การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (28 กุมภาพันธ์ 2564)

การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สันนิษฐานว่า การก่อตั้งสมาคม เอเชียติค ใน กัลกัตตา เพื่อรวบรวมความรู้ ภูมิปัญญา  ปรัชญา  และ ความเป็นไปของอินเดีย กับพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อส่งกลับไปอังกฤษ  มีผลอย่างมากในพัฒนาการของทฤษฎี และ ข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์หลายๆอย่างของตะวันตก

               ชาร์ลส์ ดาร์วิน เกิดเมื่อปีค.ศ. 1809  ในขณะที่  สมาคม เอเชียติค ก่อตั้งในกัลกัตตา เมื่อปีค.ศ. 1784  ก่อนชาร์ลส์ ดาร์วินจะเกิดถึง 25 ปี


(ชาร์ลส์ ดาร์วิน ขณะอายุประมาณ 45 ปี)

               ดังนั้น  ก่อนที่ดาร์วิน จะเข้ามหาวิทยาลัย   ความรู้ทุกๆสาขาที่สมาคม เอเชียติค ได้รวบรวมจากอินเดีย จึงกว้างขวางมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู  เช่น  คัมภีร์พระเวท 4 ฉบับ  คัมภีร์อุปนิษัท  และ มหากาพย์อีก 2 เรื่อง  รวมทั้งแนวคิดทางด้านศาสนาต่างๆที่อยู่อยู่อย่างมากมาย  เช่น ศาสนาพุทธ  ศาสนาเชน  ศาสนาซิกส์ ฯลฯ และ  ภาษาอีกจำนวนนับพันภาษา  

               ความรู้เหล่านี้  ถูกส่งผ่านจากสมาคม เอเชียติค ไปสู่สังคมวิชาการ และ  ปรัชญา ของประเทศอังกฤษ ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ชาวอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง


(หนังสือของชาร์ลส์ ดาร์วิน)

               และแล้ว  วันที่ 24 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1859  นักธรรมชาติวิทยา , นักธรณีวิทยา  และ  นักชีววิทยา  ที่ชื่อ  ชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง  เกี่ยวกับทฤษฎีทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก ที่ชื่อว่า ON THE ORIGIN OF SPECIES ออกมา

               สร้างความฮือฮาให้แก่ทั้งวงการวิชาการวิทยาศาสตร์ และ ทางศาสนจักรเป็นอย่างยิ่ง   เพราะทฤษฎีของ ดาร์วิน ขัดแย้งกับคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ในประเด็นสำคัญทีเดียว  ซึ่งนี่อาจจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางด้วย  

               หลักการทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วินก็คือ  การคัดเลือกของธรรมชาติ(NATURAL SELECTION)  หมายความว่า  สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งมวลจะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด และ ขยายพันธุ์ต่อไป (STRUGGLE FOR SURVIVAL)

               เรื่องนี้เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลก  ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือ  สัตว์  

               การดิ้นรนต่อสู้ก็คือ  การวิวัฒนาการของสายพันธุ์ของตนเอง  เพื่อให้สามารถอยู่รอดบนโลกนี้

               แน่นอนว่า   แนวคิดเหล่านี้  ไม่ได้ผุดขึ้นมาในสมองของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ในฉับพลันทันใด  แต่เกิดจากการเรียนรู้สิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าเขาได้คิดค้นเอาไว้  ซึ่งดาร์วิน ก็ระบุว่า  เขาได้แนวความคิดย้อนหลังไปไกลถึง อริสโตเติ้ลด้วยซ้ำ


(ชาร์ลส์ ไลแอลล์ )

               และแน่นอนว่า  จากแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์อีกหลายๆคนในเวลาต่อมาด้วย  เพราะสังคมตะวันตกมักจะบันทึกบรรดาสิ่งที่คิดค้น หรือ ประสบการณ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อยอดเสมอๆ  เช่น   ชาร์ลส์ ไลแอลล์(CHARLES LYELL) ที่เขียนเรื่อง “หลักของวิชาธรณีวิทยา”  และ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ(ALFRED RUSSEL WALLACE) ซึ่งติดต่อกับดาร์วิน ทางจดหมายจากอินโดนีเซีย เล่าเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการที่เขาคิดขึ้น ซึ่งตรงกับของ ดาร์วิน

               หลักการอีกอย่างหนึ่งของ ดาร์วินก็คือ  มนุษย์ซึ่งอยู่ในวัฎจักรของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต  มิได้มีหน้าตาแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ในทันทีทันใด   แต่ต้องพัฒนารูปร่างหน้าตาเรื่อยมาจนเป็นอย่างทุกวันนี้

               นอกจากนี้  ยังเชื่อกันว่า  สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการมาจากสัตว์เซลล์เดียว   และ พัฒนามาสู่สัตว์ที่มีชีวิตในน้ำ (AQUATIC)  จากนั้นก็พัฒนามาเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (AMPHIBIA) แล้วมาเป็นสัตว์ที่มีชีวิตบนบก มีกระดูกสันหลัง(CHORDATA)   จนพัฒนาการมาสู่  การเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(MAMMALIA)  เช่นมนุษย์ ในที่สุด


(ภาพจำลองแสดงวิวัฒนาการจาก สัตว์เซลล์เดียวแบบไม่มีเปลือกเซลล์ (PROKARYOTES)  จนกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(MAMMALS))  

               มาถึงตรงนี้  ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า  แล้วมันเกี่ยวอะไรกับวัฒนธรรมอินเดีย และ สมาคมเอเชียติค

               เอาไว้ตอนหน้า   ผมจะเล่าต่อครับ 

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .