของอินเดีย ในการประชุมสภาแห่งศาสนาโลก(THE PARLIAMENT OF THE WORLD’S RELIGIONS) ซึ่งเริ่มในวันที่ 11 กันยายน ปีค.ศ. 1893  


(อาจิต ซิงค์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ก่อนที่จะออกเดินทางในฐานะนักบวช  นุ่งห่มสีส้ม  เขาได้รับชื่อใหม่จาก อาจิต ซิงค์ ผู้ปกครองแห่งเกตทรี(AJIT SINGH OF KHETRI) จากรัฐราชสถาน ว่า  วิเวกอนันดา ซึ่งเป็นชื่อที่เขาใช้เสมอมา  

ในสภาศาสนาโลก   เขาได้รับอนุญาตให้พูดเพียงแค่ 5 นาที

เขาเริ่มต้นปราศรัยว่า  “พี่สาวน้องสาว และ พี่ชายน้องชายแห่งสหรัฐอเมริกา” (SISTERS AND BROTHERS OF AMERICA)


(วิเวกอนันดา บนเวทีสภาศาสนาโลกเมื่อเดือนกันยายน ปีค.ศ. 1893  (คนนั่งคนที่ 3 จากซ้ายมือ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

แค่คำปราศรัยคำแรก   ผู้คนกว่า 7 พันคนในห้องประชุมต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้เขาอยู่นานเกือบ 2 นาที  หลังจากนั้นเขาก็ปราศรัยอีกนานเกือบชั่วโมง

วันรุ่งขึ้น  หนังสือพิมพ์ทั้งในนิวยอร์ค และ บอสตัน ต่างก็ชื่นชมคำปราศรัยของเขาเป็นอย่างยิ่ง  เขาได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาทั่วอเมริกา และหลายประเทศของยุโรป เช่น  อังกฤษ และ เยอรมัน

เขาเป็นผู้เปิดตาของตะวันตกให้รู้จักอารยธรรมตะวันออก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ศาสนาฮินดู และ ศาสนาพุทธ อย่างแท้จริง

แม้เขาจะได้รับการเสนอตำแหน่งทางวิชาการที่สำคัญจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ มหาวิทยาลัย โคลัมเบีย  แต่ก็ปฎิเสธ เพราะงานทั้งสองขัดกันกับแนวคิดของเขาในการดำรงตนเป็นพระ


(วิหาร เบลลูร์ มัท ซึ่งเป็นทั้งวิหาร และ มหาวิทยาลัย  และ องค์กรการกุศลด้วย  มีสาขากว่า 120 แห่งทั่วโลก)

               วันที่ 4 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1902 วิเวกอนันดา ตื่นเช้าเป็นพิเศษ  แล้วเดินไปที่วิหารเบลลูร์ มัธ ที่เขาเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้น  ใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการนั่งสมาธิ

               จากนั้น  เขาก็สอนวิชา สัจธรรมและศรัทธา ยชุรเวท(SHUKLA YAJURVEDA) และ วิชาไวยากรณ์ภาษาสันสกฤต  และ วิชาปรัชญาของการทำโยคะให้แก่นักเรียน

               19.00 น.  วิเวกอนันดา กลับมาที่ห้องพักของตนเองภายในเขตของเบลลูร์ มัธ  บอกกับทุกคนว่า  ห้ามรบกวน  คืนนั้น  วิเวกอนันดา เสียชีวิตขณะนั่งสมาธิ เมื่อเวลา 21.20 น.  ขณะอายุ 39 ปี

เป็นการนั่งสมาธิแบบ มหาสมาธิ เพื่อละทิ้งสังขารให้จิตวิญญาณไปรวมกับ พรัมหัน

ด้วยเหตุนี้  รัฐบาลอินเดียจึงเลือกวันที่ 12 มกราคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ วิเวกอนันดา ให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ  เพื่อรำลึกถึงคณูปการ ของเขาในการเผยแพร่ศาสนาฮินดูออกไปสู่โลกกว้าง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  เรื่อง  บาตรของพระพุทธเจ้าที่เมืองคาบุล ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .