การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 กุมภาพันธ์ 2564)

การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ระบบการศึกษาของอินเดีย แบ่งออกเป็น 3 แบบหลัก  คือ  โรงเรียนรัฐบาลเต็มตัว  คือ  รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ผู้ปกครองแทบจะไม่ต้องจ่ายเงินเลย  สอง  โรงเรียนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนบางส่วน   สาม  โรงเรียนเอกชนเต็มรูปแบบ

               ในที่นี้   ผมจะไม่พูดถึงโรงเรียนเอกชนเต็มรูปแบบ  เพราะโรงเรียนแบบนี้มีมาตรฐานสูงตามค่าใช้จ่ายสูงที่ผู้ปกครองจ่ายไป

               โรงเรียนที่ ANUSHKA ลูกสาวของเพื่อนผมไปเรียนนั้น  เป็นโรงเรียนประเภทที่สอง  กล่าวคือ  ผู้ปกครองยังต้องจ่ายเงินอยู่บ้าง  แต่ไม่มากนัก  (โรงเรียนนี้อยู่ในรัฐเบงกอล ที่อาจจะมีระเบียบแตกต่างไปจากรัฐอื่นๆอยู่บ้าง)  

               กล่าวคือ  ผู้ปกครองยังต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเดือนละ 2300 รูปี บวกกับค่าใช้จ่ายจุกจิกอื่นๆอีกประมาณ 700 รูปี รวมเป็น 3000 รูปี  หรือประมาณ 1500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก  


(ตราของโรงเรียน)

               ค่าใช้จ่ายนี้  รวมทั้งค่ารถรับส่งระหว่างบ้านและโรงเรียนด้วย  แต่ไม่มีอาหารกลางวัน

               โรงเรียน CHRIST CHURCH HIGH SCHOOL ของเมืองกอลกัตตา  นอกจากจะมีนักเรียนชาวอินเดียแล้ว   ยังมีนักเรียนจากสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ และ อีกหลายๆประเทศที่ส่งลูกหลานมาที่นี่   เพราะเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยชาวอังกฤษมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1882  

               และสำหรับผู้ที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลเต็มตัว  ก็ยังสามารถเลือกได้ว่า  จะเรียนภาษาหลักเป็นภาษาอะไร  เช่น  อังกฤษ  หรือ  ฮินดี  หรือ  เบงกาลี ซึ่งเป็นภาษาถิ่นสำหรับชาวเบงกอล

               รัฐบาลจะต้องจัดครูสอนในภาษานั้นๆให้แก่นักเรียนตามที่นักเรียนต้องการ  โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายเงินค่าใช้จ่ายพิเศษ  เช่น  ตำราเรียน  ยกเว้นค่าอุปกรณ์การเรียนบางอย่างที่ต้องจ่ายเพิ่ม

               นอกจากนี้  รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐเบงกอล ยังช่วยสนับสนุนเยาวชนของเขาในทางตรงอีก  เช่น  มีเงินช่วยเหลือเด็กหญิงเพื่อซื้อของใช้จำเป็นสำหรับเด็กที่กำลังเติบโตปีละ 1000 รูปีเริ่มตั้งแต่ชั้นปีที่  4 เป็นต้นไป  

นอกจากนี้  รัฐบาลท้องถิ่นของเบงกอล ยังแจกรถจักรยานให้แก่เด็กชาย และ เด็กหญิงทุกคนตอนเรียนชั้นปีที่ 8 อีกด้วย

               ระบบการศึกษาของอินเดียจะแบ่งการเรียนออกเป็น  1-4 ปีแรก เรียกว่า Primary school ,  ปีที่ 5-10 จะเรียกว่า  Secondary school


(หนังสืออ่านของนักเรียนชั้น ป 5 ของโรงเรียน CHRIST CHURCH GIRL HIGH SCHOOL)

               จากนั้น  ปีที่ 11-12 ก็จะเรียกว่า High secondary ซึ่งก็คือชั้นมัธยมปลายก่อนเข้ามหาวิทยาลัยนั่นเอง   ในชั้นเรียนนี้  รัฐบาลแห่งรัฐเบงกอล จะแจกคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต(TABLET COMPUTER) ให้แก่นักเรียนคนละเครื่อง  

เมื่อจบจากชั้น ปีที่ 12 แล้ว  ใครต้องการเรียนต่อในระดับวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัย ก็จะใช้เวลาอีก 3 ปี

               ใช่ครับ  อีกเพียง 3 ปี  ก็จะได้รับปริญญาบัตร ไม่เหมือนของประเทศไทยที่ต้องเสียเวลาเรียนถึง 4 ปี

               ยกเว้นบางวิชาเช่น  วิชาแพทย์ศาสตร์  , วิศวะ  และ กฎหมาย  ซึ่งข้อบังคับขั้นต้น ก็คือ  จะต้องผ่านการสอบ Join entrance examination  หรือ  ลักษณะเดียวกับสอบเอ็นทรานส์ของบ้านเรา 

               หากสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ได้ ก็จะต้องเรียน 4 ปี และ ฝึกงานอีก 2 ปีครึ่ง   หากเป็นคณะวิศวะฯ (หลายๆสาขา) ก็จะต้องเรียน 4 ปี

หากจะเรียนคณะนิติศาสตร์ ก็จะต้องเป็นผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นมาก่อน 1 สาขา  แล้วเรียนต่ออีก 3 ปี   แต่หากไม่ได้จบสาขาอื่นมาก่อน  ก็จะต้องเรียน 5 ปีรวด  จึงจะได้รับปริญญาบัตร

ซึ่งเป็นระบบที่ถูกต้อง  ไม่เหมือนประเทศไทยที่บางคนเรียนจบเนติบัณฑิต  สอบเข้าเป็นผู้พิพากษา โดยไม่เคยมีประสบการณ์ในวิชาชีพอื่น หรือ ประสบการณ์ชีวิตมาก่อนเลย  


(แผนที่ตั้งของเมือง โคตา ในรัฐราชสถาน)

               ด้วยเหตุที่การสอบเอ็นทรานส์มีความสำคัญต่อชีวิตเยาวชนอินเดียอย่างมาก  จึงเกิดโรงเรียนสอนกวดวิชาเพื่อสอบเอ็นทรานส์ มากมายหลายแห่ง  แต่ที่ได้รับความเชื่อถือ และ ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือที่เมือง โคตา (KOTA) ในรัฐราชสถาน  ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย  

               ค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนกวดวิชาก็คือ 176,000 รูปี  โดยโรงเรียนกวดวิชาจะสัญญาว่า  นักเรียนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แน่นอน  หากสอบไม่ได้  สามารถกลับมาเรียนใหม่ จนกว่าจะสอบได้

               แม้จะเป็นจำนวนเงินที่มากโขอยู่   แต่พ่อแม่ก็มักจะยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่ออนาคตของลูก  


(มหาวิทยาลัยโคตา  แม้ว่าจะดังในเรื่องกวดวิชา  แต่รัฐนี้ไม่มีชื่อเสียงในเรื่องวิชาการในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด)

               กวดวิชา กลายเป็นธุรกิจการศึกษาที่ใหญ่มาก  ในเมืองโคตา จะมีนักเรียนจากทั่วทุกสารทิศกว่า 1 แสนคนมาเรียนกันที่นี่ รวมทั้งครูบาอาจารย์ระดับชั้นนำทั่วประเทศมาชุมนุมสอนกันที่นี่   ทำให้เมืองเล็กๆที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงนัก   เต็มไปด้วยผู้คน และ อาคารหอพัก  โรงเรียน  ร้านอาหารมากมาย 

               ความนิยมลามออกไปจากเมืองโคตา  จนบางเมืองก็มีการโฆษณาโรงเรียนสอนกวดวิชา  โดยบอกว่า  เป็นสาขา ของเมืองโคตาด้วยซ้ำ  

               บางแห่งไม่มีอะไรอ้างอิงก็ใส่ชื่อ เมืองโคตา  เข้าไปด้วยเฉยๆ  เพื่อดึงดูดนักเรียน

               เมื่อกลายเป็นธุรกิจ  ไม่ว่าจะเป็นอาชีพสาขาอะไร   ก็ไม่เคยปรานีใคร

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .