การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 มีนาคม 2564)

การศึกษาอินเดีย ทิ้งไทยไม่เห็นฝุ่น(ตอน 6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ฐานรากสำคัญในการพัฒนาทางการศึกษา ที่อังกฤษได้วางเอาไว้ให้แก่อินเดีย ที่ผมได้พูดถึงในตอนที่ 2 ว่า  ประกอบด้วย  การก่อตั้งสมาคม เอเชียติค ในปีค.ศ.1784 หรือ พ.ศ. 2327 , การสร้างพิพิธภัณฑ์ กอลกัตตาในปีค.ศ.1814 หรือ พ.ศ.2357 , การสถาปนาวิทยาลัยการแพทย์ในปีค.ศ. 1835 หรือ พ.ศ. 2377  และ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา ในปีค.ศ. 1857 หรือ พ.ศ. 2400


(วิทยาลัยการแพทย์ ที่กัลกัตตา)

               ทั้งหมดนี้  เกิดขึ้นที่เมืองกัลกัตตา  เพราะอังกฤษสถาปนาเมืองกัลกัตตาให้เป็นเมืองหลวงของอินเดียเรื่อยมาจนกระทั่งย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเดลี ในปีค.ศ. 1911

               วันนี้  ผมจะพูดถึงเรื่องการสร้างพิพิธภัณฑ์กัลกัตตา ครับ

               พิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ถูกสถาปนาขึ้นในปีค.ศ. 1814 หรือ เมื่อประมาณ 206 ปีที่แล้ว  โดยสมาคมเอเชียติค  เพราะหลังจากที่สมาคมสามารถเก็บรวบรวมจารึกโบราณ และ วัตถุโบราณ ได้มากมายก็ต้องการจะหาสถานที่เก็บรักษาให้ดี 

นอกเหนือจากที่ขนกลับไปที่อังกฤษแล้ว

               พิพิธภัณฑ์นี้ ถูกบันทึกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก  และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่  และ  ใหญ่ที่สุดของอินเดีย


(พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติของสัตว์ ที่พระเจ้าปีเตอร์ได้สร้างขึ้น)

               เก่าแก่กว่า พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติของสัตว์ ที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราช แห่งรัสเซีย ได้สร้างขึ้นในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถึง 24 ปี  และ เก่าแก่กว่า พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอียิปต์ที่ไคโรถึง 87 ปี


(โบราณวัตถุสมัยคันธาราฐ ในพิพิธภัณฑ์กัลกัตตา)

               พิพิทภัณฑ์กัลกัตตา ประกอบด้วยโบราณวัตถุ ที่จัดแบ่งเป็นยุคสมัย  เช่น  ห้องยุคอินเดียโบราณ ,  ห้องโบราณวัตถุในยุคบรอนซ์  ,  ห้องรวบรวมเหรียญโบราณในยุคต่างๆ  , ห้องโบราณวัตถุยุคคันธาราฐ  และ ที่ขาดไม่ได้ก็คือ 

ห้องรวมโบราณวัตุจากอียิปต์ ที่อังกฤษไปขนออกมา


(ในส่วนที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่ทำด้วยบรอนซ์)

               พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของโลกยุคใหม่  เป็นการเก็บรักษาอดีต เพื่อใช้ศึกษาในการก้าวไปสู่อนาคต  เป็นสถานที่ส่งผ่านความรู้ของบรรพบุรุษ ไปสู่อนุชนรุ่นหลัง  เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มั่นคง  แข็งแรง  และ  ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้อย่างลึกซึ้ง แบบจับต้องได้  มากกว่าแค่การอ่านหนังสือเท่านั้น

               ดังนั้น  การพิจารณาว่าชาติใดเป็นชาติอารยะ  สามารถพิจารณาได้จากว่า  ชาตินั้นๆให้ความสำคัญ และ ทุ่มเทในการสร้างพิพิธภัณฑ์มากน้อยแค่ไหน  

ชาติไม่มีอะไรที่สำคัญเพียงพอที่จะเอามาแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้  ก็แน่นอนว่า  ชาตินั้นคงจะเป็นชาติเกิดใหม่  ไร้อารยธรรม

               ต่อมาในปีค.ศ.1835 หรือ พ.ศ. 2377  อังกฤษก็ได้สร้าง วิทยาลัยการแพทย์ขึ้นที่กัลกัตตา  ถือเป็นวิทยาลัยการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นแห่งที่สองของเอเชีย  ตามหลัง วิทยาลัยการแพทย์ที่เมือง ปอนดิเชอรี่ ประเทศอินเดีย  และเป็นสถาบันการแพทย์แห่งแรกที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ

               วิทยาลัยแห่งนี้จะมอบปริญญาตรีให้แก่ผู้เรียนจบวิชาแพทย์ และ ผ่านการเป็นแพทย์ฝึกหัดแล้วรวมเวลาทั้งสิ้น 5 ปีครึ่ง  จนทำให้มีแพทย์ที่เป็นสุภาพสตรีเป็นคนแรกของเอเชีย คือ คาดามบินี กังกุลี (KADAMBINI GANGULY) ตั้งแต่ปีค.ศ. 1878 หรือ พ.ศ. 2421


(คาดามมินี  แพทย์สมัยใหม่คนแรกของอินเดีย และ ของเอเชีย)

               แน่นอนว่า  ย่อมจะต้องมีโรงพยาบาลสำหรับรักษาคนไข้อยู่ในวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย

               จะเห็นว่า  รากฐานทางด้านสาธารณสุข และ การแพทย์ที่อังกฤษได้วางเอาไว้ให้แก่อินเดียนั้น  มีประสิทธิภาพอย่างดียิ่งทีเดียว   แม้ว่า  เวลาในการศึกษาวิชาแพทย์ของอินเดีย จะน้อยกว่าการศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศไทยถึง 1 ปีครึ่งทีเดียว

               เพราะของไทยจะต้องเรียนนาน 6 ปี  และ จะต้องเป็นแพทย์ฝึกหัดอีก 1 ปี  รวมเป็น 7 ปี

               เพื่อยืนยันว่า  การแพทย์ของอินเดียมีความเจริญอย่างมากนั้น  วัดได้จากจำนวนของแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด   ไม่น่าเชื่อว่า  จะเป็นแพทย์ชาวอินเดียประมาณ 40 เปอร์เซนต์

               รวมถึงจำนวนแพทย์ชาวอินเดียในประเทศอังกฤษด้วย  ที่มีจำนวนร่วม 2 หมื่นคนแล้วในขณะนี้

               อาจพูดได้ว่า   หากแพทย์ในอเมริกาเชื้อสายอินเดีย พร้อมใจกันลาออกแล้วเดินทางกลับบ้าน  นึกไม่ออกว่า  คนอเมริกันจะโกลาหลกันขนาดไหน  ภาพความโกลาหลน่าจะพอๆกันแรงงานต่างชาติ เช่น  พม่า  ลาว  เขมร ในประเทศไทย เดินทางกลับบ้านพร้อมๆกันประมาณนั้นเลยทีเดียว

               นี่คือสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้ระบบการศึกษาของอินเดียมีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่น่าเชื่อ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  ผมจะพูดถึงพื้นฐานที่ 4 ที่เป็นรากฐานสำคัญทางการศึกษาของอินเดียครับ

               สำหรับท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 6 ปี   สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th  แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .