อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 พฤษภาคม 2564)

อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               น่าจะเกิดความไม่นอน หรือ ความไม่ปลอดภัยในเมืองหลวงธีบส์ ของอียิปต์โบราณ     ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 4 จึงให้สร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่อยู่ทางเหนือของเมืองธีบส์ขึ้นไปประมาณ 400 กิโลเมตร


(เมืองใหม่ อามาร์นา ที่เรียกว่า  AKHENTATEN  (ลูกศรชี้)

               เมืองใหม่นี้เรียกว่า  อัคเคตาเตน (AKHETATEN) มีความหมายว่า สุดขอบฟ้าของเทพอะเตน  แต่นักประวัติศาสตร์มักจะเรียกว่า  เมืองอามาร์นา

               เมือง อามาร์นา ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำไนล์ตามประเพณีนิยม  เริ่มสร้างในปีที่ 5 ของรัชสมัยของอาเมนโฮเทป ที่ 4  อย่างเร่งด่วน  ซึ่งนักประวัติศาสตร์คาดว่า   คงเป็นเพราะพระองค์เห็นภัยคุกคามชีวิตที่เด่นชัดขึ้น

               โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ภัยคุกคามที่มาจาก “หัวหน้านักบวชแห่งวิหารอามุน” ซึ่งเป็นเทพเจ้าดั่งเดิมของธีบส์ที่ชาวอียิปต์นับถือมาก่อนเป็นเวลาเนิ่นนาน

               ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า  ในยุคแรกของอียิปต์  หัวหน้านักบวชไม่ว่าจะของวิหารไหนก็ตาม  มิได้มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่นัก   แม้ว่าจะทำหน้าที่เป็น ผู้พยากรณ์ที่อ้างอิงอำนาจของเทพเจ้าอยู่ด้วยก็ตาม


(รูปสลักใบหน้าของพระนาม ฮัทเชปซุท)

               หัวหน้านักบวชเหล่านี้   เพิ่งจะมีสถานะที่แข็งแกร่งอย่างมากเริ่มตั้งแต่สมัยของพระนางฮัทเชปซุท  ฟาโรห์หญิงในสมัยราชวงศ์ที่ 18 ของยุคอาณาจักรใหม่(NEW KINGDOM) เป็นต้นมา

               ทั้งนี้เพราะพระนางให้ความสำคัญต่อหัวหน้านักบวชเป็นอย่างมาก  อาจเป็นเพราะการที่พระนางต้องการให้นักบวชเหล่านี้  ให้การสนับสนุนพระนางในการขึ้นครองราช  เพราะโดยปกติ  ผู้หญิงไม่มีสิทธิที่จะขึ้นครองราชได้


(ฮาธอร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่มีลักษณะเป็นวัว  กำลังให้น้ำนมเพื่อเลี้ยงดู ฟาโรห์ ฮัทเชปซุท เป็นภาพในวิหาร ฮาธอร์)

               นางจึงอ้างสิทธิในการขึ้นครองราชว่า  พระนางมิได้เป็นธิดาของฟาโรห์ธุทโมเซส ที่ 1  แต่พระนางเป็นธิดาของเทพอามุน ซึ่งลอบเข้าหามารดาของพระนางในคืนหนึ่ง   

นอกจากนี้  พระนางยังได้รับการเลี้ยงดูตั้งแต่เกิดจาก เทพีฮาธอร์  เช่นเดียวกับเทพ ฮอรัส  เทพแห่งอียิปต์ทั้งมวลในช่วงหลัง   ซึ่งแน่นอนว่า  หัวหน้านักบวชแห่งอามุน ย่อมจะต้องสนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้อย่างเต็มตัว  เพื่อให้ชาวประชาเชื่อถือตามคำกล่าวอ้างของพระนาง

               เสมือนเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เรื่องอำนาจซึ่งกันและกัน  โดยที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจทางโลก  ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากเบื้องบนที่อุปโลกขึ้นมา


(เทพอามุน (ขวา)  มีขนนกสองเส้นบนศรีษะ เป็นสัญลักษณ์ บนผนังในวิหารของ รามเซส ที่ 3 )

               อาจกล่าวได้ว่า  ช่วงเวลาในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวของ อาเมนโฮเทป ที่ 4   มาช้าไปหน่อย  คือช้าไปประมาณ 127 ปี

               เพราะพระนางฮัทเชปซุท ขึ้นครองราชเป็นฟาโรห์องค์ที่ 5 ของราชวงศ์ที่ 18 ในยุคอาณาจักรใหม่ ในปี 1479 ก่อนคริสตกาล    ขณะที่ อาเมนโฮเทป ขึ้นครองราชเป็นฟาโรห์องค์ที่ 10 ของราชวงศ์ที่ 18 เช่นกันในปี 1352 ก่อนคริสตกาล

               ห่างกันประมาณ  127 ปี   

               หาก อาเมนโฮเทป ที่ 4  ขึ้นครองราชก่อนหน้าประมาณ 127 ปี   อำนาจของบรรดานักบวชตอนนั้นจะไม่มากเท่าที่เป็น  จนกลายเป็นภัยคุกคามต่อฟาโรห์  

ไม่เช่นนั้น  เรื่องราวของอาเมนโฮเทป ที่ 4 ที่เรารับรู้ในวันนี้   อาจจะแตกต่าง หรือ พลิกหน้ามือเป้นหลังมือไปเลยก็ได้


(ทรากวิหารเล็กของเทพอะเตนที่ถูกขุดค้นในเมืองอามาร์นา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เพราะเมือง อามาร์นา ถูกสร้างขึ้นอย่างเร่งรีบ  อาณาเขตเมืองจึงไม่ใหญ่นัก   และ อาจจะเป็นไปได้ว่า  ช่วงเวลาของการครองราชของ ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 4  ค่อนข้างจะสั้นมาก  คือ ประมาณ 17 ปีเท่านั้น   จึงทำให้แทบไม่เหลืออะไรให้คนในยุคหลังได้ค้นพบอะไรได้มากนัก  

               หรือ  อาจจะเป็นไปได้ว่า   หลังจากที่ฟาโรห์อาเมนโฮเทป ที่ 4  สิ้นพระชนม์ไปแล้ว   แผ่นดินอียิปต์ก็ถูกพลิกกลับไปสู่ความเชื่อในยุคเก่าอีกครั้ง   จึงมีการทำลายล้างเมืองอามาร์นา เสียให้สิ้นทราก

               เพราะปรากฎบันทึกอย่างเป็นทางการของราชสำนักเรียกขาน ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 4 ว่า “ศัตรู”  หรือ  “อาชญากรคนนั้น”

               เรื่องของ ฟาโรห์ อาเมนโฮเทปที่ 4  หรือ  อัคเคนนาเตน  ยังมีให้พูดถึงในอีกหลายแง่มุมมอง   แต่ตอนหน้าผมจะพูดถึง ศิลปะในยุคอามาร์นา

ติดตามอ่านนะครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .