การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (21 กุมภาพันธ์ 2564)

การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อพูดถึงเรื่องระบบการศึกษาของอินเดียมาถึงตอนที่ 3  ก็ต้องตั้งคำถามว่า  ทำไม  อินเดียซึ่งคนไทยที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์มากพอ  มักจะดูถูกอินเดียในประเด็นใหญ่ๆก็คือ  ความสกปรก  ยากจน  และ  นับถือกราบไหว้เทพเจ้าจำนวนมากที่คนไทยจำนวนมากบอกว่า   งมงาย

               จนมองข้ามความเจริญทางด้านภูมิปัญญาของอินเดียไปจนหมดสิ้น

               พื้นฐานของความเจริญทางการศึกษาของอินเดียนั้น นอกเหนือจากภูมิปัญญาเก่าแก่จากยุคโบราณ ที่บันทึกสะสมกันมาตั้งแต่ยุคพระเวทเมื่อกว่า 3500 ปีที่แล้ว หรือ ก่อนหน้านั้น  ยังมีสิ่งที่อังกฤษซึ่งปกครองอังกฤษมานานกว่า  150 ปี ได้วางรากฐานเอาไว้

               อังกฤษสร้างเมืองหลวงแห่งแรกของตนเองในอินเดียที่เมือง กอลกัตตา ก่อนจะสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ที่กรุงนิว เดลี เมื่อปีค.ศ. 1911  ดังนั้น  ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19  อังกฤษจึงได้วางรากฐานสำคัญๆให้แก่เมืองกอลกัตตา หลายอย่าง


(เซอร์ วิลเลี่ยม โจนส์ ผู้ก่อตั้งสมาคม เอเชียติค แห่งกัลกัตตา) 

               พื้นฐานสำคัญที่อังกฤษได้วางไว้ให้ที่กอลกัตตา ก็คือ  หนึ่ง   การก่อตั้ง สมาคมเอเชียติค ในปีค.ศ. 1784 (พ.ศ. 2327 หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพียง 2 ปี) โดยเซอร์ วิลเลี่ยม โจนส์ ,  สอง  การจัดตั้งพิพิทภัณฑ์กัลกัตตา ในปีค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357)  , สาม  ก่อตั้งวิทยาลัยแพทย์ในปีค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2377) และ  สี่   ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกัลกัตตาในปีค.ศ. 1857 (พ.ศ.2400) 

               ทำให้อินเดีย โดยเฉพาะเมืองกอลกัตตา มีความล้ำหน้า นำสมัยกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างก้าวกระโดด

               อังกฤษ เริ่มก่อตั้ง สมาคมเอเชียติค(ASIATIC SOCIETY) เพื่อทำการวิจัยค้นคว้า และ หาความรู้จากโลกตะวันออก โดยเฉพาะอินเดีย และ พื้นที่โดยรอบ   ยังผลต่อเนื่องให้เกิดการก่อตั้ง สมาคมการแพทย์ แห่งกัลกัตตาในเวลาต่อมา ในปีค.ศ. 1823 


(วิทยาลัยการแพทย์ กัลกัตตา)

               และนำไปสู่การก่อตั้งวิทยาลัยแพทย์ในกัลกัตตา (MEDICAL COLLEGE)ในปีค.ศ. 1835

               เป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของสังคมอินเดีย  ทั้งความรู้ดั่งเดิมของอินเดียโบราณ และ  ความรู้ใหม่ๆจากโลกตะวันตก


(คาดามบินิ กังกุลี)

               จนนำไปสู่การมีแพทย์หญิงคนแรกของอินเดีย และ ของเอเชียใต้ที่สำเร็จการศึกษาการแพทย์สมัยใหม่ ในปีค.ศ. 1886  หรือ ปีพ.ศ. 2429 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลศิริราช ขึ้นมา

               เธอคือ คาดามบินิ กังกุลี (KADAMBINI GANGULY) 

               หลังจากนั้น  เธอยังได้ศึกษาต่อใน เมือง เอดีนเบรอะ และ กลาสโกว์ ในสก๊อตแลนด์  และ ในกรุงดับลิน ประเทศ ไอร์แลนด์  จนได้ปริญญาแพทย์ศาสตร์จากทั้งสามแห่งอีกด้วย

               ท่ามกลางสังคมแบบอนุรักษ์นิยมอินเดีย ที่ไม่พอใจในการที่เธอมีบทบาทโดดเด่นกว่าผู้ชายอย่างมาก  จนนิตยสาร BANGABASHI ได้ออกมาเรียกเธอว่า “หญิงโสเภณี”  ซึ่งสามีของเธอก็ได้ฟ้องร้องต่อศาลจนนำไปสู่การจำคุก นาย มาเฮช พาล(MAHESH PAL) บรรณาธิการเป็นเวลา 6 เดือน

               ถ้าเป็นประเทศไทยก็คงจะรอลงอาญา


(เหรียญทองคำ มูลค่า 2 โมฮูร์)

               แต่ตัวตนของการขับเคลื่อนพลังแห่งภูมิปัญญา ให้แก่สังคมอินเดียจนเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ก็คือ   สมาคม เอเชียติค เพราะเป็นสมาคมของชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในกัลกัตตา  เริ่มต้นจากการมีสมาชิกเพียง 30 คน  ล้วนแต่เป็นชนชั้นสูง หรือ ปัญญาชนของอังกฤษ  โดยที่สมาชิกทุกคนจะต้องจ่ายค่าสมาชิกทุกๆ 3 เดือน เป็นเงิน 2 โมฮูร์(MOHUR)ทองคำ หรือประมาณ 15 รูปีเหรียญเงินอินเดีย

               คาดว่า   น่าจะเป็นเงินที่มากโขอยู่   

บทบาทหลักของสมาคมก็คือ  ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆทุกอย่างจากอินเดีย  และ ภูมิภาคโดยรอบ  แล้วส่งกลับไปให้แก่แผ่นดินแม่ของตัวเอง


(สถานที่ตั้งสมาคม เอเชียติค ในกอลกัตตา)

               นอกจากนี้ สมาคม เอเชียติค ยังสร้างห้องสมุดของตนเองขึ้นมา เพื่อสะสมเอกสารทางประวัติศาสตร์  หนังสือ  จารึกต่างๆ อาทิเช่น  ศิลาจารึกพระราชบัญญัติของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มีอายุประมาณ 2200 ปี


(ศิลาจารึกพระราชบัญญัติของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เก็บรักษาอยู่ในสมาคม เอเชียติค กอลกัตตา)

               ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ  พระราชโองการของจักรพรรดิ ชาห์ จาฮาน  ที่สั่งให้สร้างทัชมาฮาล ให้แก่มเหสี มุมตัส ก็ถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่นี่

               ทุกวันนี้  ยังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าศึกษาหาความรู้ได้

               ใครมีโอกาสเดินทางไป กอลกัตตา ก็น่าจะหาโอกาสเข้าไปชมนะครับ 

               พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า   สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .