บราซิล วาน หนุมาน เป็นสื่อขอบคุณ(ตอน2-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (4 เมษายน 2564)

บราซิล วาน หนุมาน เป็นสื่อขอบคุณ(ตอน2-จบ)

โดย               เสรษฐวิทย์   ชีรวินิจ

               ตามเรื่อง “รามเกียรติ์”    สมุนไพร สัญจีวานี จะมีอยู่เพียงที่เดียวเท่านั้นก็คือ  บนภูเขาที่เรียกว่า เขา กานดามาร์ดาน(GANDHAMARDHAN)   

บางข้อมูลบอกว่า  ภูเขาดังกล่าวอยู่ในรัฐโอดิสสา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย   แต่บางข้อมูลก็บอกว่า  อยู่ทางเหนือของเทือกเขาไกรลาส หรือ หิมาลัย  ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือสุดของอินเดีย

               แต่เมื่อดูจากข้อมูลแวดล้อมแล้ว  น่าเชื่อว่า   อยู่ทางเหนือของอินเดียใกล้กับเทือกเขาหิมาลัย 

ขณะพระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์จนเจียนตายนั้น  พระองค์อยู่ทางใต้สุดของอินเดีย


(แผนที่โดยประมาณ สถานที่ตั้งของภูเขา กานดามาร์ดาน ที่อยู่ทางเหนือสุด และ พระลักษมณ์ นอนรอยาที่ทางใต้สุดของอินเดีย) 

               นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งในการแปล  เพราะในภาคภาษาไทยจะเรียกภูเขาลูกนี้ว่า  เขาสรรพยา  เข้าใจว่า  ชื่อเดิมอาจจะเรียกยากเกินไป   และเพราะภูเขาลูกนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชสมุนไพรที่ขึ้นอยู่มากมายแม้กระทั่งทุกวันนี้   ว่ากันว่า  มีสมุนไพรไม่น้อยกว่า 500 ชนิดขึ้นอยู่บนเขาลูกนี้  จึงเรียกในความหมายแบบไทยๆว่า  สรรพยา ที่แปลว่า  ยาหลากชนิด

               ข้อจำกัดอีกเรื่องหนึ่งในการรักษาอาการพระลักษมณ์ก็คือ จะต้องได้สมุนไพรที่ว่า กับน้ำจากแม่น้ำปัญจมหานที ก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน  ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถชุบชีวิตของพระลักษมณ์ขึ้นมาได้  

หนุมานจึงอาสาที่จะเหาะไปเอาสมุนไพรนี้มา  ไม่ว่าจะลำบากยากเย็นเพียงใดก็ตาม  เพื่อถวายแด่พระรามที่เขาถวายตัวเป็นผู้รับใช้ด้วยความจงรักภักดี


(หนุมาน แหวะอกตัวเองให้ นางสีดาดูว่า  ในหัวใจของเขามีแต่พระรามเท่านั้น – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หนุมานเหาะไปจนถึงภูเขากานดามาร์ดาน  แต่ปัญหาก็คือ  หนุมานไม่รู้ว่า  สมุนไพร สัญจิวานี มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร  ครั้นจะกลับมาถามหมอยา  ก็เกรงว่าจะไม่ทันเวลาพระอาทิตย์ตก

               แต่ในภาคภาษาไทย กลับเขียนเรื่องราวตอนนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า

               ครั้นถึงสรรพยาสิงขร                                     วานรลงเดินริมเนินผา

ร้องเรียกสังกรณีตรีชวา                                                 อยู่ไหนออกมาอย่าช้าที

ได้ยินขานข้างล่างลงไปค้น                                           กลับขึ้นไปกู่อยู่บนคีรีศรี

จึงเอาหางกระหวัดรัดคีรี                                               มือกระบี่คอยจับสรรพยา ฯ

(ขอขอบคุณผู้รจนาโคลงบทนี้)

               ความหมายก็คือ  เมื่อหนุมานร้องเรียกหาสมุนไพรจากบนยอดเขา  ก็ได้ยินเสียงขานรับของต้นสมุนไพรจากทางตีนเขา  เมื่อหนุมานลงมาตามหาที่ตีนเขา  ก็ได้ยินเสียงของต้นสมุนไพรดังมาจากยอดเขา  ประหนึ่งเล่นซ่อนหากัน

               อย่ากระนั้นเลย  หนุมาน จึงใช้อำนาจ และ พลังทั้งหมดที่มีอยู่  ถอนภูเขาทั้งลูกแล้วพาเหาะกลับไปหาพระลักษมณ์   แล้วค่อยเลือกหาสมุนไพรที่ต้องการ

               ในที่สุดก็สามารถเตรียมสมุนไพร สัญจีวานี กับ แม่น้ำ ปัญจมหานที มาทำเป็นยาทาให้กับพระลักษมณ์ จนพระลักษมณ์ฟื้นคืนชีพ 


(ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบล โซนารู ของ บราซิล – ภาพจากวิกิพีเดีย) 

               ทำไม  ประธานาธิบดี แจร์ โบลโซนาโร(JAIR BOLSONARO) ของ บราซิล จึงเลือกเอารูปของหนุมานมาใส่ในจดหมายขอบคุณต่อ นายกฯเนรนทรา โมดี 


(ภาพหนุมาน หอบเอาภูเขาทั้งลูกจาก อินเดีย ไปสู่บราซิล เป็นสัญลักษณ์ของการที่อินเดีย มอบวัคซีนให้ชาวบราซิลแบบให้เปล่า)

ไม่ว่าผู้เสนอแนวคิดนี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับไหนของบราซิลก็ตาม   ก็ต้องยอมรับว่า เป็นแนวคิดที่แหลมคม  ลึกซึ้ง  กินใจ ต่อผู้รับการแสดงความขอบคุณอย่างยิ่ง  และแน่นอนว่า  จะต้องเป็นคนที่เข้าใจมหากาพย์รามเกียรติ์อย่างลึกซึ้งทีเดียว

เพราะการที่หนุมาน ถอนภูเขาทั้งลูกนำกลับไปให้แก่พระราม ซึ่งกำลังทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส  และ  นำสมุนไพรมาทำเป็นยาให้แก่ พระลักษมณ์ ที่ชีวิตกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย   มันแสดงให้เห็นถึงความสำนึกในความสัมพันธ์ของ หนุมาน ที่มีต่อ พระราม

และยอมอุทิศตนอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

เช่นเดียวกับที่บราซิล รู้สึก ต่ออินเดีย ว่า   เป็นการแสดงความห่วงใย  ความจริงใจ  และ  ทุ่มเทอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือ บราซิลอย่างหมดหัวใจ


(นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เล่นขอบคุณกันแบบนี้  นายกฯนเรนทรา โมดี  ซึ่งเป็นสาวกผู้เคร่งครัด  และ  เป็นผู้ที่เคารพต่อพระราม เป็นอย่างยิ่ง ย่อมจะต้องปลื้มใจสุดๆแน่นอน

ถือเป็นการทูตที่คมคาย  เต็มไปด้วยความเข้าใจต่อวัฒนธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างลึกซึ้ง  ซึ่งยากนักที่คนตะวันตกจะเข้าใจวัฒนธรรมตะวันออกอย่างเช่นอินเดียได้ลึกซึ้งขนาดนี้

เล่าเรื่องรามเกียรติ์ มาเสียยืดยาวก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึง  การทูตในการขอบใจที่แสนจะน่ารัก  และ  ตรึงใจ ของ บราซิล ที่มีต่อ  อินเดียครับ

สัปดาห์หน้า  ผมขอนำท่านผู้อ่านกลับไปสู่อียิปต์ ในตอน “อามาร์นา ที่น่าพิศวง”  

               สำหรับท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 6 ปี   สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .