บราซิล วาน หนุมาน เป็นสื่อขอบคุณ(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (28 มีนาคม 2564)

บราซิล วาน หนุมาน เป็นสื่อขอบคุณ(ตอน1)

โดย               เสรษฐวิทย์   ชีรวินิจ

               ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2564  อินเดียได้จัดส่ง วัคซีนโควิด 19 ที่เรียกว่า  VACCINE MAITR หรือ  วัคซีนมิตรภาพให้แก่ประเทศที่อยู่ห่างไกลกัน คือ ประเทศบราซิล

               เป็นการให้แบบให้เปล่า เพื่อมิตรภาพ

               เป็นวัคซีน ที่มีชื่อเรียกในประเทศอินเดียว่า โควิชีลด์(COVISHILD) ที่อินเดียผลิตได้เองจากลิขสิทธิ์ของ อ็อกซ์ฟอร์ด เอสตราเซเนกร้า ของอังกฤษ  เพราะอินเดียมีประสบการณ์ในการผลิดวัคซีนมานานกว่า  24 ปี โดยบริษัทอินเดียที่มีชื่อว่า ภารตะ ไบโอเท็ค (BHARAT BIOTECH)

               บริษัท ภารตะ ไบโอเท็ค ตั้งเป้าว่าจะผลิตวัคซีนให้ได้ 700 ล้านโดส ภายในปีค.ศ. 2021นี้  

               นอกเหนือจากการมอบวัคซีนให้เปล่าแก่ บราซิล ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจนแล้ว   อินเดีย ยังมอบวัคซีนให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีฐานะยากจนอีกหลายประเทศด้วย  เช่น  เนปาล  ภูฎาน  บังคลาเทศ  พม่า  ศรีลังกา  และ  อัฟกานิสถาน


(อินเดีย  และ  ประเทศรอบบ้าน)

               แต่สำหรับ ปากีสถาน ที่อยู่ติดกัน  ความสัมพันธ์ของสองประเทศไม่สู้ดีนัก  แต่อินเดียก็ยังมอบวัคซีนให้  เพียงแต่ไว้เชิงสักนิดโดยมอบผ่านทางประเทศอังกฤษ  อาจเป็นเพราะต้องการหลบเลี่ยงการสร้างความไม่พอใจของประชาชนของทั้งสองประเทศได้

               แน่นอนว่า  เมื่อประเทศเหล่านี้ได้รับ “ของขวัญ” จากอินเดียแล้ว   ย่อมจะต้องแสดงความซาบซึ้งใจต่อความเมตตากรุณาของอินเดียให้โลกได้ประจักษ์

               และนี่คือเรื่องที่ผมจะเขียนให้อ่านกันครับ

               หลังจากได้รับวัคซีนมิตรภาพจากอินเดียแล้ว  ในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564  สำนักข่าว WION ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งของอินเดีย  ก็ได้นำเอา TWITTER ของ ประธานาธิบดี แจร์ โบลโซนาโร(JAIR BOLSONARO) ของ บราซิล  ที่ออกแถลงการณ์ขอบคุณ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดิ ของประเทศอินเดีย


(คำประกาศขอบคุณของประธานาธิบดี บราซิล ต่อ นายกฯ นเรนทรา โมดี)

               คำพูดต่างๆในทวิตเตอร์ ก็เป็นจดหมายขอบคุณทั่วๆไป  แต่ที่สะดุดตามากก็คือ  ภาพการ์ตูนที่ใช้ประกอบคำขอบคุณของ ประธานาธิบดีบราซิล ที่แม้จะเป็นรูปที่วาดแบบง่ายๆ  แต่ก็พอบอกได้ว่า  เป็นรูปหนุมาน เหาะจากอินเดียไปยังบราซิล  มือซ้ายถือกระบองประจำตัว  มือขวาถือวัตถุทรงสามเหลี่ยม  มีเข็มฉีดยา และ ขวดยาวัคซีนอยู่ข้างๆ

               วัตถุทรงสามเหลี่ยมก็คือ ภูเขา ที่ชาวอินเดียเรียกว่า กันดาห์มาร์ดาน(GANDHAMARDHAN)

               ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยแล้วว่า   ทำไมประธานาธิบดี บราซิล จึงส่งรูปนี้ไปขอบคุณนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี


(ภาพแห่งความประทับใจต่อชาวอินเดีย จากจดหมายของ ประธานาธิบดี บราซิล)

               เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่ มหากาพย์เรื่อง รามเกียรติ์(RAMAYANA) ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระราม  อันเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่รู้จักดี  แม้ว่า  ในหลายส่วนของรามเกียรติ์ ภาคภาษาไทยจะถูกดัดแปลงไปจากต้นฉบับเดิมภาษาสันสกฤต จนเสียความหมายที่แท้จริงของเรื่องไปเลยก็ตาม


(กุมภกรรณ์ ซึ่งเป็นยักษ์กินคน)

               ตามท้องเรื่องในภาคภาษาไทย  พระลักษมณ์ ถูกหอกโมกขศักดิ์ ของกุมภกรรณ์(KUMBHAKARNA) น้องชายของ ทศกัณฐ์ เจียนตาย   ในขณะที่  รามเกียรติ์ ภาคอินเดียระบุว่า  ผู้ที่ซัดหอกโมกขศักดิ์ ซึ่ง อินเดียเรียกว่า SHAKTI BAAN เข้าใส่พระลักษมณ์ก็คือ อินทรชิต (INTRAJIT)  ไม่ใช่ กุมภกรรณ์  


(สงครามระหว่างอินทรชิต กำลังยิงธนูจากบนรถเทียมม้า ไปยังพระลักษมณ์ ซึ่งกำลังยิงธนูกลับ (คนซ้ายมือที่อยู่สูงสุด) ในขณะที่พระรามจะอยู่ซ้ายสุด ถือธนูในมือ นั่งอยู่บนคอของหนุมาน)  

เมื่อทราบข่าวเรื่องนี้  พระรามก็เสียใจอย่างมากที่เป็นต้นเหตุให้น้องชายต้องตาย และ นึกไม่ออกเลยว่าจะบอกเรื่องนี้ให้แก่มารดา และ มเหสีของพระลักษมณ์อย่างไร 


(พระลักษมณ์ ถูกหอกโมกขศักดิ์ – ภาพจากเพจ รามเกียรติ์)

พิเภก จึงทูลพระรามถึงทางแก้ว่า  จะต้องได้สมุนไพรชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สัญจิวานี (SANJEEVANI) เป็นคำในภาษาสันสฤติ แปลว่า ฟื้นคืนความมีชีวิต   และน้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ที่เรียกว่า  ปัญจมหานที มาบดผสมกันแล้วทาที่แผล ก็จะหายเป็นปกติดี  ดังบทกลอนท่อนหนึ่ง ดังนี้

               ซึ่งพระน้องต้องหอกอสุรินทร์                      ยังไม่สิ้นชีวังสังขาร์

แม้นได้สังกรณีตรีชวา                                                   กับปัญจมหานที

ประสมเป็นโอสถบดพอก                                            ให้แก้หอกโมกขศักดิ์ยักษี

พระลักษมณ์ก็จะคืนสมประดี                                      ภูมีจงดำริตริการ

(ขอขอบคุณผู้รจนาโคลงบทนี้)

               ในรามเกียรติ์ภาคภาษาไทย  เปลี่ยนชื่อสมุนไพร สัญจิวานี  มาเป็น สังกรณีตรีชวา  ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเวลาจะไปสืบค้นย้อนหลังในต้นฉบับภาคภาษาสันสกฤษ

นี่คือปัญหาหนึ่งของการแปลบทประพันธ์มาเป็นภาษาไทย

               แล้วสมุนไพร ที่ว่านี้  อยู่ที่ไหน

               โปรดติดตามคำเฉลยในตอนหน้าครับ 

               สำหรับท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 6 ปี   สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .